เวิร์กกิ้งวูแมนต้องระวัง! งานพังเพราะ SBS

“ปวดหัว ปวดท้อง แน่นหน้าอก หงุดหงิด” ไหนใครบ้างชอบเป็นแบบนี้เวลาอยู่ที่ทำงาน จนพาลทำให้คิดว่าถึงเวลาหมดไฟในงานเข้าแล้วละมั้ง ก็อย่าเพิ่งรีบไปเซ็นต์ใบลาออก ถึงแม้จะมีงานวิจัยของ Michigan State University ได้บอกไว้ว่าภาวะหมดไฟมักจะติดต่อกันในกลุ่มพนักงานที่ทำงานใกล้ชิดกัน หรือเป็นบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรเอื้อให้เกิดการ Burnout ก็ตาม เพราะที่จริงแล้วอาการนี้อาจมีที่มาจากโรค SBS ก็ได้



“ตึกเป็นพิษ” แค่คิดก็ไม่อยากไปทำงาน
SBS ไม่ใช่ชื่อบอยแบนด์ แต่เป็นตัวย่อของ Sick Building Syndrome หรือโรคตึกเป็นพิษ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับมลภาวะภายในอาคารจากปัจจัยบางอย่าง เช่น วัสดุโครงสร้างของอาคาร สีที่ใช้ภายในอาคาร และการถ่ายเทอากาศภายในอาคาร ที่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บตา เจ็บคอ แสบร้อนในจมูก มีน้ำมูก หนาว เป็นไข้ ผิวแห้ง เป็นผื่น อ่อนเพลีย หงุดหงิด หรือหลงลืม ปวดหัว ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีอาการของภาวะภูมิแพ้ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ไม่มีสมาธิ ส่วนผู้ที่เป็นโรคทางเดินหายใจหรือเป็นภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้วก็อาจจะมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยอาการเหล่านี้จะดีขึ้นหรือแทบจะหายเป็นปลิดทิ้งเมื่อผู้ป่วยออกจากตัวอาคาร

ยิ่งกว่านั้นยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ที่กระทบต่อชีวิตและการทำงาน ทำให้คุณภาพงานแย่ลง จนอาจถึงขั้นต้องเปลี่ยนหรือย้ายสถานที่ทำงาน นอกจากนี้ ภาวะ SBS อาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่กำเริบบ่อยและรุนแรงขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบ Legionellosis ที่อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ไตวายเฉียบพลัน รวมถึงโรคหอบที่หากอาการรุนแรงก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 



SBS เกิดขึ้นมา (อาจ) เพราะสาเหตุนี้
แม้จะไม่สามารถบอกถึงที่มาสาเหตุได้ชัดเจน แต่ก็พอคาดการณ์ได้ถึงปัจจัยที่อาจเป็นตัวการของโรค SBS ดังนี้
  • สารเคมีต่างๆ ที่ใช้ภายในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นสีทาภายในอาคาร น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ 
  • จอคอมพิวเตอร์ที่ไม่กรองแสง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสายตา
  • ฝุ่นภายในอาคาร หรือมลพิษอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง
  • เสียงรบกวน
  • อากาศภายในอาคารที่ไม่ถ่ายเท
  • ความร้อนหรือความชื้นภายในอาคาร
  • แบคทีเรีย เชื้อรา ที่แฝงตัวอยู่ในอากาศ
  • ความเครียดในการทำงาน
  • อาการป่วยจากโรควิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า

ตึกเป็นพิษ...พิชิตได้ไม่ยาก 
ถึงจะยังไม่รู้ต้นสายปลายเหตุที่แน่ชัด แต่ก็สามารถป้องกันโรคตึกเป็นพิษได้ด้วยการหลีกเลี่ยง ไม่อยู่ในอาคารนานเกินไป ซึ่งหากดูท่าว่าจะยากเกินไป ให้ลองปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานให้ปลอดภัยไร้ความเสี่ยงด้วยการ
  • เปิดประตูและหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
  • ดูแลและทำความสะอาดบริเวณที่ทำงานให้ปลอดจากเชื้อโรคและฝุ่น
  • หมั่นตรวจสภาพและเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในสำนักงานที่เก่าและก่อมลพิษ 
  • พยายามลดการสัมผัสสารเคมีต่างๆ 
  • พักสายตาระหว่างทำงาน หรือขยับเปลี่ยนท่าทาง เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายจากความเครียด
 
แต่ใดๆ ก็คือ “ตึกเป็นพิษ” ยังไม่น่าคิดหนักเท่ากับ “รักเป็นพิษ” หรอกเนอะ...
-->