เมื่ออาหารโดนแมลงวันตอม ยังจะกินต่อได้อยู่มั๊ย?




เรามั่นใจว่าทุกคนต้องเคยเจอกับปัญหาแมลงวันตอมอาหาร บางคนก็กินต่อไปโดยไม่สนใจอะไร แต่บางคนเจอปุ๊บทิ้งปั๊บ เพราะกลัวเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค ว่าแต่สรุปแล้วมันเป็นยังไงกันแน่ ตกลงแล้วแมลงวันตอมอาหารแล้วยังกินต่อได้หรือไม่? วันนี้เราจะมาเคลียให้ชัดๆ กันไปเลย 

เริ่ม !!!!

เชื้อโรค VS แมลงวัน
ก่อนอื่นรู้ไหมว่าแมลงวันมีเชื้อโรคมากกว่าแมลงสาบถึงสองเท่า!! เพราะแมลงวันชอบกินพวกเศษอาหาร เศษขยะ ของเน่าเสีย รวมไปจนถึงซากสัตว์ที่เต็มไปด้วยเชื้อโรค แบคทีเรีย และไวรัสอีกมากมาย ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้ก็จะติดหนึบอยู่บนตัวแมลงวัน และเมื่อมันมาตอมอาหารของเรา ก็แน่นอนว่ามันมีโอกาสที่เชื้อโรคเหล่านั้นจะแพร่กระจายมาสู่เราได้ 

งานวิจัยของ Penn State Eberly of Science ที่ทำร่วมกับ Nanyang Technological University, Singapore ได้ทำการศึกษาจนพบว่าสิ่งสกปรก เชื้อโรค แบคทีเรีย และไวรัสต่างๆ นั้นถูกสะสมไว้ที่ขาของแมลงวัน และในโมเม้นท์ที่แมลงวันพวกนั้นตอมอาหารของเรา ขาของมันก็ได้แตะโดนอาหารของเราเป็นที่เรียบร้อย และการแพร่กระจายของเชื้อโรคชั้นดีจากขาของแมลงวันไปสู่อาหารของเราก็เริ่มต้นขึ้น ซึ่งนี่แหละทำให้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคบิด อหิวาตกโรค หรือโรคไทฟอยด์

แมลงวัน...พาหะนำเชื้ออหิวาตกโรค
อย่างที่เราจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่าถ้าพูดถึงแมลงวัน ก็มักจะนึกถึงโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “วิบริโอคอเลอเร” (Vibrio cholerae) สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีอาการท้องร่วงเป็นน้ำและอาเจียนเป็นหลัก ซึ่งสามารถนำไปสู่ภาวะขาดน้ำและช็อกจนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตได้ในระยะเวลาสั้นๆ

อหิวาตกโรคถือเป็นโรคติดต่อที่เกิดการระบาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งคนเรานี่แหละเป็นแหล่งเก็บกักที่สำคัญของเชื้อชนิดนี้ โดยเชื้อโรคจะอยู่ในอุจจาระของผู้ติดเชื้อ (ทั้งผู้ป่วยและพาหะ) เมื่อถูกขับถ่ายออกมาก็จะสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้จากการปนเปื้อนต่าง ๆ เช่น อาหาร น้ำดื่ม ภาชนะใส่อาหาร มือของผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ล้างน้ำหลังถ่ายอุจจาระ สิ่งของและสภาพแวดล้อมที่ถูกมือของผู้ติดเชื้อสัมผัส โดยมีแมลงวันเป็นพาหะนำเชื้ออีกด้วย

ในเบื้องต้นหากเกิดการติดเชื้ออาจไม่มีอาการ เป็นเพียงพาหะหรือแหล่งสะสม แล้วค่อยแพร่เชื้อโรคไปยังคนอื่น คนที่มีอาการไม่รุนแรง จะปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลววันละหลายครั้ง อาจหายเป็นปกติภายใน 1 - 2 วัน ส่วนคนที่มีอาการรุนแรง จะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำสีขาวขุ่น คล้ายน้ำซาวข้าว กลิ่นเหม็นคาวจัด อาจมีอาเจียนร่วมด้วย หากไม่รีบไปพบแพทย์ อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ จนเกิดอาการอ่อนเพลีย ปากแห้ง กระหายน้ำ กระสับกระส่าย ตาลึกโหล ชีพจรเต้นเบา จนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

สรุปแล้ว! แมลงวันตอมปุ๊บ...เราต้อง "ทิ้ง" อาหารเลยมั๊ย?
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าแมลงวันตอมอาหารแล้ว เราต้องโยนอาหารทิ้งทันที เพราะบางทีถ้าแมลงวันมาเกาะอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ แค่เพียงเสี้ยววินาที ก็อาจไม่ได้ทำให้อาหารติดเชื้อโรคและทำให้เกิดโรคร้ายแรง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูตามความเหมาะสม เอาเป็นว่าเมื่อไหร่ที่อาหารมีแมลงวันมาตอมหลายตัวแถมยังเกาะอยู่นานๆ แนะนำว่าอย่ากินดีกว่าเพราะอาจเสี่ยงเชื้อโรคได้

ยังไงกินอาหารมื้อต่อไปก็ต้องสังเกตให้ดีว่าแถวนั้นมีแมลงวันอยู่หรือไม่ ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง หากติดเชื้อโรคขึ้นมาอาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิดนะ

 
-->