‘Seasonal Affective Disorder’ ภาวะเศร้า ที่ความหนาวเป็นเหตุ

ยิ่งดึกยิ่งเหงา ยิ่งหนาวยิ่งเศร้ามีอยู่จริง! ถึงแม้ว่าบ้านเราจะไม่ได้เจอกับอากาศหนาวแบบจริงๆ จังมานาน แต่ในประเทศเมืองหนาว ที่หน้าหนาวเค้าหนาวจริงหนาวจัง แถมบรรยากาศยังดูหม่นๆ อึมครึมๆ กลางวันสั้น กลางคืนยาว มันทำให้มีอาการซึมเศร้าได้จริง



ยิ่งอยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาลก็ยิ่งมีมากเท่านั้น เพราะด้วยความต่างของช่วงกลางวันและกลางคืน ในหน้าร้อนและหน้าหนาวที่ค่อนข้างต่างกัน อย่างพระอาทิตย์เที่ยงคืนในแถบสแกนดิเนเวียที่เกิดในหน้าร้อน นั่นก็หมายความว่าในช่วงหน้าหนาว ที่นั่นก็จะเจอกับความมืดในตอนเที่ยงวันเหมือนกัน บวกกับอากาศที่หนาวชวนหดหู่ และบรรยากาศแบบเหงาๆ ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่ชาวต่างชาติหลายๆ คนมักจะหนีหนาวมาหาอากาศอุ่น กับแดดแสบๆ ที่ทะเลเขตร้อนแถวๆ นี้


ที่เป็นเศร้า เพราะหนาวมาเยือน

อาการแบบนี้เรียกว่า Seasonal Affective Disorder (SAD) หรือบางครั้งอาจจะเรียกว่า Seasonal Depression หรือจะเรียกแบบเจาะจงไปเลยว่า Winter Depression หรือ Winter Blues เป็นอาการซึมเศร้าที่หลายๆ คนในเขตเมืองหนาวเจอกันเป็นประจำอยู่ทุกปี โดยอาการจะเริ่มมาในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (Autumn) ที่อากาศจะค่อยๆ หนาวเย็นลง และจะไปดีขึ้นอีกทีก็ช่วงใบไม้ผลิ (Spring) ซึ่งกินเวลาเกือบครึ่งปีเลยทีเดียว

จากสถิติของสมาคมจิตแพทย์อเมริกา (American Psychiatric Association) ระบุว่าในทุกๆ ปี มีชาวอเมริกากว่า 5% หรือกว่า 16 ล้านคนเลยที่ต้องเผชิญกับภาวะนี้ โดยผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเจอกับภาวะนี้มากกว่าผู้ชาย ส่วนช่วงวัยที่มีโอกาสเป็นมากที่สุดคือช่วง Young Adult ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี่ยวหัวต่อระหว่างวัยเรียนและวัยทำงาน นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และโรคไบโพลาร์ หรือมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเหล่านี้ ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเจอกับ Winter Blues มากกว่าคนทั่วไป

สาเหตุของอาการที่ว่านี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่สมาคมจิตแพทย์อเมริกาอธิบายว่า อาการนี้อาจเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมอง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ช่วงเวลากลางวันนั้นหดสั้น และปริมาณแสงอาทิตย์ที่น้อยลงในหน้าหนาว ทำให้กระทบกับนาฬิกาชีวิตและรูทีนที่เราเคยทำในแต่ละวัน เมื่อปริมาณแสงแดดที่ร่างกายได้รับมีปริมาณที่น้อยลงกว่าปกติ ก็จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการสังเคราะห์เซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทตัวสำคัญที่ช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายด้วย แต่เมื่อร่างกายสร้างเซโรโทนินได้ในปริมาณที่น้อยลง ก็เลยนำมาซึ่งอาการวิตกกังวล เบื่อหน่ายชีวิต ไปจนถึงอ่อนเพลีย หมดเรี่ยวหมดแรง และซึมเศร้าจนหมดแพสชั่นที่จะใช้ชีวิตได้เลย ซึ่งไปประจวบเหมาะกับบรรยากาศเหงาๆ ของหน้าหนาว ทำให้เกิดเป็นภาวะนี้ขึ้นมา


โควิดปีนี้ อาจทำ SAD หนักกว่าเดิม

ความเครียดที่มากขึ้น คือสิ่งที่เข้ามาคลุกคลีอยู่ในชีวิตประจำของเราเป็นทุนเดิมมอยู่แล้ว ตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา และได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกเราไปมากพอสมควรเลย Dayry Hulkow นักบำบัดจากศูนย์สุขภาพ Vista Pines Health สหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่า Winter Blues หรือว่า SAD ในปีนี้น่าจะรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากมนุษย์เรามีลักษณะนิสัยที่เสพติดการเข้าสังคม หรือมีกิจกรรมที่ยึดโยงกับคนอื่น การที่ต้อง Social Distancing นานๆ เริ่มเป็นเรื่องที่บั่นทอนจิตใจให้รู้สึกเจ็บปวด บวกกับอากาศที่กำลังหนาวเย็น และช่วงเวลากลางวันที่กำลังสั้นลงๆ ทุกวันๆ ในประเทศในแถบซีกโลกเหนือ

Sharnade George นักบำบัดโรคก็ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ในประเทศที่การระบาดยังอยู่ในวงกว้างและควบคุมไม่ได้ การเดินทางและกิจกรรมกลางแจ้งยังจำกัด ทำให้ผู้คนไม่มีโอกาสจะได้ออกจากบ้านมากนัก ทำให้เกิดเป็นความเครียด เพราะสำหรับหลายๆ คน การอยู่บ้านไม่ได้เป็นอะไรที่น่าอภิรมย์สักเท่าไหร่ โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องมาต่อสู้กับอาการ Winter Blues แบบนี้

SAD อาจจะดูเป็นเรื่องที่ไกลตัว และมีโอกาสเกิดไม่เยอะในประเทศเขตร้อนที่ไม่ว่าจะหน้าร้อนหรือหน้าหนาว ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกในแต่ละวันก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ แต่ในประเทศเมืองหนาว บอกเลยว่า Winter Blues เป็นอะไรที่ชวนเหงา ชวนเศร้าสุดๆ
-->