ไหนใครเป็นนักแชทหน้าจอ? ต้องรู้ทัน “โรคโพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาท” กันด้วยนะ


ชีวิตคุณได้บันเทิงแน่! ถ้าบริหารการใช้มือได้ไม่ถูกต้อง  ใครที่ปวดมือบ้าง นิ้วล็อคบ้าง คิดว่าดูทรงแล้วเดี๋ยวก็หายล่ะก็ ความจริงแล้ว…เผลอแป๊บเดียวมันก็อาจเล่นงานมือคุณจนพังไม่เป็นท่า ที่สำคัญ! อาจจะส่งโรคนี้มาให้เป็นของแถม! อะแวร์กันไว้หน่อยดีกว่าน้าา
 

เคยได้ยินกันรึป่าว?  “โรคโพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาท” 

"เราเชื่อนะว่ามีไม่กี่คนที่เคยได้ยินโรคนี้ผ่านหูมาบ้าง"

โรคที่ว่านี้ มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Carpal Tunnel Syndrome”   หรือ “โรคโพรงข้อมือกดรัดเส้นประสาท”  ใครได้เป็นแล้วบอกเลยว่ามือต้องเจ็บปวดแบบสุดๆ เผลอๆ ไม่สามารถฟังชั่นงานได้เหมือนเดิมอีกต่อไป และเพื่อให้คุณๆ ที่กำลังใช้งานมือกันเป็นกิจวัตรได้ลองหันมาสังเกตตัวเอง วันนี้ Health Addict จะพาคุณไปทำความรู้จักกับโรคนี้กัน บอกเลยว่าไม่ใช่โรคนิ้วล็อคอย่างที่เคยพูดถึงไว้ก่อนหน้าแน่นอน

เช็กหน่อย โรคนี้เกี่ยวข้องกับโพรงข้อมือเราอย่างไร? 

ขอสรุปให้เข้าใจง่ายขึ้นถึงที่มาของโรคนี้ หลักๆ มีผลมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตนี่ล่ะ อย่างเช่น การพิมพ์คีย์บอร์ดอยู่ตลอดเวลา หรือการใช้มือบิดวัตถุแข็งๆ โดยต้องทำท่าเดิมซ้ำๆ นานๆ อย่างต่อเนื่องจนเป็นกิจวัตร อย่างการบีบจับไม้กวาด จับค้อน หรืออุปกรณ์ที่ต้องใช้พลังในมือในการหยิบจับ ซึ่งการทำแบบนี้บ่อยๆ มันอาจส่งผลไปให้ผังพืดที่บริเวณฝ่ามือหนาตัวขึ้น และการหนาตัวของเจ้าผังพืดนี้จะไปกดทับเส้นประสาทที่อยู่ตรงช่องข้อมือ หรือ “Median Nerve” ต่อ

Carpal tunnel คือ ช่องที่อยู่ด้านหน้าของข้อมือเป็นช่องทางติดต่อระหว่างแขนท่องล่าง (volar side)   
Photo Credit: img.kapook.com

ซึ่งเส้นประสาทนี้จะเชื่อมกับนิ้วมือของเราอยู่แล้ว พอเวลาที่พวกมันโดนกดทับก็จะทำให้มือเกิดอาการชาและปวดมากจนเส้นเอ็นข้อมืออักเสบบวมขึ้นมา (De quervain's Tenosynovitis)  และถ้าหากโดนกดทับอยู่นานๆ กล้ามเนื้อบริเวณนั้นก็จะค่อยๆ ลีบเล็กลงตามไปด้วย 
 

อาการรุนแรงขั้นไหนถึงต้องรีบไปพบหมอ?

อาการรุนแรงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณๆ ไม่พักมือกันเลย เพราะว่าเส้นประสาทได้ค่อยๆ ถูกบีบจนไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงยังส่วนต่างๆ เช่น นิ้วหรือฝ่ามือ ทำให้กล้ามเนื้อมือคุณค่อยๆ อ่อนแรงลง จะหยิบจับอะไร หรือกำมือก็จะทำได้ยากขึ้น เมื่อเริ่มรู้สึกล้า เราแนะนำให้รีบไปพบคุณหมอเลยดีกว่า เพราะหากปล่อยไว้ถึงขึ้นรุนแรงคือมือคุณจะไม่สามารถใช้งานในการทำกิจกรรมต่างๆ เหมือนเดิมได้ 
 

ใช้งานมือหนักเหมือนกัน แต่ทำไม “ความเสี่ยงไม่เท่ากัน” ? 

แม้ว่าคนสองคนจะทำงานใช้มือหนักเหมือนกัน แต่ทั้งคู่ก็มีความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ต่างกัน ในงานศึกษาวิจัยของต่างประเทศพบว่า คนที่มีลักษณะมือทรงกลมมีแนวโน้มที่จะเสี่ยงเป็นโรคนี้สูง ส่วนคำถามว่าทำไม?  ทางพญ.จียิน วรวิทธิ์เวท แพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง ศูนย์ศัลยกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง โรงพยาบาลพญาไท 3 ได้อธิบายว่า “โอกาสในการเกิดโรคนี้นอกจากจะขึ้นอยู่กับการใช้งานมือที่หนักหน่วงแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับลักษณะมือของแต่ละคนด้วย เพราะว่าคนเราเกิดมามีการเจริญเติบโตของกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น และพังผืดที่มือต่างกัน ตำแหน่งทางกายวิภาคของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน” ซึ่งนอกจากนี้แล้ว โรคนี้มักจะพบในคุณผู้หญิงอายุ 35 – 40 ปี และพบได้มากในกลุ่มของคุณแม่บ้านด้วย

บริหารมือง่ายๆ แค่ทำตามนี้ 

1 การตั้งมือตรง 
2 งอฝ่ามือ กะให้อยู่ประมาณ 90องศา 
3 กำหลวมๆ 
4 งอนิ้วเป็นมะเหงก 
5 ค่อยๆ กางหุบนิ้ว 
6 เอานิ้วหัวแม่มือแตะปลายนิ้วทุกนิ้ว

***ถ้ามีประคบอุ่น หรือเอามือแช่ในน้ำอุ่นก่อนการทำการบริหาร ก็จะยิ่งช่วยคลายการอักเสบได้ดียิ่งขึ้น

อ่านมาถึงตรงนี้ก็อย่าลืมใส่ใจตัวเองกันด้วยน้า ถ้ารู้สึกว่ามีอาการปวดมือ ชา อ่อนแรง ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง ถ้าอาการไม่รุนแรงมากก็อาจไม่ต้องถึงขั้นต้องผ่าตัดนะ
-->