เที่ยวสายไหน ก็ต้องระวัง (โรค)​ ภัย (ไข้เจ็บ)​ ถามหา

พอเข้าสู่ช่วงปลายปีรู้นะว่ามีหลายคนแอบวางแผนใช้วันลาที่เหลืออยู่ ดีไม่ดีบางคนนี่จัดกระเป๋าเดินทางพร้อมรอแล้ว ซึ่งถึงแม้ว่าสไตล์การท่องเที่ยวที่แตกต่างจะทำให้จุดหมายปลายทางของแต่ละคนต่างกัน แต่สิ่งที่นักเดินทางควรจะต้องมีเหมือนกันคือ ความระมัดระวังโรคภัย



ถึงแม้จะมีการศึกษาด้านโรคหัวใจโดย Framingham Heart Study บอกว่าหญิงสาวที่ออกเดินทางท่องเที่ยวเพียง 1 ครั้งในช่วงเวลา 6 ปี มีแนวโน้มจะเกิดภาวะหัวใจวายหรือเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น 8 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงอีกกลุ่มที่ท่องเที่ยวปีละ 2 ครั้ง แต่ก็ยังมีโรคอื่นๆ ที่พร้อมจะจู่โจมได้ทุกเมื่อ 



#สายแคมป์ปิ้ง


 
  • โรคไข้รากสาดใหญ่ (Scrub typhus) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากตัวไรอ่อน ที่อาศัยอยู่ตามกอไม้กอหญ้าใกล้กับพื้นดิน โดยจะชอบไต่ไปตามยอดหญ้าแล้วกระโดดเกาะตามเสื้อผ้า เพื่อกัดผิวหนังและกินน้ำเหลือง การป้องกันทำได้ยาก ด้วยขนาดที่เล็กมากเพียง 1 มม. เท่านั้น หลังจากถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัดประมาณ 10 - 12 วัน อาจมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และบริเวณที่ถูกกัดอาจจะมีผื่นแดงขนาดเล็กค่อยๆ นูนหรือใหญ่ขึ้น รวมทั้งอาจเป็นแผลคล้ายบุหรี่จี้ (Eschar) แต่จะไม่ปวดหรือคัน ในบางรายอาจหายได้เอง แต่ก็สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ และอาจทำให้เสียชีวิตในบางรายได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นมื่อไปตั้งแคมป์ในป่า ควรเลือกทำเลที่โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่ง หรือนอนบนพื้นหญ้า ควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด ปกปิดผิวหนังตนเองจากแมลงและสัตว์ต่างๆ รวมทั้งหมั่นทายากันยุง และยาป้องกันแมลงสัตว์กัดต่อย นอกจากนี้หลังจากไปตั้งแคมป์ในป่าประมาณ 2 สัปดาห์ ควรต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการของตัวเอง
 
  • โรคมาลาเรีย สายตั้งแคมป์ที่ชอบจับจองพื้นที่แถวชายป่าหรือริมน้ำธรรมชาติ จะต้องระวังยุงก้นปล่องไว้ให้ดี เพราะมีพฤติกรรมชอบวางไข่ในแหล่งน้ำ โดยยุงชนิดนี้เป็นพาหะของเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม (Plasmodium) ที่ทำให้มีอาการคล้ายกับการเป็นไข้หวัด เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหารร่วมด้วย ที่สำคัญจะมีอาการเหนื่อยและอ่อนเพลีย โดยอาจมีอาการอยู่ในระยะสั้นหรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของเชื้อมาลาเรียแต่ละชนิด ดังนั้นทางที่ดีในการป้องกันจึงควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงไม่ให้โดยยุงกัด และหากมีอาการป่วยที่น่าสงสัยหลังจากไปตั้งแคมป์ควรปรึกษาแพทย์ทันที
  • โรคไข้เลือดออก เกิดการเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) ที่มาพร้อมกับยุงลาย ซึ่งชอบอยู่ตามมุมมืดในซอกหลืบต่างๆ รวมถึงชอบออกหากินตอนกลางวัน จึงทำให้ผู้ที่ชอบออกไปตั้งแคมป์โดยยุงลายกัดเข้าได้ในช่วงกลางวัน อาการของโรคจะคล้ายกับไข้หวัด แต่ผู้ที่เป็นโรคไข้เลือดออกมักจะมีไข้สูงเกิน 38.5 จนถึง 40 - 41 องศาต่อเนื่องกัน 2-7 วัน ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจจะพบจ้ำเลือด หรือจุดเลือดสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออก เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปวดท้องรุนแรง กดเจ็บชายโครงด้านขวา สำหรับคนที่มีอาการไข้เลือดออกรุนแรงมาก หลังจากมีไข้มาหลายวันแล้วอาจเกิดภาวะช็อกเนื่องจากการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว (Dengue shock syndrome) และอาจเสียชีวิตได้ แต่หากไม่เกิดอาการช็อกหลังจากมีไข้สูง 2 - 7 วัน จะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว ไข้เริ่มลด ระบบไหลเวียนเลือดก็จะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ และค่อยๆ ดีขึ้นใน 2 – 3 วัน การป้องกันตัวเองสามารถทำได้เช่นเดียวกับโรคมาลาเรีย
 
  • โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) คือโรคปอดชนิดหนึ่งที่มีอาการคล้ายกับโรคปอดบวม เกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อรา Histoplasma capsulatum ที่มักพบได้ในพื้นที่อับชื้นตามธรรมชาติ และในมูลของสัตว์ปีก โดยเฉพาะนกและค้างคาว ซึ่งหากเราเผลอสูดดมสปอร์ของเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไปก็อาจเกิดการติดเชื้อในปอดได้ แต่อาการไม่มีการแสดงอาการใดๆ หรือมีอาการเล็กน้อยคล้ายผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ หายใจหอบ เจ็บหน้าอก เสียงแหบ ไอเป็นเลือด นอกจากนี้ยังอาจมีไข้ ปวดเมื่อย ไม่มีแรง น้ำหนักตัวลด ตลอดจนมีอาการปอดบวมรุนแรง หรืออาจพบการติดเชื้อในอวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม ไขกระดูก ไปจนถึงการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลางได้ 

#สายชิลที่ทะเล

 
  • ท้องเสียจากโนโรไวรัส (Norovirus) เชื้อไวรัสที่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หากว่ากินอาหารทะเลที่ปนเปื้อนเชื้อดังกล่าว ทั้งยังอาจเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ทำให้มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ และมีไข้ต่ำ หรือบางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น อุจจาระมีเลือดปน ถ่ายเหลวหรืออาเจียนติดต่อกันเกิน 2 – 3 วัน หากไม่รีบพบแพทย์อาจเสี่ยงภาวะขาดน้ำได้ ในการรักษาแพทย์จะรักษาตามอาการ ซึ่งการกินอาหารที่ถูกสุขอนามัย เลือกใช้ภาชนะที่สะอาด และล้างมือบ่อยๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการรับเชื้อไวรัสชนิดดังกล่าวได้

#สายโกอินเตอร์
นอกเหนือจากโรคมาลาเรียและโรคไข้เลือดออก ที่ยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีการรักษาโดยเฉพาะ ทั้งยังพบได้ในสายแคมป์ปิ้งแล้ว ยังมีโรคอื่นๆ เหล่านี้ นักเหล่านัก (ท่อง) เที่ยวต้องระวัง

 
  • โรคพยาธิใบไม้ในเลือด (Schistosomiasis) พบทั่วไปในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยมีหอยทากน้ำจืดเป็นพาหะของโรค ซึ่งสามารถแพร่กระจายโดยการสัมผัสกับแหล่งน้ำที่มีพยาธินั้น หรือมาจากหนอนพยาธิ ซึ่งเป็นตัวทำให้ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ มีอาการปัสสาวะและอุจจาระแบบมีเลือดปน 
 
  • โรคไข้เหลือง พบมากที่สุดในพื้นที่ทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ เกิดจากยุงที่เป็นพาหะ ทำให้มีอาการหนาวสั่น ปวดศีรษะ เมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งประมาณ 50% ของผู้ที่ติดเชื้อขั้นรุนแรง อาจถึงตายได้ การรักษายังไม่สามารถทำได้ด้วยยา มีเพียงวัคซีนที่ฉีดป้องกัน ดังนั้นหากจะเดินทางไปในพื้นที่ดังกล่าวจึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อนจะดีกว่า
 
  • วัณโรค นับเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจาก HIV สามารถเกิดขึ้นได้ทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งสามารถติดต่อจากการไอหรือจามของผู้ป่วยที่มีเชื้อ ทำให้เชื้อโรคฟุ้งกระจายในอากาศ ซึ่งบางรายอาจไม่แสดงอาการ และประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยที่มีเชื้อแฝงสามารถเสียชีวิตมากกว่า 50%
 
  • ท้องเสีย เกิดจากการกินอาหารที่มีเชื้อแบคทีเรียไวรัสหรือโปรโตซัว ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย และหมดสนุก เพราะมัวแต่วิ่งหาห้องน้ำ
 
  • อีโบลา มีอาการเบื้องต้นหนาวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บคอ อ่อนเพลีย ซึ่งในปัจจุบันนี้มีประเทศที่นักเดินทางได้รับเชื้ออีโบลากลับมา 5 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน ไนจีเรีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตถึงร้อยละ 90 
 
  • โรคไลม์ คือโรคที่เกิดจากเห็บ พบมากในทวีปอเมริกาเหนือ มีอาการเป็นไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และอาจถึงตายได้หากเชื้อแพร่กระจายไปยังข้อต่อหัวใจและระบบประสาท 
 
  • โรคตับอักเสบเอ แพร่กระจายตามแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนและอาหารที่ไม่ได้ผ่านการปรุง ซึ่งผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเมื่อจะต้องไปประเทศที่มีการระบาดควรได้รับวัคซีน 4 สัปดาห์ก่อนเดินทาง

ไม่ว่าจะเลือกปักหมุดที่จุดหมายไหน ก็อย่าลืมระวัง (โรค)​ ภัย (ไข้เจ็บ)​ จะที่จะถามหานักเดินทางสายต่างๆ เหล่านี้ด้วยแล้วกัน
-->