รับมืออาการวิตกจริต ให้ชีวิตรอด! (จากโรค) ในทุกซีซั่น

 
ถึงจะใช้ชีวิตอยู่กับเชื้อไวรัสโคโรน่ามาปีกว่าแล้ว แต่ก็ยังทำตัวให้ชินไม่ได้สักที ไหนจะเชื้อไวรัสที่ขยันพัฒนาสายพันธุ์ไวยิ่งกว่าการอัพเดตเฟิร์มแวร์ ไหนจะมาตรการรับมือที่เปลี่ยนแปลงไปมาพาให้ปวดหัวยังไม่พอ ยังทำเอานอยไปอีกว่าจะมีอาการของโควิด-19 นี้หรือเปล่า ไหนจะต้องคอยระแวงระวังทั้งตัวเองและคนรอบข้าง เรียกว่าสารพัดเรื่องน่ากังวลที่ทำเอาวิตกจริต จนยังไม่พร้อมรับมือที่ต้องออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน 
 
ยิ่งไปกว่านั้นยังได้มีผลการวิจัยชิ้นใหม่ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่พบหลักฐานว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคทางจิตเวช (psychiatric disorders) เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคนอนไม่หลับ มากเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับอาการเจ็บป่วยอื่นๆ โดยพบว่า 5.8% หรือ 1 คนในทุกๆ 17 คนของผู้ติดเชื้อจะมีอาการป่วยทางจิตภายในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากได้รับเชื้อ ก็ยิ่งทำให้นอยหนักขึ้นไปอีก เอาเป็นว่าอย่าเพิ่งคิดไปไกล ตั้งสติ รับมือ เรียนรู้ และปรับตัวกันไปก็คงพอช่วยให้รอดพ้นซีซั่นนี้ไปได้อยู่ล่ะนะ

 
นี่เราเข้าขั้นวิตกจริตหรือยังนะ
ความวิตกกังวล เป็นภาวะทางจิตที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในช่วงที่กำลังประสบเหตุการณ์บางอย่างที่รู้สึกว่าอยู่เหนือการควบคุม หรือยังไม่สามารถหาทางออกกับบางเรื่องได้ ซึ่งจะสามารถหายไปได้เองในช่วงเวลาไม่นาน หรือจะหายไปก็ต่อเมื่อสามารถหาทางออกให้กับเรื่องนั้นได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ความกังวลนั้นเพิ่มระดับขึ้นจนเกินจะควบคุม ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คือทำให้กินไม่ลง นอนไม่หลับ หรือเกิดความหงุดหงิด นั่นแปลว่าคุณกำลังเข้าข่ายที่จะเป็นภาวะวิตกจริต ต้องรีบหาทางสลัดออก ก่อนที่จะลุกลามส่งผลกระทบไปถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆ 
 
แต่ด้วยปัญหาที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ก็เข้าใจดีว่าจะให้ไม่วิตกกังวลเลยก็คงยาก ถ้าอย่างนั้นคงต้องเรียนรู้วิธีรับมือ และใช้ชีวิตอยู่กับปัญหานี้ไปให้ได้ โดยการ
 
ไม่ทำให้เรื่องเลวร้ายลงไปอีก
คือ ต้องมีวินัยตั้งการ์ดดูแลตัวเองให้ดีอย่างที่เป็นมา เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ งดการสัมผัสใบหน้าโดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ปฏิบัติตัวตามกฏของสถานที่ที่ไปอย่างเคร่งครัด รวมถึงเพิ่มความระมัดระวังทั้งในบ้านและนอกบ้านให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดปัญหาน่าปวดหัวที่จะตามมาได้
 
 เว้นระยะห่างจากข่าวสารบ้าง
ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาดที่ยังไม่นิ่งสักที รวมถึงหลายหลายเรื่องราวที่น่าหดหู่ในแต่ละวัน จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมภาวะความเครียดที่มีมากอยู่แล้วให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก ซึ่งการเกาะติดโซเชี่ยล หรือติดตามข่าวสารอยู่ตลอดอาจทำให้จิตตกได้ เพราะฉะนั้นควรพาตัวเองถอยห่างออกมาบ้าง กำหนดเวลาการเล่นโซเชี่ยล แล้วหันมาติดตามข่าวสารจากแหล่งที่น่าเชื่อถือเพียงวันละครั้งสองครั้ง เพื่อเป็นการติดตามข่าวสารแบบพอดี โดยไม่ตกเหยื่อของเฟคนิวส์ทั้งหลายด้วย
 
 กักตัวกักไป อย่ากักใจก็พอ
เพราะในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลแบบนี้ การติดต่อสื่อสารโดยเว้นระยะห่างไม่ใช่ปัญหา เพียงแค่รู้จักใช้ช่องทางโซเชี่ยลให้เป็นประโยชน์ ในการติดต่อสื่อสารพูดคุยกับคนในครอบครัว หรือเพื่อนๆ เพื่อเป็นการแบ่งปันเรื่องราวหรือความวิตกกังวลที่มี แถมยังชวยเพิ่มความสุขความสบายใจในภาวะวิกฤตแบบนี้ได้อีก
 
 ระวังไว้ แต่ไม่ระแวง
เมื่อถึงเวลาจำเป็นที่ต้องออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน ไม่ว่าจะออกไปเรียน ทำงาน หรือช้อปปิ้งของจำเป็น นอกเหนือจากไอเท็มป้องกันตัวต่างๆ ที่ต้องเอาติดตัวก่อนจะก้าวออกจากบ้านแล้ว ‘สติ’ ก็เป็นีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืม เพื่อจะได้รู้ตัวอยู่เสมอก่อนและหลังหยิบจับสิ่งของ หรือทำอะไรก็ตาม เพราะถ้าหากว่าคุณมีการป้องกัน และระมัดระวังอย่างดีเพียงพอแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องระแวงว่าผู้คนที่เดินสวนผ่านไปมาจะมีเชื้อโควิด-19 หรือไม่
 
 ให้กำลังใจ ไม่ซ้ำเติมกัน
ไม่มีใครหรอกที่อยากเจ็บไข้ได้ป่วย โดยเฉพาะกับโรคร้ายนี้ ดังนั้นหากว่ากลับไปใช้ชีวิตในสังคมแล้วมีโอกาสได้เจอะเจอกับคนที่เคยติดเชื้อ หรือมีคนใกล้ชิดติดเชื้อ แทนที่จะแสดงท่าทีรังเกียจ ซึ่งมีแต่จะเป็นการสร้างความรู้สึกด้านลบให้เกิดขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย จะดีกว่ามั้ยถ้าหยิบยื่นกำลังใจ  และพูดคุยสอบถามแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อนำมาใช้เตรียมการสำหรับดูแลตัวเองต่อไป 
-->