‘เส้นเลือดขอด’ อย่าชะล่าใจ ถ้าไม่อยากผ่าตัด



“เส้นเลือดขอด” โรคที่เป็นปัญหากวนใจของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะสาวๆ เพราะมีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้ชาย 4-5 เท่า ซึ่งปัญหาที่ผู้หญิงจะกังวลคือพอเป็นแล้วมันจะทำให้ขาของเราเกิดรอยปูดของเส้นเลือด ทำให้ขาดูไม่สวยงาม โดยตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอดก็คือพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรานี่ล่ะ ใครที่ชอบยืนหรือนั่งนานๆ ต้องระวังหรือใครที่เป็นแล้วก็อย่าชะล่าใจปล่อยไว้จนต้องผ่าตัด



เส้นเลือดขอดคืออะไร 
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ นพ.ศุภชัย จันทร์วิทัน แผนกศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาล พญาไท 2 ซึ่งคุณหมอได้เล่าให้ฟังว่า “เส้นเลือดขอดคือ ภาวะที่เส้นเลือดดำโป่งขยาย ขดไปมาคล้ายตัวหนอนบริเวณขา ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (Chronic venous) โรคเส้นเลือดขอดคือหลอดเลือดดำที่มีปัญหาในชั้นตื้นเลยทำให้เราเห็นเส้นเลือดขดเป็นตัวหนอนได้ชัดเจน” 

สาเหตุของการเกิดเส้นเลือดขอด
ส่วนสาเหตุของการเกิดเส้นเลือดขอด คุณหมอเล่าให้ฟังว่า เส้นเลือดดำทำหน้าที่ลำเลียงเลือดกลับสู่หัวใจ โดยมีลิ้นหลอดเลือดดำทำหน้าที่คอยบังคับให้เส้นเลือดดำลำเลียงเลือดจากขาไปสู่หัวใจได้อย่างปกติ แต่ในบางคนที่ลิ้นหลอดเลือดดำทำงานผิดปกติ ทำให้เลือดไหลย้อนกลับ ก็จะทำให้หลอดเลือดดำบริเวณขามีความดันเลือดสูงขึ้น (Incompetent Vein) เป็นผลให้เกิดการโป่งพองในหลอดเลือดดำ

ระวัง! พฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดเส้นเลือดขอด
1. นั่งหรือยืนเป็นเวลานาน
2. ชอบนั่งไขว่ห้าง
3. พันธุกรรม
4. น้ำหนักตัวที่มากเกินไป
5. ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกาย (เฉพาะเพศหญิง)

คุณหมอ ศุภชัย จันทร์วิทัน บอกว่าจากสถิติ ผู้หญิงจะเป็นมากกว่าผู้ชายสูงถึง 4-5 เท่า เพราะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งมีหน้าที่กระตุ้นเยื่อบุมดลูกให้สะสมอาหารสำหรับตัวอ่อน สร้างเมือกที่ปากมดลูกให้เหนียวข้น และลดการบีบตัวของมดลูก ฮอร์โมนนี้คือตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดการยืดขยายของผนังหลอดเลือดดำและทำให้เลือดที่ไหลเวียนบริเวณช่วงล่างของร่างกายมีปริมาณเยอะมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือคนที่กินยาคุมกำเนิดบางชนิดจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นเส้นเลือดขอดสูง

ตำแหน่งไหนพบมากที่สุด
คุณหมอบอกว่าตำแหน่งที่พบได้มากที่สุดคือ ช่วงขาด้านหลังและน่อง แต่เส้นเลือดขอดก็สามารถเกิดที่อื่นได้เหมือนกัน เช่น บริเวณขาหนีบหรือในผู้ชายก็อาจจะพบได้ที่ถุงอัณฑะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่ถุงอัณฑะด้านซ้าย เพราะหลอดเลือดข้างซ้ายมีลักษณะที่ถูกบิดอุดตันได้ง่ายกว่าข้างขวา แต่การเกิดเส้นเลือดขอดที่ถุงอัณฑะไม่อันตรายแต่จะส่งผลให้มีลูกยาก สามารถสังเกตโดยการคลำ ถ้ารู้สึกว่ามีเส้นเลือดนุ่มๆ ปูดออกมาเล็กน้อย

อาการแบบไหนที่ต้องเข้ารับการรักษา
ส่วนใหญ่คนที่เป็นเส้นเลือดขอดมักจะปล่อยทิ้งไว้ เพราะมันไม่ได้มีอาการอะไร แต่ก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจไป เพราะคุณหมอบอกว่า ถ้ามีอาการเหล่านี้แสดงว่าเส้นเลือดขอดที่เราเป็นมันเริ่มอันตรายแล้ว นั่นคือ
1. มีอาการปวด บวม เมื่อย หนักขา โดยเฉพาะตอนเย็นๆ หรือบางครั้งพบว่ามีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อนบริเวณเส้นเลือดขอด
2. บริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอดมีสีคล้ำขึ้น ซึ่งเกิดจากผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการอักเสบจากการผิดปกติของเส้นเลือด
3. มีเลือดออก บางคนมีการคันและเกาจนเป็นแผลทำให้เส้นเลือดบริเวณนั้นแตกจนเลือดออกแต่ไม่มาก เอากระดาษซับสักพักก็จะหยุดไปเอง

ถ้าเป็นแล้วจะรักษายังไงดี
การรักษาจะต้องดูก่อนว่าผู้ป่วยมีอาการหนักมากแค่ไหน โดยจะแบ่งการรักษาออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. เส้นเลือดขอดระดับเริ่มต้น: การบรรเทาอาการเส้นเลือดขอดคือ การใส่ถุงน่องที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นเส้นเลือดขอด

ประโยชน์ของการใส่ถุงน่องเส้นเลือดขอด
     1.1 ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดำดีขึ้น
     1.2 ช่วยลดการคั่งของสารน้ำบริเวณขา
     1.3 ช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดของหลอดเลือดดำชั้นลึก
     1.4 บรรเทาอาการที่เกิดจากภาวะหลอดเลือดดำทำงานบกพร่องเรื้อรัง

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มีหลายคนสงสัยว่า การใส่ถุงน่องมันจะช่วยได้จริงมั้ย เพราะมันเหมือนจะยิ่งรัดขาแล้วทำให้เลือดไหลเวียนยากกว่าเดิม แต่การทำงานของถุงน่องบรรเทาอาการเส้นเลือดขอด มันจะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณน่องขาบีบตัวได้ดีขึ้นเช่นเดียวกับการพันผ้ายืด ส่งผลให้ลิ้นในหลอดเลือดดำกลับมาทำงานได้อย่างปกติ ซึ่งถุงน่องเส้นเลือดขอดจะมี 3 แบบคือ ใต้เข่า, ต้นขาและแบบเต็มตัว (ครึ่งตัวล่างตังแต่เอวลงไปถึงเท้า) ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเส้นเลือดขอดที่เกิดขึ้น

2. เส้นเลือดขอดระดับปานกลาง: จะใช้การฉีดยาเพื่อให้เส้นเลือดขอดเกิดการฝ่อและค่อยๆ ยุบลง แต่การฉีดเส้นเลือดขอดก็มีข้อจำกัดคือจะต้องฉีดในกรณีที่เป็นเส้นเลือดขอดขนาดเล็ก ซึ่งจะเหมาะกับผู้เป็นเส้นเลือดขอดในระยะเริ่มต้นถึงระยะกลาง โดยขนาดของเส้นเลือดขอดจะต้องมีขนาดไม่เกิน 3 มิลลิเมตร ส่วนยาที่ใช้ฉีดก็มีหลายตัวแล้วแต่แพทย์จะพิจารณา แต่ยาที่นิยมใช้มากที่สุดคือ เอธอกซีสเครอล (Aethoxysklerol) ซึ่งมีตัวยาสำคัญคือ Polidocanol โดยมีความเข้มข้นตั้งแต่ 1-3% ขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้

ผลข้างเคียงหลังจากการฉีดยารักษาเส้นเลือดขอดที่อาจเกิดขึ้นได้
  1. บริเวณที่ฉีดอาจมีอาการปวด บวมแดง
  2. มีรอยจ้ำเขียว แต่จะหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์
  3.  อาจเกิดรอยคล้ำตามแนวเส้นเลือดที่ฉีด


3. เส้นเลือดขอดระดับรุนแรง: จะใช้การผ่าตัด ซึ่งจะมี 2 แบบคือ ผ่าตัดแบบสมัยก่อน เพื่อดึงเส้นเลือดขอดทิ้ง (Venous Stripping) แต่การดึงทิ้งนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อเส้นเลือด คนไข้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ กับอีกแบบหนึ่งที่เป็นแบบสมัยใหม่คือการเจาะรูเข้าไปที่เส้นเลือด (Endovascular) แทนการผ่าตัดซึ่งจะทำให้มีแผลเล็กและฟื้นตัวได้เร็วกว่า โดยการเจาะรูก็จะแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
     3.1 แบบใช้ความร้อน เช่น ใช้คลื่นวิทยุหรือเลเซอร์ ใช้ความร้อนเข้าไปทำให้หลอดเลือดยุบตัวลง
     3.2 แบบไม่ใช้ความร้อน คือ ใช้กาวหยอดเข้าไปในหลอดเลือดแล้วกดให้มันแฟบชนกัน

ผลข้างเคียงหลังจากการผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอด
  1. เลือดออกจากการผ่าตัด (โดยทั่วไปจะไม่มาก)
  2. มีจ้ำเลือดใต้ผิวหนัง (ซึ่งจะหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์)
  3. เกิดแผลเป็นให้เห็นได้หลังการผ่าตัด


ปล่อยไว้ก่อน ค่อยรักษา อันตรายมั้ย?
คุณหมอบอกว่าเส้นเลือดไม่ใช่โรคที่อันตราย แต่มันจะกระทบต่อชีวิตประจำวันของเรามากกว่า เพราะถ้ามันเกิดเป็นแผลก็จะทำให้มีน้ำเหลืองไหลออกมา ซึ่งจะทำให้แผลหายช้าหรือกลายเป็นแผลเรื้อรัง เกิดการติดเชื้อตามมาได้

รักษาแล้วหายขาดมั้ย
โดยปกติแล้วโรคนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ถึงแม้จะผ่าตัดแล้วก็ตาม ก็ยังมีโอกาส 10-20% ในการจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ป่วยว่ายังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นเส้นเลือดขอดอยู่หรือไม่


สำหรับวัยทำงานถ้าอยากรู้ว่าอาชีพไหนเสี่ยงต่อการเป็นเส้นเลือดขอดและเปิดประสบการณ์จริงของผู้ที่เคยผ่าตัดเส้นเลือดขอดตามอ่านใน EP.2 ต่อที่นี่เลย!

 
-->