เจ็บหน้าอก อาการผิดปกติที่มากกว่าแค่ ‘โรคหัวใจ’

“เจ็บหน้าอก” อาการนี้ถ้าไม่ใช่เพราะอกหัก คนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่าต้องเป็นเพราะโรคหัวใจแน่ๆ ซึ่งถึงแม้จะมีการศึกษาวิจัยโดยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน พบว่า 16% ของผู้ที่เสียชีวิต เป็นผู้ที่เพิ่งจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในช่วง 28 วันก่อนหน้าเท่านั้น โดยบางรายมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นสัญญาณเตือน แต่กลับไม่ได้ให้ความสนใจ ซึ่งในเคสนี้การละเลยสัญญาณเตือนของภาวะหัวใจล้มเหลวอาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตถึง 1 ใน 6 ราย แต่ก่อนที่จะตกอกตกใจไปมากกว่านี้ ลองมาพูดคุยกับ นพ.อภิชัย โภคาวัฒนา อายุรแพทย์โรคหัวใจ อนุสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ เฉพาะทางด้านโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จากโรงพยาบาลราชวิถี ที่มาช่วยตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการเจ็บหน้าอก ที่อาจเกิดขึ้นได้แม้ไม่เป็นโรคหัวใจกัน


เจ็บหน้าอก VS โรคหัวใจ
คุณหมออภิชัยเริ่มต้นอธิบายว่า “ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอาการเจ็บหน้าอกที่เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ คือ การเจ็บหน้าอกที่รุนแรง ร่วมกับมีเหงื่อแตก ใจสั่น หน้ามืดหมดสติ หรืออาจมีอาการอื่นๆ เช่น ปวดร้าวขึ้นกราม หรือร้าวลงแขน โดยอาการเจ็บหน้าอกนี้จะเป็นสัญญาณของโรคหัวใจได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าตัวเราเป็นอย่างไร คือหากเราเป็นคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง อาการเจ็บหน้าอกอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคหัวใจ ยิ่งถ้ามีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้หลายข้อ ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ในทางกลับกันหากเราเป็นคนที่สุขภาพแข็งแรงดี อายุน้อย การเจ็บหน้าอกก็อาจเกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อหรือกระดูกอ่อนบริเวณหน้าอกได้เช่นกัน” แต่ถึงแม้ว่าจะไม่มีปัจจัยเสี่ยงคุณหมอก็แนะว่ายังคงต้องระวัง เพราะยังมีอีกกลุ่มที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่าตัวเองมีโรคเหล่านี้ เนื่องจากอาจจะไม่เคยตรวจสุขภาพมาก่อน ดังนั้นปัจจัยอีกข้อที่ต้องคำนึงถึง นั่นคือประวัติครอบครัวที่มีคนป่วยด้วยโรคเหล่านี้ ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และมีประวัติโรคหัวใจ โดยเฉพาะญาติสายตรง เช่น คุณพ่อหรือคุณแม่ที่เป็นโรคเหล่านี้ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ

นอกจากโรคหัวใจยังเป็นอะไรได้...อีก
สำหรับอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ คุณหมอบอกว่าอาจมีได้หลากหลายสาเหตุ ตั้งแต่อันตรายมาก เช่น เส้นเลือดแดงใหญ่ฉีกเซาะ ไปจนถึงภาวะที่ไม่รุนแรง เช่น การอักเสบของกล้ามเนื้อและกระดูกอ่อนบริเวณหน้าอก ซึ่งแต่ละสาเหตุก็จะมีอาการแตกต่างกันไป นอกจากนี้แล้วคุณหมอก็ได้เสริมว่ายังมีโรคอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกได้เช่นกัน “โรคที่เราอาจจะเคยได้ยินชื่อกันอย่างโรคกรดไหลย้อน และเยื่อหุ้มปอดอักเสบ ก็เป็นสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกได้ โดยอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากโรคอื่นๆ ก็จะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันไป เช่น โรคกรดไหลย้อนอาจมีอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น อาการเรอเปรี้ยว หรือรู้สึกขมในคอเนื่องจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมา หรืออีกโรคที่ค่อนข้างอันตรายและรุนแรง นั่นคือหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกเซาะ ซึ่งเกิดจากการที่ผนังด้านในของหลอดเลือดแดงใหญ่เกิดการฉีกลอกออกมา ส่งผลให้มีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงและปวดร้าวทะลุไปถึงข้างหลัง โดยภาวะนี้ถือเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก แต่มีความอันตรายร้ายแรงมาก ดังนั้นแล้วหากมีอาการเจ็บหน้าอก ควรต้องสังเกตตัวเองว่ามีอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ และหากไม่แน่ใจว่าเกิดจากอะไร ควรจะไปปรึกษาคุณหมอ เพื่อจะได้หาสาเหตุและให้การดูแลได้เหมาะสม”



เจ็บหัวใจ ใครก็เป็นได้

จากประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยที่มีมาปรึกษาด้วยเรื่องอาการเจ็บหน้าอก คุณหมอบอกว่ามีเกือบทุกช่วงอายุ ทั้งอายุน้อย และอายุมาก โดยส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นๆ หายๆ และกังวลเกี่ยวกับอาการที่เป็น “คนไข้อายุน้อยที่สุดที่หมอเคยเจอ ก็คงจะเป็นช่วงอายุ 16-17 ปี โดยมากแล้วคนไข้กลุ่มนี้มักมีอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อและกระดูกอ่อนบริเวณหน้าอก ซึ่งถือเป็นภาวะที่ไม่อันตรายและหายได้เอง แต่อาจต้องมีการปฏิบัติตัวเป็นพิเศษบางอย่าง เช่น งดเว้นการหิ้วของ หรือถือของหนักในข้างที่เป็น การรักษาก็อาจจะพิจารณาให้ยาแก้ปวดหากอาการปวดนั้นเป็นมากและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งคำแนะนำในการดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอก หากตัวเราเองเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง หากมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ หมอแนะนำว่าควรไปพบแพทย์ เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และหากเป็นโรคหัวใจจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสเสียชีวิต ส่วนผู้ที่ไม่มีความเสี่ยงและมีอาการเจ็บหน้าอกไม่รุนแรง อาจลองสังเกตอาการตัวเองดูก่อน พยายามงดเว้นการใช้แขนข้างที่มีอาการเจ็บหน้าอก หากพบว่า ผ่านไป 2-3 วันแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นควรไปปรึกษาแพทย์”
-->