เพราะโลกอยากให้เราหลับ



เมื่อ 19 ปีที่แล้ว หรือตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา สมาคมการแพทย์เพื่อสุขภาพและวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ พบว่าปัญหาใหญ่ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนทั่วโลกก็คือการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็น... การไม่มีเวลานอนเพราะต้องทำงานหนัก นิสัยของคนยุคใหม่ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการนอน หรือแม้แต่การอยากนอนแต่มีภาวะความเจ็บป่วยทางกายหรือทางใจที่ทำให้นอนไม่หลับ หรือต้องหลับๆ ตื่นๆ ตลอดคืน จากปัญหานี้เอง...   

ทุกวันศุกร์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม จึงถูกกำหนดให้เป็น "World Sleeping Day" หรือ “วันนอนหลับโลก” ซึ่งในปี 2019 นี้ตรงกับวันที่ 15 มีนาคม
ว่าแล้ว... ก็ขอใช้โอกาสนี้สำรวจคุณภาพการนอนของตัวเองว่า... เราหลับได้ดีพอหรือยัง

เพราะการนอนไม่หลับ ไม่ใช่แค่การหลับไม่ลง
บางคนอาจจะคิดว่า การนอนไม่หลับคือการหลับไม่ลงหรือหลับยาก แต่จริงๆ แล้วมันหมายรวมถึงการนอนหลับที่ไม่ดีพอต่อการพักผ่อน ทำให้เกิดเป็นภาวะหลับไม่พอ โดยเราอาจจะสังเกตตัวเองได้ง่ายๆ ว่าเราหลับดีพอหรือไม่ โดยดูว่าเรามีอาการเหล่านี้บ้างไหม
  • ตื่นนอนในตอนเช้าแล้วรู้สึกไม่สดชื่น มึนๆ อึนๆ
  • รู้สึกง่วงนอนตอนนั่งรถ หรือขับรถไปเรียนไปทำงาน
  • จากคนที่เคยใจเย็น กลายเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย
  • รู้สึกเครียดอยู่เสมอ สมองไม่ปลอดโปร่ง
  • ขาดสมาธิ ความจำเริ่มแย่ หลงลืมสิ่งในเรื่องที่ทำเป็นประจำ
  • จะตัดสินใจอะไรต่างๆ ยากขึ้น คิดช้าลง
  • รู้สึกอ่อนเพลียไม่หาย
  • ประสิทธิภาพในการเรียนการทำงานแย่ลง
หากคุณมีปัญหาเหล่านี้อาจสันนิษฐานได้ว่าเกิดจาก "การนอนที่ไม่มีคุณภาพ" ดังนั้น ให้เริ่มจากการปรับการนอนเสียใหม่ เผื่อว่าจะทำให้อะไรๆ ดีขึ้น

10 วิธีง่ายๆ ที่ทำได้เลย

1.อาบน้ำอุ่นในตอนเย็น ดื่มนมอุ่นๆ 1 แก้วก่อนนอน
2.ปิดไฟเพดานห้องอย่างน้อย 30 นาทีก่อนถึงเวลานอน แล้วเปิดแค่โคมไฟหัวเตียงที่มีแสงอ่อนๆ ทดแทน
3.จัดสภาพห้องนอนให้สะอาด เงียบสงบ ไม่มีแสงเข้า มีอุณหภูมิเหมาะสม
4.ลด ละ เลิกการดูทีวี และงดใช้เครื่องมือสื่อสารต่างๆ 30 นาทีก่อนถึงเวลานอน อาจนั่งสมาธิ หรืออ่านหนังสือเบาสมอง
5.กำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงกันทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นวันทำงานหรือวันหยุด เพื่อให้นาฬิกาชีวิตคงที่
6.ตื่นแล้ว ให้ค่อยๆ ลุกจากที่นอน ไม่ใช้การเลื่อนเวลาปลุกของนาฬิกาในโทรศัพท์มือถือ และไม่ขอนอนต่ออีกหน่อย
7.เผื่อเวลาการตื่นให้พอที่จะออกกำลังกายเบาๆ สัก 15 นาที ก่อนอาบน้ำ
8.งดการนอนหรืองีบหลับในเวลากลางวัน แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ให้งีบได้ไม่เกิน 15 นาที
9.ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ ในแต่ละวันลง โดยเฉพาะหลังหกโมงเย็น
10.เข้าห้องน้ำทำธุระให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน เพื่อจะได้ไม่ต้องตื่นมาปัสสาวะกลางดึก

ถ้าเราปรับการนอนได้ดีแล้ว ให้ลองสังเกตว่าปัญหาต่างๆ ที่เคยมีลดน้อยลงหรือไม่ และหากช่วงไหนเกิดมีอาการหลับยากเป็นเดือนๆ  หรือนอนไม่หลับ หรือหลับๆ ตื่นๆ ติดต่อกันมากกว่า 1 สัปดาห์ ก็อย่าชะล่าใจ ควรหาเวลาไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานๆ โรคนอนไม่หลับอาจกลายเป็นโรคเรื้อรังประจำตัวที่รักษาได้ยาก

 

-->