3 ความจริงเรื่องความสัมพันธ์ ที่นักศึกษาสาวด้านจิตวิทยาในอเมริกาคนนี้ขอแชร์

เราได้มีโอกาสนั่งคุยกับสาวไทยวัยทเวนตี้ซัมติงคนนึง มะเฟือง-เรืองริน อักษรานุเคราะห์ อายุ 27 ปี  ความเจ๋งก็คือเธอกำลังไปเรียนด้านจิตวิทยาความสัมพันธ์ ในสาขาวิชาที่น่าสนใจมากอย่าง Clinical Psychology with an emphasis on family and couple therapy ที่ Pepperdine University ในลอสแองเจลิส อเมริกา 

ก่อนหน้านี้เธอเป็นเด็กคนนึงที่เดินตามทางที่แม่ปูไว้ให้ ด้วยความรู้สึกที่ไม่อยากสร้างภาระหรือปัญหาให้แม่เสียใจ โดยเฉพาะช่วงที่พ่อของเธอป่วย “ตอนเด็กๆ แม่อยากให้เรียนอะไรก็เรียน ตอนพ่อป่วย จิตใต้สำนึกของเราบอกว่าเรายิ่งต้องเป็นเด็กดี ไม่สร้างปัญหา” และหลายครั้งที่เกิดปัญหา "เราไม่เคยเห็นแม่ทุกข์ เราเลยไม่รู้ว่าแม่เก็บมันไว้" บวกกับเมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับคนอื่นๆ มากขึ้น ทั้งด้วยอาชีพการเป็นนักเขียน และด้วยสังคมต่างๆ ที่ทำให้เธอได้รับรู้มุมมองที่หลากหลาย ยิ่งทำให้เธอรู้สึกสนใจอยากที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการคิดของคน และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้านจิตวิทยา

ความฝันของมะเฟืองก็คือ อยากเอาความรู้ที่มีมาช่วยเหลือคนให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ “อยากช่วยคนทั้งโลกเลย เวลาดูข่าวเห็นคนที่มีปัญหา โดนข่มขืน ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย อะไรแบบนี้แล้วมันแว๊บขึ้นมาเลยว่า เราช่วย Heal หัวใจเขาได้ เราช่วยได้ เราเชื่อว่าเราช่วยเขาได้ ทำยังไงดี!” แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราเลยบอกมะเฟืองว่า เริ่มจากช่วยเปลี่ยน Mindset เรื่องความรักและความสัมพันธ์ให้กับพวกเราที่ยังดำผุดดำว่ายในความสัมพันธ์และความรักแบบผิดๆ ก่อนดีกว่า 

และนี่คือ 3 Wisdom ที่เธอได้เรียนรู้จากการเรียน “จิตวิทยาความสัมพันธ์” ที่ขอแชร์

Wisdom #1: “ความสัมพันธ์ทุกความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา มีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในครอบครัว”
เธอยกตัวอย่างให้ฟังว่า “ถ้าตอนเด็กๆ เวลาที่เราร้องไห้ และมีพ่อแม่มาปลอบมาโอ๋ ด้วยความอบอุ่น เราจะรู้สึกได้ถึงความรัก และเราจะโตมาโดยมีความสัมพันธ์ที่เฮลท์ตี้กับครอบครัว ส่งผลให้เมื่อเรามีแฟน เราก็จะรู้ว่าต้องดูแลความสัมพันธ์ยังไง แต่กลับกัน ในเคสที่ตอนเด็กๆ พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ เมื่อคุณเรียกร้องก็ถูกดุ ถูกต่อว่า อาจทำให้คุณมีความคิดฝังอยู่ในหัวว่า งั้นเราต้องไม่เรียกร้อง เพราะกลัวจะถูกดุ มันทำให้คุณรู้สึกตัวเล็กลงไปเรื่อยๆ  เวลาที่โตขึ้นมาคุณก็จะมีความสัมพันธ์ที่สร้างกำแพงกับตัวเอง หรือไม่กล้าแสดงความต้องการจริงๆ ออกไป ไม่กล้าเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น ในที่สุดคุณก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีตัวตน” นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสถาบันครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างชีวิตคนๆ นึงให้โตขึ้นมาและสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าเงินทอง คือการดูแลเอาใจใส่ ทำให้ลูกรับรู้ได้ถึงการถูกเติมเต็ม เราจะเติบโตมาอย่างแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ 

Wisdom #2: เรามักจะเลือกความสัมพันธ์กับคนรัก ในแบบที่เรารู้สึกคุ้นเคย
“การที่เรามองหาคนบางประเภท นั่นก็เพราะว่าจริงๆ แล้วความสัมพันธ์ของครอบครัวเราก็เป็นมาแบบนั้น มันไม่ได้บอกว่าความสัมพันธ์นั้นดีหรือไม่ดี เพียงแต่นั่นคือความสัมพันธ์ที่เราคุ้นเคย เราแค่ชินกับความสัมพันธ์แบบนี้ ทำให้เวลามองหาแฟนหรือคนรัก เราก็มักจะมองหาคนที่เป็นแบบนั้น แม้คนอื่นจะมองว่าเขาเป็นคนไม่ดี อารมณ์ร้าย แต่จิตใต้สำนึกทำให้เรารู้สึกว่าความสัมพันธ์แบบนี้มัน secure เราจึงพยายามที่จะรักษามันไว้” ซึ่งสิ่งที่เธอแนะนำก็คือ “เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนคนรัก แค่เปลี่ยนวิธีการคิดและเรียนรู้ที่จะรับมือยังไงมากกว่า มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่าความสัมพันธ์ของเราต่อไปจะเป็นยังไง เราจะไม่เอาปมที่เรามี มาทำให้ความสัมพันธ์มันพังลง”

Wisdom #3: ไม่ว่าใครในโลกนี้ก็ต้องการ “คนที่รับฟังด้วยความเข้าใจ” 
อีกเรื่องหนึ่งที่เธอบอกว่าหลายคนมักจะเผลอทำไปโดยไม่ทันรู้ตัว นั่นก็คือเรื่องของการรับฟังปัญหาของคนอื่นแบบไม่ฟังด้วยความเข้าใจ “หลายครั้งที่คนเราฟังคนอื่นด้วยความคิดที่ว่าจะไปแก้ไขปัญหาเขา แต่จริงๆ แล้วเราควรที่จะฟังด้วยความเข้าใจ เปิดใจจริงๆ ว่าสิ่งที่เขามีอยู่ในใจคืออะไร ยอมรับในแบบที่เขาเป็น แล้วช่วยให้กำลังใจเขาไปพร้อมๆ กัน จริงๆ อาจจะไม่ไปต้องไปเรียน หรือไปปรึกษานักจิตวิทยาเลยด้วยซ้ำ แค่เราฟังด้วยความเข้าใจ อย่าเพิ่งเอาความคิดตัวเองไปโยนใส่เขา และที่เจ๋งยิ่งกว่านั้นคือ ถ้าเรารับฟังใครด้วยความเข้าใจ และช่วยให้เขาดีขึ้นได้จริงๆ มันไม่ได้ช่วยแค่เขาคนเดียว  แต่มันต่อยอดไปถึงคนอื่นๆ รอบตัวเขาด้วย ดังนั้นเราต้องย้อนกลับมามองตัวเองว่าเวลาที่เราให้คำปรึกษากับคนรอบข้าง เราได้ “เปิดใจ” และ “รับฟัง” พวกเขาจริงๆ หรือเปล่า ก่อนที่จะให้คำแนะนำอะไรออกไป ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก”

Her Wisdom
“ถ้าถามตอนนี้ว่าเกิดมาเพื่ออะไร เราตอบได้เลยว่าเราเกิดมาเพื่อช่วยคน ถึงแม้มันจะต้องแลกกับความเสียสละอื่นๆ ก็ตาม เพราะทุกครั้งที่เราได้คุย แน่นอนว่าเราก็ได้รับความเครียดเข้ามาอยู่แล้ว แต่เรารู้สึกว่าเราเป็นชีวิตเดียว ถ้ามันสามารถสร้างคุณค่าให้อีกหลายๆ ชีวิต เรายอมเครียดก็ได้ เพราะมันได้ช่วยคนอีกหลายชีวิต ต่อๆ กันไปเรื่อยๆ”

ถึงแม้ว่าจะเหลือเวลาอีก 2 ปีกว่าๆ กว่าที่เธอจะเรียนจบ แต่จากสิ่งที่เราได้พูดคุยกับเธอ ก็เชื่อมั่นได้เลยว่าเธอจะต้องเป็นนักจิตวิทยาที่ดีได้อย่างแน่นอน  และอย่าลืมว่าความสัมพันธ์จะดีและเฮลท์ตี้ได้ส่วนหนึ่งต้องมาจากพื้นฐานของความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แข็งแรง ลองรีเชคตัวเองอีกครั้งให้ดี ว่าก่อนที่จะไปสร้างความสัมพันธ์กับคนนอกบ้าน คุณได้ใส่ใจความสัมพันธ์ในบ้านดีพอหรือยัง 
-->