Placebo Effect คืออะไร ทำไม 'ยาหลอก' ถึงทำให้เราหายป่วยได้?


หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า ยาหลอก หรือ Placebo กันมาบ้าง แต่ถ้าไม่เคย เราขออธิบายสั้นๆ ว่า มันคือการรักษาแบบปลอมๆ เช่น การให้ยาปลอมที่ไม่ได้มีฤทธิ์ในการรักษาโรคนั้นได้ อาจจะเป็นเม็ดแป้ง หรือวิตามินธรรมดาๆ โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ และเชื่อว่าตนกำลังได้รับการรักษาด้วยยาจริงๆ และผลที่ออกมาคือ มันสามารถทำให้ผู้ป่วยหายป่วยได้จริงๆ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Placebo Effect



ผู้ป่วยที่หายป่วยจาก Placebo Effect ไม่ได้แกล้งป่วย หรือป่วยการเมืองอะไรหรอก แต่ในทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์กำลังตั้งข้อสังเกตว่า หรือจริงๆ แล้ว จิตใจของมนุษย์มีอำนาจถึงขนาดที่สามารถเยียวยาตัวเองจากอาการป่วยได้ ซึ่งการรักษาแบบปลอมๆ (Fake Treatments) หรือที่เรียกกันว่า Placebo เนี่ย มีมาเป็นพันๆ ปีแล้ว ซึ่งในบางกรณี การรักษาแบบ Placebo ถือว่ามีประสิทธิภาพเทียบเท่าการรักษาแบบปกติเลยทีเดียว

 
"Placebos often work because people don't know they're getting one"


คิดว่า 'ยา' จะทำให้หาย ก็เลยหายป่วยจริงๆ
นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า Keywords สำคัญที่จะทำให้ Placebo Effect ได้ผล คือผู้ป่วยต้องเชื่ออย่างสนิทใจว่าเขากำลังได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี และได้รับยาที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยกระบวนการนี้ เมื่อสมองได้รับข้อมูลมาว่าการรักษาวิธีนี้หรือยาตัวนี้มีประสิทธิภาพ จึงไปโน้มน้าวร่างกายให้ตอบสนองต่อการรักษา และหายป่วยในที่สุด โดยกลุ่มยา Placebo มักจะเป็นยาที่มีราคาแพง เพราะตามหลักจิตวิทยาแล้วมนุษย์เชื่อว่าของแพงจะดีกว่าเสมอ

ป่วยแบบไหน ถึงจะใช้ Placebo ได้ผล
ส่วนใหญ่แล้วการใช้ยาหลอกจะนิยมใช้กับอาการป่วยที่วัดเป็นรูปธรรมไม่ได้ อย่างอาการซึมเศร้า ความผิดปกติของการนอนหลับ ไปจนถึงอาการลำไส้แปรปรวน และอาการเจ็บปวดต่างๆ เคยมีการศึกษาเรื่อง Placebo Effect ในผู้ป่วยโรคหอบหืด โดยให้ยาสูดดมหลอก (Placebo Inhaler) ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีอะไรดีกว่าการนั่งหายใจปกติ แต่เมื่อสอบถามถึงความรู้สึก (Perception) ผู้ป่วยหลายคนกลับรู้สึกดีขึ้นเทียบเท่าการได้รับยาจริงเลยทีเดียว

Photo by Scientific Animations

ยาหลอกอาจเป็นแค่ตัวช่วยของ 'สมอง'
ในขณะที่นักวิจัยกำลังหาคำตอบว่า Placebo Effect เกิดจากอะไร มีคำอธิบายที่น่าสนใจ คือยาหลอกอาจจะไปกระตุ้นให้สมองหลั่งสาร Endorphins ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ Morphine เป็นเหมือนยาแก้ปวดธรรมชาติจากสมอง จึงเป็นข้อสังเกตว่าสาเหตุที่ยาหลอกมักจะใช้ได้ผลกับการเจ็บป่วยที่วัดไม่ได้เป็นรูปธรรม เพราะกลไกที่ซับซ้อนของร่างกายมนุษย์อาจจะสามารถเยียวยาตัวเองได้จริง โดยอาจจะต้องมีตัวกระตุ้น ซึ่งในที่นี้คือยาหลอกนั่นเอง

ยาที่ดี ต้องไม่สูสีกับยาหลอก
ในการวิจัยเกี่ยวกับยาหลอก พบว่า Placebo Effect จะได้ผล 30% (ในอาการที่วัดไม่ได้เป็นรูปธรรม) นั่นคือสมมติว่า เอายาหลอกให้คนที่ปวดหัว 100 คนกิน โดยที่ทุกคนเชื่อว่ายานี้เป็นยาแก้ปวดหัว จะมีคนที่หายจากอาการปวดหัวประมาณ 30 คน ดังนั้นในทุกครั้งที่มีการคิดค้นยาชนิดใหม่ขึ้นมาจะต้องมีการอ้างอิงกับ Placebo Effect ด้วย ว่าให้ผลดีกว่า Placebo Effect กี่เท่า หากยาชนิดนั้นให้ผลไม่ต่างจาก Placebo Effect จะสรุปได้ว่ายาตัวนั้นไม่มีฤทธิ์ในการรักษา


Photo by Vox

Placebo จะได้ผลถ้าเราไม่รู้ แต่ถ้าเรารู้ล่ะ?
ในปี 2014 เคยมีการทดลองเรื่องนี้เหมือนกัน โดยศาสตราจารย์ Ted Kaptchuk ได้แบ่งผู้ป่วยไมเกรนออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้ยาจริง กลุ่มที่สองให้ยาหลอก และกลุ่มที่ 3 ไม่ให้ยาอะไรเลย ซึ่งผลการทดลองที่ออกมาก็ค่อนข้างน่าแปลกใจ เพราะยาหลอกมีประสิทธิภาพถึง 50% เลยทีเดียว เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ให้ยาจริง แม้ว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกจะรู้ว่าตัวเองกำลังได้รับยาหลอกอยู่ จึงเป็นข้อสังเกตว่า แม้เราจะรู้ว่ามันไม่ใช่ยา แต่การที่เรากินยาหลอกเข้าไป ก็เพียงพอแล้วที่จะไปกระตุ้นสมองให้ร่างกายคิดว่ากำลังได้รับการรักษาจริงๆ

 
"People associate the ritual of taking medicine as a positive healing effect"



Ted Kaptchuk - Professor at Havard Medical School, Photo by GoldLab Foundation

 
-->