นั่งอยู่ติดกัน ทำไมยุงกัด ‘ชั้น’ แต่ไม่กัด ‘เธอ’

พูดถึงยุง คือแมลงที่เราคุ้นชินกันเป็นอย่างดีโดยเฉพาะยุงเพศเมีย ที่จะคอยกัดเราจนเกิดตุ่มคัน เอ้ย!! ไม่ใช่สิ จริงๆ แล้วยุงมันไม่ได้กัดเรา แต่ยุงตัวเมียใช้วิธีการนำท่อจากปากเจาะเข้าบริเวณรูขุมขน เพื่อดูดเลือดและนำไปทำให้ไข่ในท้องสุก จนถึงการวางไข่ในลำดับต่อมา 

แต่คุณเคยสังเกตมั้ยว่า ทำไมบางคนถึงไม่ค่อยโดนยุงกัดเลย แม้ว่าจะแต่งตัวล่อเป้าขนาดไหน ซึ่งผิดกับบางคนที่ถึงจะแต่งตัวมิดชิด ชนิดที่ว่าถ้ามัมมี่มาเจอยังนึกว่าเป็นเพื่อนกัน แต่สุดท้ายก็ยังไม่รอดจากการที่ยุงใช้ปากเจาะทะลุผ้ามาดูดเลือด วันนี้ Health Addict จะมาเผยถึงความลำเอียงของยุงว่า ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแรกของมัน




สุขภาพดี..ใช่ว่ายุงจะกลัว
ประเดิมกันด้วยกลุ่มแรกที่เป็นเป้าหมาย คือกลุ่มของคนที่ชอบออกกำลัง โดยเฉพาะช่วงหลังออกกำลังกายที่มีการหายใจหอบและถี่ ซึ่งระหว่างนั้นคนที่ออกกำลังกายจะคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นจำนวนมากกว่าปกติ และสิ่งนี้เองจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดและบอกพิกัดให้ยุงเข้ามาหา โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยสาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลว่า ยุงจะมีตัวรับสัญญาณเคมี (Chemical Sensors) ที่จะสามารถหาเหยื่อจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไกลถึง 100 ฟุต 
ยังไม่หมดแค่นั้น ยุงยังชื่นชอบคนที่มีอุณหภูมิร่างกายที่สูง และมันจะใช้อวัยวะพิเศษตรวจจับกลิ่น (Maxillary Palps) คอยตรวจจับกลิ่นแอมโมเนียจากเหงื่อ ดังนั้นกลุ่มแรกที่จะโดนกลุ่มยุงตัวเมียกระหน่ำดูดเลือดก็คือกลุ่มนักกีฬาที่มีเหงื่อเปียกโชกนั่นเอง


คนอ้วนไม่ได้เป็นเป้าหมายของยุงมากกว่าคนผอม
หลายๆ คนมีความเชื่อว่า ยุงจะบินเข้าไปหาคนที่มีรูปร่างอ้วน หรือตัวใหญ่ เพราะว่ามองเห็นได้ง่ายและชัดกว่า ความเชื่อนั้นจะต้องถูกลบออกจากสารบบทันที เพราะข้อมูลจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติให้ข้อมูลว่า ขนาดของเหยื่อไม่มีผลต่อการมองเห็นของยุงแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่ยุงจะใช้ตรวจจับนอกจากอุณหภูมิและกลิ่มแอมโมเนียแล้ว ยังเป็นเรื่องของระบบเผาผลาญในร่างกาย เพราะในคนที่มีระบบเผาผลาญที่ดี (BMR : Basal Metabolic Rate) จะมีกรดแลคทิก (Lactic Acid) ที่ซ่อนอยู่ในกล้ามเนื้อสูง และกรดตัวนี้เองจะเป็นตัวล่อให้ยุงเข้ามาหา เพราะฉะนั้นใครที่มีระบบเผาผลาญดีเช่นนักกีฬา หรือคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ก็ต้องยอมรับหน่อยนะว่าจะกลายเป็นคนเนื้อหอมในหมู่ยุงตัวเมียไปโดยปริยาย

สีสันสดใสของเสื้อผ้า..ใช่ว่าจะทำให้ยุงมองเห็นง่ายขึ้น
คุณ Michael Dickinson ผู้เชี่ยวชาญด้านยุง จาก California Institute of Technology ได้ทำวิจัยรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับยุงร่วมกับ University of Washington และได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ถ้าให้พูดถึงแมลงที่มีสมองเท่าเม็ดทรายอย่างยุงนั้น ประสาทสัมผัสเรื่องการมองเห็นจะมีทัศนวิสัยเพียงแค่ 10 เมตรเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าการดมกลิ่นของมันถึง 3 เท่า ดังนั้นเมื่อยุงตัวเมียต้องการโปรตีนจากเลือดไปเลี้ยงไข่ในท้องให้สุก มันจะเริ่มจากการดมกลิ่นก่อน หรืออาจใช้เรดาร์จับความร้อนของเหยื่อ ซึ่งประเด็นนี้เองก็เป็นคุณสมบัติของเสื้อผ้าสีเข้ม ที่จะมีลักษณะพิเศษคือดูดความร้อนได้ดี และยังเป็นสีที่คายความร้อนได้ช้ากว่าเสื้อผ้าสีอ่อน และเมื่อยุงจับความร้อนจากเหยื่อได้ก็จะค่อยๆ บินตามอุณหภูมินั้นเข้ามา พอถึงระยะที่เริ่มมองเห็น เลนส์ตาของยุงที่มีจำนวนมาก ก็จะโฟกัสกับเสื้อผ้าสีเข้มได้ดีกว่าสีสว่าง ยิ่งถ้าเป็นคนที่ใส่เสื้อผ้าสีเข้มที่เพิ่งออกกำลังกายเสร็จใหม่ๆ และยืดกล้ามเนื้อในพื้นที่มืดๆ หน่อย จุดนี้ก็การันตีได้ว่าถ้ายุงตัวโตกว่านี้อีกนิด มันคงแทบจะเรียกผองเพื่อนทั้งหลายมาอุ้มคุณกลับรังได้เลยทีเดียว

Fake หรือ Fact ที่ยุงจะเลือกเหยื่อจากหมู่เลือด
พูดถึงเหยื่อของยุงทั้งหมด หลายคนคงพอได้รับข้อมูลมาว่า ผู้ที่มีหมู่เลือด O มีโปรตีนในเลือดที่หอมหวานที่สุดสำหรับยุงเมื่อเทียบกับหมู่เลือดอื่น แต่จากการยืนยันจาก ผศ.ดร.ดวงแข สิทธิเจริญชัย รองหัวหน้าภาคฝ่ายวิชาการ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า อันที่จริงแล้วยุงจะไม่สามารถรู้ได้ว่าใครมีหมู่เลือดไหน แต่หลักๆ ที่ยุงจะใช้หาเหยื่อคือ ความร้อนจากตัว กลิ่น และคาร์บอนไดออกไซด์ที่ออกมาจากเหยื่อเท่านั้น และเหยื่อส่วนใหญ่ที่จะกลายเป็นเป้า ก็คือเหล่าบรรดาสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิดนั่นเอง เลยเป็นที่มาของการไขคำถามที่ว่า ถ้าเราเอาเลือดสดๆ มาตั้งไว้ในกาละมังชามใหญ่ เพื่อล่อยุงให้ไปอีกทางนั้นจะใช้ได้ผลหรือไม่ คำตอบคือการที่เราแบบนั้นจะกลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำทันที เพราะยุงจะไม่บินเข้าไปหาเลือดในกาละมังนั้นแน่นอน เพราะเลือดในชามนั้นมีอุณหภูมิเท่ากับพื้นที่รอบๆ และไม่มีการคายก๊าซคาร์บอกไดออกไซด์ออกมาให้ยุงตรวจจับนั่นเอง

เมื่อรู้ว่ายุงมีแต่ภัยร้าย...ทำไมเราไม่ทำให้ยุงสูญพันธ์ไปให้หมด
อย่างที่เรารู้กันว่ายุงคือพาหะนำเชื้อหลายชนิดมาแพร่แก่คนและสัตว์ เช่น ไข้เลือดออกเดงกี่ ไข้สมองอักเสบ และมาลาเลีย แต่ทำไมเราถึงคิดค้นได้แค่ผงทรายอะเบท(Abate Sand Granules) หรือที่ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่าทรายเคมีฟอส ซึ่งเป็นเม็ดทรายที่เคลือบด้วยสารเคมีที่มีฟอสฟอรัสเป็นส่วนประกอบหลัก โดยมีคุณสมบัติช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลาย หรือบางครั้งถ้าเราตัดต้นของลูกน้ำยุงลายไม่ทัน ก็จะมียาจุดกันยุง หรือสเปรย์ฆ่าแมลงชนิดทันใจหลายๆ ยี่ห้อคอยช่วย แต่ที่จริงแล้วลูกน้ำหรือแม้กระทั่งตัวยุงเองก็เป็นสัตว์ในระบบนิเวศ ซึ่งถ้าพูดถึงห่วงโซ่อาหาร สุดท้ายแล้วยุงหรือลูกน้ำที่เคราะห์ร้ายก็จะกลายเป็นอาหารอันโอชะให้แก่ ปลา กบ และแมลงอื่นได้เช่นกัน ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับระบบนิเวศเปิดเผยว่า ถ้าหากโลกเราปราศจากยุงแล้ว เหล่าบรรดาปลา กบ หรือแมลงบางชนิดก็จะค่อยๆ มีลดลงไปอีกด้วย ดังนั้นเมื่อเราไม่สามารถกำจัดยุงให้หายวับไปจากโลกเราได้ เราก็คงต้องอยู่กับมันไปตลอด โดยค่อยๆ หาวิธีป้องกันตัวเราเพื่อไม่ให้กลายเป็นเป้าของยุง

วิธีสร้างเกราะป้องกันยุงด้วยตัวเราเอง
อย่างที่พูดไปข้างต้นแล้วว่า ยุงจะตรวจจับเหยื่อจากอุณหภูมิร่างกาย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ และกลิ่นแอมโมเนียจากเหงื่อของมนุษย์ ลำพังจะให้เราลดอุณหภูมิของร่างกายก็เกรงว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะปกติแล้วร่างกายเราก็จะถูกเซตมาให้อยู่ที่ระหว่าง 36.5-37.4 องศาเซลเซียส หรือถ้าจะให้เราคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลง ส่วนนี้ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะจะมีทางเดียวเท่านั้นที่ทำแบบนั้นได้นั่นก็คือการไม่หายใจออก ทำให้หนทางสุดท้ายที่เราจะทำได้คือ เปลี่ยนหรือลดกลิ่นตัวเรานั่นเอง และในทุกวันนี้ก็มีสเปรย์หรือครีมทาผิวหลายสูตร ถูกผลิตออกมาเพื่อตอบโจทย์ และที่น่าดีใจมากคือ ตะไคร้หอมในบ้านเรานี่แหละ เป็นสมุนไพรไทยอันดับ 1 ที่ถูกนำมาใช้และเห็นผลเป็นอย่างดี รองลงมาก็เป็นกลิ่นลาเวนเดอร์ ยูคาลิปตัส กานพลู และขมิ้นชันตามลำดับ เพราะฉะนั้น ถ้าใครที่ค่อนข้างมีอาการแพ้รุนแรงมากในตัวยุง นอกจากจะทาบนตัวแล้ว ยังหาสเปรย์พ่นรอบห้องที่เราอยู่ด้วยกลิ่นพวกนี้ หรือสายรักธรรมชาติก็หาต้นพวกนี้มาปลูกในห้อง รับรองว่าเหล่ายุงร้ายจะค่อยๆ อพยพออกไปอย่างแน่นอน

สี่เท้ายังรู้พลาด..นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
ไม่ว่าเราจะวางยุทธศาสตร์กี่กระบวนทัพยังไง ก็ต้องมีสักวันที่เราต้องพลาดโดนยุงกัดจนเกิดตุ่มแดงที่สุดแสนจะคันขึ้น อันที่จริงแล้วการที่เรามีตุ่มหรือแพ้ยุงนั้นเราไม่ได้แพ้ที่ตัวของมัน แต่เราแพ้น้ำลายของยุง เพราะขณะที่ยุงดูดเลือดเรานั้น มันจะปล่อยโปรตีนออกมาเพื่อไม่ให้เลือดของเราแข็งตัว จากนั้นพอมันกินอิ่มก็จะบินหายไป หลงเหลือไว้ซึ่งโปรตีนตัวนั้น หรือบางสายพันธุ์ เช่นยุงลายก็ฝากเชื้อไว้ในร่างกายเราด้วย จนในที่สุดกว่าเราจะรู้ว่ามียุงกัดเรากี่จุด เวลาก็ล่วงเลยไปเกือบ 1 ชั่วโมง โดยร่างกายเราจะแสดงอาการออกมาแล้วแต่คน บางคนก็มีตุ่มนูนแดง หรือบางคนก็ถึงกับเป็นตุ่มพองน้ำ เมื่อเห็นอย่างงั้นแล้วมนุษย์อย่างเรามีหรือจะอดใจไหว บ้างก็เอาเล็บจิกลงตรงกลางตุ่มให้เป็นรูปเครื่องหมายบวก หรือบ้างก็เกาด้วยความสะใจ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า พฤติกรรมนั้นจะยิ่งทำให้น้ำลายยุงแพร่กระจายไปส่วนอื่น และอาจทำให้ผิวหนังที่เราเกาเกิดการติดเชื้อได้อีก เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่เราจะทำได้ในเบื้องต้นคือ หายา Calamine หรือ Menthol มาทาเพื่อลดอาการคัน หรือถ้าใครที่เป็นสายออร์แกนิคก็ลองหาตำลึงหรือขมิ้นล้างสะอาด จากนั้นโขลกให้ละเอียดแล้วนำมาทาบริเวณตุ่ม ก็จะช่วยให้ลดอาการคันได้ดีเช่นกัน

เป็นยังไงบ้างสำหรับเรื่องราวของยุง ที่เมื่อเรารู้ว่ามันจะสร้างอันตรายได้มากโดยเฉพาะตอนที่สามารถบินออกหาเหยื่อได้ ยิ่งในหน้าฝนแบบนี้ ที่หันไปทางไหนก็เจอแต่น้ำขัง จะเป็นการดีกว่ามั้ยถ้าเราเริ่มแก้ปัญหาตั้งแต่จุดแรก นั่นคือการลดการวางไข่ของยุงให้เหลือน้อยที่สุด ตามโครงการรณรงค์ต่างๆ ที่ให้คว่ำหม้อ คว่ำไห เพื่อให้เราและคนที่เรารัก ห่างไกลจากโรคต่างๆ ที่มียุงเป็นพาหะ
-->