กินอะไรก็ไม่อร่อย เพราะประสาทรับรสเปลี่ยนไปหรือเปล่า

“ไม่กินดีกว่า ไม่อร่อยเลย” ถ้าเป็นเมื่อก่อนไม่มีทางที่ประโยคนี้จะหลุดออกจากปากแน่ๆ  แต่ทำไมพออายุเริ่มมากขึ้น แล้วถึงมีประโยคนี้ให้ได้ยินบ่อยๆ จะว่ารสชาติอาหารเปลี่ยนก็คงไม่ใช่ เพราะใครๆ ก็ยังดูกินเอร็ดอร่อยอยู่ เลยลองย้ายไปนั่งกินข้าวหน้ากระจก เผื่อจะช่วยเสริมบรรยากาศให้รู้สึกเหมือนมีเพื่อนกินข้าวด้วย ตามที่งานวิจัยของ ริวซาบูโร ทานากะ นักวิจัยด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยนาโกยา ประเทศญี่ปุ่นได้บอกไว้ว่าการกินข้าวคนเดียวจะทำให้รู้สึกว่ารสชาติอาหารไม่อร่อยเท่ากับนั่งกินกันหลายๆ คนก็ยังไม่ดีขึ้น เอ๊ะ! หรือว่าจะผิดปกติที่ต่อมรับรสของเรานี่เอง



เธออยู่ไหนนะ...ต่อมรับรส
โดยทั่วไปแล้วคนเราจะเกิดมาพร้อมกับตุ่มรับรสขนาดเล็กที่อยู่บนลิ้นมากกว่า 10,000 ตุ่ม ช่วยให้สามารถรับรู้รสชาติของอาหารสารพัดเมนู โดยรสชาติหลักๆ ที่จะสามารถรับรสได้นั้น ได้แก่ หวาน เปรี้ยว เค็ม ขม และรสชาติอูมามิ เมื่อลิ้นได้สัมผัสกับรสชาติต่างๆ ของอาหาร ก็จะส่งไปยังสมองเพื่อให้เข้าใจว่าอาหารที่อยู่ในปากนั้นเป็นอย่างไร แต่บางครั้งการรับรสอาหารภายในปากนั้นก็เปลี่ยนแปลงได้ ส่งผลกระทบต่อการรับรู้รสชาติ โดยปัจจัยที่ทำให้ ต่อมรับรสเปลี่ยนนั้นสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอายุที่เพิ่มขึ้นก็เป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของต่อมรับรสได้

อายุทำให้ต่อมรับรสเปลี่ยน (ได้) ยังไง
ตามธรรมชาติของมนุษย์เราปกติแล้วต่อมรับรสจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ 10 วัน ซึ่งร่างกายจะมีการสร้างเซลล์หรือตุ่มรับรสขึ้นมาใหม่ แต่เมื่ออายุมากขึ้นโดยเฉพาะในวัยหลัก 4 เป็นต้นไป ไม่ใช่แค่ต่อมรับรสที่ลิ้นจะลดจำนวนลงเท่านั้น แต่ยังทำให้ต่อมรับรสเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้นเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยกลางคนต่อมรับรสก็จะรับรู้รสชาติได้ช้าลง ทั้งยังทำให้รับรสยากขึ้นอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นถ้าร่างกายสูญเสียการได้กลิ่นเมื่ออายุมากขึ้น หรือมีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ก็จะส่งผลต่อการรับรสได้อีก ซึ่งการที่ต่อมรับรสเปลี่ยนจากอายุที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจไม่ใช่ปัญหา เพียงแต่ต้องควบคุมและระมัดระวังเรื่องการปรุงรสอาหาร โดยพยายามหลีกเลี่ยงการปรุงที่จัดมากเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพ และนำมาซึ่งโรคต่างๆ เช่น โรคไต ความดัน เบาหวาน เหล่านี้เป็นต้น



อะไรทำให้เธอ (ต่อมรับรส) เปลี่ยนไปได้อีก
นอกจากเรื่องของอายุที่มากขึ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงของต่องรับรสยังสามารถเกิดขึ้นได้จาก...
  • การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล อาจลดความสามารถในการได้กลิ่น และส่งผลกระทบต่อการรับรู้รสชาติไปด้วย
  • เกิดความผิดปกติของระบบประสาทของปากหรือสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคอัลไซเมอร์ หรือโรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทก็อาจทำให้การรับรสนั้นเปลี่ยนไปได้
  • อยู่ในระหว่างการทำคีโม หรือได้รับยาบางตัว โดยมักจะเป็นยาที่ส่งผลต่อการยับยั้งเอนไซม์ หรือยาที่กินแล้วทำให้ปากแห้ง เพราะการที่ปากแห้งนั้นทำให้ยากต่อการรับรู้รสชาติ
  • ขาดสารอาหารหรือวิตามินและแร่ธาตุบางชนิดที่มีส่วนสำคัญต่อการรับรส เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 สังกะสี และทองแดง เป็นต้น
  • สูบบุหรี่ เนื่องจากสารเคมีที่อยู่ในบุหรี่สามารถเปลี่ยนต่อมรับรสชาติได้
  • เส้นประสาทที่อยู่ตามทางเดินจากปากไปยังสมองเกิดความเสียหาย เนื่องจากเส้นประส่วนนี้มีหน้าที่ในการทำงานของตาและการรับรู้รสชาติ ซึ่งหากเกิดความเสียหายไม่ว่าจะเกิดการบาดเจ็บ หรือมีอาการป่วยบางอย่างก็อาจส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรสชาติได้

ถึงยังไงต่อมรับรสเปลี่ยนไปก็ยังไม่น่าหนักใจเท่าคนคุยอยู่เปลี่ยนไปละกัน!
-->