เลี่ยง 5 สิ่งนี้ ถ้าอยากหนี…จากโรคกระเพาะอาหาร


ปวดท้อง แสบท้อง ร้อนท้อง 3 อาการที่คนเป็นโรคกระเพาะหลีกหนีไม่ได้ เวลากำเริบขึ้นมาทีไร ไม่เป็นอันจะทำอะไรทุกที พึ่งยาลดกรดก็แล้ว ออกกำลังกายตามหมอสั่งก็แล้ว หากยังไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ อาจเป็นเพราะคุณมองข้ามพฤติกรรมที่เคยชินอยู่ก็เป็นได้ มาๆ มาลองดูหน่อยสิ๊ ว่าคุณเผลอทำสิ่งเหล่านี้อยู่หรือเปล่า


 
1. เครียดประจำ
หลายคนอาจกำลังคิดว่าชีวิตที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีอะไรเครียดขนาดนั้นนี่นา…แล้วทำไมถึงมีอาการโรคกระเพาะอาหารกำเริบขึ้นมาได้ แม้ความเครียดจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวแต่ก็เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม คุณอาจจะบอกตัวเองและบอกทุกคนได้ว่าคุณไม่ได้เครียด แต่คุณไม่อาจหลอกร่างกายของคุณได้อย่างแน่นอน Dr.Kevin Dolehide แพทย์ระบบทางเดินอาหาร ประจำโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชิคาโก อธิบายไว้ว่าทันทีที่เราเกิดความเครียด สมองจะกระตุ้นให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลหลั่งออกมามากขึ้น น้ำย่อยถูกกระตุ้นให้หลั่งออกมาในปริมาณที่มากผิดปกติ ทำให้เกิดความระคายเคืองในกระเพาะอาหาร เราจึงรู้สึกปวดท้อง ไม่สบายท้อง ขึ้นได้

แม้ว่าจะพยายามปรับพฤติกรรมการทานอาหารแล้วก็ตาม แต่หากคุณยังไม่สามารถลดความเครียดได้ เจ้าอาการกระเพาะอาหารก็พร้อมจะสร้างความทรมานให้คุณทุกเมื่อ ดังนั้นจึงควรหากิจกรรมที่ชื่นชอบทำในทุกๆวัน หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยผ่อนคลายความเครียดลงได้
 
2. กินอาหารไม่ตรงเวลา
เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยโดยตรง และเป็นพฤติกรรมหลักๆ ที่นำมาสู่โรคกระเพาะอาหารอักเสบเลยก็ว่าได้ เพราะร่างกายของเรามีนาฬิกาชีวิตของตัวเอง มีการเรียนรู้และจดจำว่าเวลาไหน เป็นเวลาที่ต้องทานอาหาร น้ำย่อยก็จะถูกหลั่งออกมาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการย่อยอาหารในมื้อนั้นๆ แต่หากเราทานอาหารไม่ตรงเวลา กรดของน้ำย่อยก็จะค่อยๆสร้างความระคายเคืองให้กับกระเพาะอาหารจนในที่สุดก็เกิดการอักเสบ หรือในกรณีที่ร้ายแรงก็อาจเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะทะลุตามมา ดังนั้นการทานอาหารให้ตรงเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญ แนะนำทานในปริมาณที่พอเหมาะในแต่ละมื้อ เพื่อไม่กระตุ้นให้กระเพาะอาหารต้องทำงานหนักจนเกินไป จนอาจทำให้ปวดท้องขึ้นมาได้

 
3. เสพอาหารรสจัด
เข้าใจอยู่ว่าอาหารไทยส่วนใหญ่ต้อง “แซ่บ” แต่หากคุณได้โรคกระเพาะอาหารมาครอบครองแล้วละก็ คุณก็ต้องยอมลดความแสบสันของรสชาติอาหารลงบ้าง เพราะสารแคปไซซินในพริก ที่ทำให้เกิดความแสบร้อนและความเผ็ดอาจทำให้หลอดอาหารเกิดการระคายเคือง และกระตุ้นให้แผลในกระเพาะอาหารมีความรุนแรงขึ้นได้ ถ้าไม่อยากอร่อยปากแล้วมาลำบากท้องทีหลัง แนะนำว่าเบาๆ ลงหน่อยจะดีกว่า
 
ไม่เพียงแค่นั้นนะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยกาตาร์ ยังได้ทำการค้นพบว่ามีการเสื่อมถอยของกระบวนการรับรู้ ในกลุ่มบุคคลที่กินพริกเป็นประจำในปริมาณกว่า 50 กรัมต่อวัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป ฉะนั้นทานเผ็ดเป็นประจำหรือในปริมาณมากๆ ติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงทำให้เรากลายเป็นโรคความจำเสื่อมได้ด้วย
 
4. ของหมักของดอง ไม่เคยขาด
ก็รู้ๆ กันอยู่กว่ากระบวนการทำของหมักของดองนี่ต้องมีการใช้สารแปรรูปหลายชนิด เพื่อคงรสชาติของอาหารนั้นๆ หรือบางครั้งก็ใส่เพื่อยืดอายุอาหารให้อยู่ได้นานมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสารที่สร้างความระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร อีกอย่างก็คือรสชาติที่เป็น signature ของอาหารหมักดองก็คือความเปรี้ยวและเค็ม ซึ่งเป็น 2 รสชาติที่กระเพาะอาหารไม่ค่อยถูกใจ กระตุ้นการหลั่งกรดมาทำลายกระเพาะอาหารได้ดีเดียวแหล่ะ


5. แอลกอฮอล์ คาเฟอีน น้ำอัดลม Lover
3 ประเภทเครื่องดื่มที่ช่วยให้ enjoy life ดีต่อใจ แต่เป็นภัยต่อกระเพาะอาหาร เริ่มที่ตัวแรกเลย แอลกอฮอล์ เพราะ ส่วนมากแอลกอฮอล์จะไม่ได้ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดในทันที แต่จะต้องผ่านกระเพาะอาหารไปก่อน แล้วจึงถูกดูดซึมเข้าสู่บริเวณลำไส้เล็ก แล้วเข้าสู่กระแสเลือด นั่นแปลว่ากระเพาะอาหารของคุณต้องรับศึกหนักในการกักแอลกอฮอล์ไว้แล้วค่อยๆ ระบายไปตามระบบ ซึ่งทำให้เกิดการหลั่งกรดเพิ่มขึ้น สร้างความระคายเคืองต่อกระเพาะมากขึ้น ยิ่งหากดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่ท้องว่างยิ่งอันตรายไปใหญ่ อาจทำให้เลือดออกในกระเพาะได้เลยนะ คาเฟอีนก็ไม่แพ้กัน นอกจากคาเฟอีนจะมีฤทธิ์กระตุ้นสมองและระบบประสาทแล้ว คาเฟอีนก็ยังช่วยให้กรดในกระเพาะอาหารตื่นตัวได้ด้วยนะ เมื่อได้รับคาเฟอีนร่างกายก็จะยิ่งกระตุ้นการหลั่งกรดเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับน้ำอัดลมที่มีกรดฟอสฟอริก ซึ่งมีความเป็นกรดสูงมากพอที่จะ ละลายตะปูได้ภายใน 4 วัน เมื่อกรดสัมผัสกับกระเพาะอาหารของเราที่มีความระคายเคืองอยู่แล้ว หรือมีแผลอยู่แล้ว บอกเลยว่าไม่แฮปปี้แน่นอน

 
โรคกระเพาะอาหารเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม อย่าหวังแต่พึ่งยา และการรักษาของคุณหมอเพียงอย่างเดียว เริ่มที่พฤติกรรมก็ต้องแก้ที่พฤติกรรมควบคู่ไปด้วยนะ 
-->