มารู้จักกับ ‘ลมพิษ’ ที่มากับฝุ่น PM2.5

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 ที่มีมากจนเกินค่ามาตรฐานนั้น เป็นสิ่งที่พบเจอกันบ่อยจนแทบจะชินชนิดที่ว่าใส่หน้ากาก N95 มาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาดซะอีก ด้วยความที่ฝุ่นมีอนุภาคขนาดเล็กมาก ทำให้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย โดยมีงานวิจัยหลายงานที่ระบุว่าฝุ่น PM2.5 สามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง และทำให้เกิดลมพิษได้ด้วย!



ลมพิษคืออะไร ทำไมมากับฝุ่น?
อธิบายคำว่า ‘ลมพิษ’ ให้เข้าใจกันแบบสั้นๆ ก่อนว่า ลมพิษ (Urticaria) คือโรคผิวหนังที่มีผื่นนูนแดง ไม่มีขุย แต่มีอาการคัน โดยขนาดของตัวผื่นสามารถใหญ่ได้ตั้งแต่ครึ่งซม. ไปจนถึงกว่า 10 ซม. กระจายอยู่ทั่วร่างกาย แต่มักจะคงอยู่ไม่นาน และหายไปภายใน 24 ชั่วโมง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหนักถึงขั้นหอบหืด และเป็นลมจากการที่ความดันโลหิตลดต่ำลง

ทีนี้ ลมพิษมันเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ยังไง? ก็ต้องไปย้อนดูสาเหตุของโรคลมพิษกันก่อน ลมพิษนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุมากๆ ไม่ว่าจะจากอาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเล หรือจากการแพ้ยาบางชนิด การติดเชื้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือพญาธิ แต่สาเหตุที่น่าจะเกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 โดยตรงเลยคือ ลมพิษที่มาจากปฏิกิริยาของผิวหนังที่ตอบสนองต่อความผิดปกติต่างๆ ซึ่งในที่นี้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ในอนุภาคขนาดเล็กเหล่านั้น

แล้วใน PM2.5 มีอะไร ทำไมทำให้เป็นลมพิษ?
มลพิษที่ลอยอยู่ในอากาศอย่าง PM2.5 นั้น ประกอบไปด้วยสารอันตรายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แคดเมียม ปรอท โลหะหนัก ไฮโดรคาร์บอน และสารก่อมะเร็งอีกจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดมีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ทำให้สามารถเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

เมื่อเราออกไปอยู่ในที่ที่มีฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ฝุ่นเหล่านี้จะสามารถแซกซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนัง ซึ่งเป็นอวัยวะที่ปกคลุมอยู่ทั่วร่างกาย โดยจะทำลายเซลล์ผิวหนังกำพร้า ทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง นอกจากนี้ยังทำลายโปรตีน Filaggrin ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องผิว อีกทั้งยังสามารถจับตัวกับโลหะต่างๆ เข้าสู่ผิวหนัง กระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบของเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นลมพิษขึ้นมาได้

ทั้งนี้ต้องบอกว่าไม่ใช่ทุกคนที่สัมผัสกับฝุ่น PM2.5 จะต้องมีผื่นลมพิษขึ้นนะ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างมากๆ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณฝุ่น ระยะเวลาที่สัมผัสกับฝุ่น หรือความแข็งแรงของร่างกายของแต่ละคนเอง แต่จากงานวิจัยในต่างประเทศนั้นระบุว่าเซลล์ผิวหนังมนุษย์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 ความเข้มข้น 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 2 ชั่วโมงขึ้นไป

ยังไงก็ต้องระวังกันให้ดีเลย เพราะใส่หน้ากาก N95 แล้วก็ใช่ว่าจะปลอดภัยไปซะหมด ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการอยู่หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่มีค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานก็จะเซฟที่สุด
-->