กิน (แล้ว) นอน ไม่ได้แค่ทำให้อ้วน แต่อันตรายกว่าที่คิด

“กินแล้วนอน” ดูเป็นชีวิตดี๊ดีที่น่าอิจฉาใช่มั้ยล่ะ แต่อย่าวีนนะ ถ้าจะบอกว่าที่ดู (เหมือนจะ) น่าอิจฉานั้นส่งผลต่อสุขภาพยังไงบ้าง เอาเป็นว่าที่ขนาดแค่กินมื้อเย็นใกล้เวลานอนยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งเลย โดยเรื่องนี้ได้มีข้อมูลจากนักวิจัยจากสถาบันสุขภาพโลกบาร์เซโลนา (Barcelona Institute for Global Health) ศึกษาพบว่าคนที่กินอาหารเย็นก่อนเวลาหรือ กินอาหารก่อน 3 ทุ่ม ลดความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมและต่อมลูกหมากลดลง 20% เพราะฉะนั้นที่ว่ากินแล้วนอนเป็นคนวาสนาดี นี่น่าจะต้องคิดใหม่ล่ะ



กินแล้วนอน โรค (แทรก) ซ้อนมาแน่
ไม่ต้องสืบเลยว่าไขมันส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากไหน ตราบใดที่ยังไม่เลิกพฤติกรรม “กินๆ นอนๆ” นั่นก็เพราะการที่เรารับพลังงานจากอาหารมากเกินที่ร่างกายต้องใช้ แถมยังแทบไม่ขยับตัว เพราะมัวแต่นอนอีก พลังงานที่รับเข้าไปก็จะสะสมกลายเป็นไขมันนั่นยังไง แล้วไม่ใช่แค่เรื่องอ้วนด้วยนะ แต่การกินแล้วนอนยังเป็นต้นเหตุของอาการเหล่านี้ได้อีก
 
  • ท้องอืด เพราะอาหารไม่ย่อย พฤติกรรมกินปุ๊บนอนปั๊บจะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อาหารที่ยังย่อยไม่หมดเกิดการตกค้าง หมักหมมจนเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร นำมาซึ่งอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืดตามมา 
  • นอนไม่หลับ เป็นอาการที่ต่อเนื่องจากท้องอืด ซึ่งหากเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน อาจทำให้ไม่สบายตัว ส่งผลต่อการนอนหลับ จนทำให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องไปยังการทำงานของระบบอื่นๆ ในร่างกาย
  • กรดไหลย้อน โดยธรรมชาติเมื่อร่างกายได้รับอาหาร ก็จะหลั่งน้ำย่อยออกมาเพื่อทำการย่อยอาหาร ซึ่งหากกินแล้วนอนทันที อวัยวะจะปรับเปลี่ยนเป็นแนวราบ ซึ่งขัดกับการระบบการทำงานของร่างกายที่จะต้องทำลำเลียงอาหารจากบนลงล่าง ดังนั้น น้ำย่อยที่ถูกหลั่งออกมาจึงไหลย้อนกลับขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร ในบางรายอาจย้อนกลับขึ้นมาถึงบริเวณลำคอ เกิดอาการระคายเคือง เนื่องจากน้ำย่อยมีฤทธิ์เป็นกรด จนทำให้รู้สึกแสบร้อนกลางอก จุกเสียดแน่นท้อง ขมในลำคอ เรอเหม็นเปรี้ยว 
  • เพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง เพราะเมื่อระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ก็จะส่งผลกระทบต่อไปยังการดูดซึมสารอาหาร ภาวะความดันโลหิต และการรักษาระดับน้ำตาลกับคอเลสเตอรอล ต่อเนื่องถึงระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้เลือดที่จะลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนไปทั่วร่างกายทำได้ยาก จึงอาจเกิดสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ภาวะสมองขาดเลือดหรือขาดออกซิเจน หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้
  • มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหาร ซึ่งเป็นผลมาจากโรคกรดไหลย้อน จากอาการที่น้ำย่อยไหลย้อนกลับมาที่หลอดอาหารเรื้อรัง ทำให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบ ยิ่งปล่อยไว้นานเท่าไหร่ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสของการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารมากเท่านั้น



(กิน) แล้วเมื่อไหร่จะนอน (ได้)

โดยทั่วไปกระบวนการย่อยอาหารจะเริ่มตั้งแต่ในปาก โดยการย่อยคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาลด้วยน้ำลาย ตามด้วยการย่อยโปรตีนที่กระเพาะอาหาร จากนั้นอาหารที่ย่อยแล้วบางส่วนจะถูกส่งไปที่ลำไส้เล็ก ซึ่งจะย่อยทั้งคาร์โบไฮเดรตในรูปของน้ำตาล โปรตีน และไขมัน ซึ่งสารอาหารจะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็ก และเป็นการสิ้นสุดกระบวนการย่อยอาหารที่ลำไส้เล็กนี้ด้วยเช่นกัน โดยส่วนที่กากอาหารถูกส่งต่อไปยังลำไส้ใหญ่และดูดซึมสารอาหารที่เหลือจากลำไส้เล็ก ซึ่งทั้งหมดนี้กว่าที่ร่างกายจะสิ้นสุดกระบวนการย่อยอาหารจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยท่าทางที่จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีคือท่านั่งหรือยืน เพราะอวัยวะทุกส่วนในระบบตั้งตรงตามร่างกาย และการย่อยอาหารจะทำโดยลำเลียงจากอวัยวะส่วนบนสู่ล่าง เพราะฉะนั้นการกินแล้วนอนในช่วงเวลาที่ระบบย่อยอาหารยังทำงานไม่เสร็จ ก็จะเป็นที่มาของปัญหาสุขภาพอย่างที่บอกไปเลยล่ะ

รู้แบบนี้แล้วจะยอมลำบากวันนี้สบายวันหน้า หรือจะสบายวันนี้แล้วไปเสี่ยงอีกทีวันหน้า...ก็เลือกเอา
-->