นักจิตวิทยาคอนเฟิร์ม! วิธีดีลกับ “โรคซึมเศร้า” ไม่ยาก แค่ต้องใช้“ความเข้าใจ”

 
การเป็นโรคซึมเศร้าถ้าคนที่ไม่เป็นจะไม่มีวันเข้าใจเพราะ “โรคนี้คือโรคเเห่งอารมณ์ ถ้าเปรียบให้เห็นภาพคือเหมือนเวลาเราโกรธ เราจะรู้สึกร้อนรุ่มเหมือนมีไฟอยู่ในอก แต่สำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เขาจะรู้สึกเหมือนอยู่ในอุณหภูมิที่เย็นจนเกินไปอยู่ตลอดเวลา เย็นจนหนาวสั่น เหมือนไปในประเทศที่เย็นๆ แล้วไม่มีผ้าห่ม มองไปทางไหนก็เห็นแต่สีขาว ดำ เทา นั่นแหละคือความรู้สึกเขา” 


 
Bio-Psycho-Social คือสิ่งที่ต้องเช็ค 
นี่คือสิ่งสำคัญที่เราจะสามารถเช็คตัวเอง และคนรอบข้างเราได้เลยว่าเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้ากันอยู่หรือเปล่า ไมใช่ทึกทักคิดเองเออเองกันไป โดยมีหลักในการสังเกตตามนี้ คือ
• ทางร่างกาย  (Bio)  ร่างกายเหมือนไม่มีแรง กล้ามเนื้อเหมือนห่อเหี่ยว แขนขาดูเหมือนหนัก ไม่อยากกิน สิ่งที่ชอบ สิ่งที่เมื่อก่อนเคยชอบทำก็กลายเป็นไม่อยากทำแล้ว
• ทางอารมณ์ (Psycho) การยืดหยุ่นทางอารมณ์หายไป คือเขาจะไม่สามารถปรับตัวเองให้รู้สึกมีความสุขได้ หรือถ้าต้องเข้าสังคม ก็จะไม่สามารถฝืนยิ้มได้ จะรู้สึกทุกข์อยู่ตลอดเวลา  
• ทางสังคม (Social) คือเมื่อพอการยืดหยุ่นทางอารมณ์มันไม่มี ก็ทำให้การเข้าสังคม เป็นสิ่งที่ยากลำบาก เพราะไม่สามารถที่จะฮึดมาใส่หน้ากาก หรือเอาพลังงานในร่างกายทั้งหมดมาฝืนยิ้มเพื่อคุยกับคนอื่นได้ เลยทำให้อยากอยู่คนเดียว กลายเป็นคนเก็บตัวจากโลกภายนอก 
 
Attitude คือสิ่งสำคัญ
อย่างที่บอกว่าโรคนี้คือโรคแห่งอารมณ์ มันคือการเกี่ยวพันกันซึ่งแอดติจูดคือ สิ่งที่จะช่วยดึงคนให้หลุดออกมาจากจุดที่หมิ่นเหม่ว่าจะเป็นซึมเศร้าได้มั้ย เพราะถ้าเราคิดได้ว่าความทุกข์ หรือความผิดหวังที่เกิดขึ้นมานั้น มันก็มีด้านดี ช่วยสอนอะไรเรา ทำให้โตขึ้นมั้ย มองโลกเด็ดขาดขึ้นมั้ย หรือไม่ในอีกมุมก็คือโนสน โนแคร์ไปแล้วมูฟออน ความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวังมันก็จะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายไป แต่สำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าเขาจะมีมุมมองที่ไม่สามารถมองด้านดีอะไรได้เลย ไม่ว่ามองไปทางไหนก็จะเห็นแต่เป็นเรื่องแย่ๆ ไปหมด จมทุกข์หมุนวนไป 
 
ทำยังไงก็ได้...ให้อยู่ในใจเขา 
และนี่คือเทคนิคที่มือโปรเขาใช้รับมือกับคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า “ถ้าวันหนึ่งตัวเราจะต้องอยู่กับคนที่เผชิญกับโรคซึมเศร้า อย่างแรกเลย คือเราต้องเข้าใจว่า เขากำลังหนาวนะ หนาวมากด้วย  ถ้าเราเป็นเพื่อนเขาเราต้องมอบความอบอุ่นให้ มันคือการอยู่ใกล้ๆ อยู่ข้างๆ การให้เขาเข้าถึงเราได้ตลอดเวลา ยิ่งบางคนถ้าอาการเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ อาจมีลักษณะคิดฆ่าตัวตายได้ เพราะเขาไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง เขาจะอยู่ไปทำไม นี่แหละคือสิ่งที่สำคัญ เราไม่สามารถจะอยู่กับเขาได้ตลอด 24  ชม. แต่การดูแล และเข้าใจคนที่เป็นโรคนี้คือ ทำยังไงก็ได้ให้เราอยู่ในใจเขา ให้เขารู้สึกว่ามีเราที่เป็นห่วง และเห็นคุณค่าของเขาอย่างจริงใจ” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่าให้ความอบอุ่นมากจนเกินไป เพราะบางทีอาจทำให้คนป่วยรู้สึกว่าถูกรบกวนได้เหมือนกัน ทางที่ดีก็ควรมีสเปซให้เขาบ้าง และให้ปรึกษาหมอที่เชี่ยวชาญ รวมถึงการกินยาเพื่อปรับสารเคมีในสมองให้บาลานซ์
 
คิดตามนี้ “ซึมเศร้า” ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด 
อย่าไปกลัวกับความเศร้า มันเกิดขึ้นได้เสมอ แล้วถ้าเกิดขึ้นแล้ว ให้ถามกับตัวเองว่าความเศร้าอันนี้มานานหรือยัง มันเพิ่มขึ้น หรือลดลงมั้ย ลองมองดูความเศร้าว่ามันมีผลดี หรือเสียยังไง เพราะบางทีความความเครียด ความเศร้าก็เปลี่ยนเป็นเเรงผลักให้ตัวเราได้ก้าวข้ามผ่านไปในจุดที่ดีขึ้นได้ มนุษย์เรามีสัญชาตญานของการอยู่รอด อยู่แล้วจะต้องผ่านกันไปได้ คนเราตกหลุมได้ แต่ต้องอย่าตกนาน หรือถ้าตกไปแล้วเกิดปีนขึ้นมาไม่ได้ ก็ต้องกล้าที่จะตะโกนเรียกให้คนช่วยอย่าไปอาย อย่าไปคิดว่าตัวเองเป็นภาระ 
 
สุดท้ายแล้วความเครียด ความเศร้า หรือสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบจิตใจเรา บางอย่างอาจเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่ควบคุมได้คือใจเรา เมื่อไหร่ที่เจอสิ่งที่เข้ามากระทบมากๆ ให้บอกกับตัวเองว่า เราจะผ่านมันไปได้ และมีสิ่งดีๆ ที่รอเราอยู่ข้างหน้า ลุกขึ้นแล้วคิดไว้เสมอว่า The Show Must Go On ไง 
 
ทีมงาน Health Addict ก็ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังต้องเผชิญกับภาวะนี้สามารถก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้
 
-->