ไขความลับ? ทำไมคนเราถึงชอบดูหนังสยองขวัญ!

กลัวก็กลัว แต่ใจก็อยากดู เพราะอยากรู้ว่าตัวเอกจะพาเนื้อเรื่องไปสุดที่ตรงไหน? ความน่าตื่นเต้นและความคาดเดาไม่ได้นี้เองที่ทำให้หลายคนติดดูหนังสยองขวัญกันงอมแงม แต่ถ้าหนังมันน่ากลัวขนาดนี้แล้วทำไมหลายคนยังชอบดู? ถ้าใครสงสัยเหมือนกัน เรามาหาคำตอบกันเลย!



อะดรีนาลีนพุ่งกระฉูด
ถ้าใครที่เป็นแฟนตัวยงหนังสยองขวัญคงจะคุ้นเคยกับองค์ประกอบในหนังที่เห็นกันจนชินตาไปแล้ว เช่น บรรยากาศอึมครึม สภาพแวดล้อมที่ดูลึกลับ ตัวละครที่เป็นปริศนาหรือคาดเดาไม่ได้ว่าเป็นตัวอะไร และที่ขาดเอกลักษณ์ของหนังไปไม่ได้เลยคือฉาก “Jumpscare” หรือฉาก ตุ้งแช่ ที่หลายคน(ไม่)ชอบ ซึ่งอาการตกใจผสมความกลัวแบบที่ไม่ทันตั้งตัวจะทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติเข้าสู่โหมด “สู้หรือหนี” (Fight or flight) รูม่านตาขยายเพื่อโฟกัสหาจุดสังเกตที่ต้องระวัง หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดพุ่งสูง และร่างกายเผาผลาญอย่างหนักเพื่อให้เราพร้อมสู้หรือวิ่งหนี ซึ่งระบบประสาทก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนหนังจบ เราจึงมีความรู้สึกร่วมไปกับตัวละครด้วย และพอเราดูหนังจบแล้ว (หรือตัวเอกรอด) เราก็จะรู้สึก “จบแล้วสินะ เรารอดแล้ว!” โหมดสู้หรือหนีก็จะปิดตัวลง สมองรู้สึกคอมพลีท เพราะเราเอาตัวรอดจากความกลัวได้แล้ว (แม้ความจริงจะแค่นั่งอยู่ที่โซฟาเฉยๆ ก็ตาม) และความมั่นใจในตัวเองก็จะเพิ่มขึ้น

รู้สึกฟินหลังดู
หลังจากหนังจบ พอโหมดป้องกันตัว “สู้หรือหนี” หยุดทำงาน ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุขและความผ่อนคลาย โดปามีนและเอ็นโดฟีนออกมาเพื่อทำให้ร่างกายสงบเร็วที่สุด เป็นการที่ร่างกายลดการใช้พลังงานมากเกินจำเป็น ซึ่งฮอร์โมนที่ถูกหลั่งออกมาจะช่วยให้รู้สึกอิ่มเอมใจและเป็นสุข ยิ่งดูหนังกับคนอื่นๆ ด้วยแล้วจะยิ่งช่วยให้เรารู้สึกเชื่อมต่อและดึงดูดกับคนรอบข้างมากขึ้น เพราะจะกระตุ้นให้รู้สึกเหมือน ‘พวกเรา’ เพิ่งผ่านอะไรมาด้วยกัน

ซิกมันด์ ฟรอยด์ออกโรง!
ในมุมมองความเห็นของซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งจิตวิเคราะห์เขาได้ให้ความเห็นว่า หนังสยองขวัญคือพื้นที่ในการเล่าเรื่องที่ในชีวิตประจำวันไม่มีวันได้เจอหรือทำไม่ได้ ทำให้เรามองเห็นหรือรับรู้ในสิ่งที่ดูจะ ‘ผิดศีลธรรม’ ‘ผิดธรรมชาติ’ และ ‘ผิดกฎหมาย’ ผ่านการเล่าเรื่องของหนัง ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างหนังเรื่อง The Purge ที่รัฐบาลอนุญาตให้ทุกคนก่ออาชญากรรมยังไงก็ได้ที่อยากทำเป็นเวลา 12 ชั่วโมงโดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งนั่นไม่มีทางเกิดขึ้นจริง ในชีวิตจริงได้แน่ๆ เพราะมันผิดศีลธรรม แต่พอเป็นในหนัง เนื้อเรื่องจะกลายเป็นพื้นที่ให้เราปลดปล่อยความป่าเถื่อนที่มีอยู่ในตัวไปกับเนื้อหาหนัง เป็นการลดความป่าเถื่อน ดุร้ายในใจเรากลายๆ

กันไว้ดีกว่าแก้
แม้เนื้อหาในหนังจะดูเป็นเรื่องไกลตัว หรือดูจะเป็นอะไรที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยก็ตาม แต่ตัวหนังก็ได้ให้มุมมองใหม่ๆ กับผู้ชมในแง่ของความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ในเนื้อเรื่องที่อาจเกิดขึ้น เพื่อดูว่าสภาวะจิตใจคนจะเป็นอย่างไรเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์แบบเดียวกับในหนัง ทำให้ผู้ชมเกิดการถกเถียงหรือตั้งคำถามขึ้นมาว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้จริงๆ เราจะทำยังไงดี? แล้วเราจะเอาตัวรอดได้ยังไง? ซึ่งก็ถือเป็นกิมมิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ปล่อยให้ผู้ชมไปหาข้อสรุปกันเอาเองสนุกๆ

อย่างไรก็ตาม แม้การดูหนังสยองขวัญจะทำให้เรารู้สึกสนุก และเพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่อง แต่การดูมากไปก็ไม่ดี โดยเฉพาะกลุ่มคนบางกลุ่มที่อ่อนไหวต่อความกลัวเป็นพิเศษ เช่น
 
  • คนที่เป็นโรควิตกกังวล PTSD หรือคนที่เป็นโรคหัวใจจะมีรีแอคชันและอ่อนไหวกับหนังสยองขวัญสูงมาก ซึ่งจะกระตุ้นความคิดและความรู้สึกที่ไม่ดี ทำให้ระดับความแพนิกและความวิตกกังวลพุ่งขึ้นสูง หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดสูง คนเหล่านี้จะตีความสิ่งที่หนังนำเสนอออกมาเป็นเชิงลบ และเข้าใจว่าสิ่งที่เห็นในหนังเป็นการคุกคามที่เกิดขึ้นจริง (แม้สมองจะรู้ว่านี่คือหนัง แต่ปฏิกิริยาอัตโนมัติจะปฏิเสธความคิดนี้ไปทันที) จึงอาจทำให้มีภาวะวิตกกังวล หวาดผวา หรือหัวใจวายได้
  • คนขี้ตกใจหรือตกใจง่าย จะทำให้หลังดูไปแล้วจะเกิดภาวะนอนไม่หลับ หรือถ้าหลับก็จะกระตุ้นให้ฝันร้าย การนอนไม่ดี และอาจทำให้เกิดปัญหาทางจิตใจในอนาคตได้

นอกจากนี้การดูหนังสยองขวัญยังส่งผลเชิงลบต่อจิตใจในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น
 
  • ความเห็นใจลดลง เพราะในหนังจะนำเสนอมุมน่ากลัวๆ หรือมุมทรมานของตัวละครเป็นหลัก (ทั้งทางกายและทางใจ) ยิ่งเสพเยอะๆ ความเห็นใจของเราก็จะยิ่งลดลงเรื่อยๆ ประมาณว่าเห็นตัวละครทรมานจนชินแล้ว เลยเฉยๆ ซึ่งตรงข้ามกับคนที่มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นสูงจะไม่ค่อยชอบมาดูหนังแนวนี้กันเท่าไหร่
  • กระหายความรุนแรง เนื่องจากหนังสยองขวัญจะกระตุ้นให้เรารู้สึกในเชิงลบและความกลัวพอดูหนังติดๆ กันนานๆ เข้า จะทำให้พฤติกรรมของคนดูกลายเป็นความก้าวร้าว

ถึงแม้จะรู้สึกเหมือนการดูหนังสยองขวัญจะมีแต่ด้านลบ แต่จริงๆ ด้านดีๆ ของการดูหนังแนวนี้ก็มีข้อดีอยู่ไม่น้อย เพราะช่วยให้
 
  • ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย สร้างความเครียดชนิดดี (Good stress) ออกมา ทำให้รู้สึกตื่นเต้น มีชีวิตชีวา และทำกิจกรรมต่างๆ หลังจากที่เครียดไปแล้วได้ดีขึ้น
  • ฝึกเรียนรู้ทักษะการจัดการตัวเอง และบูสท์ความยืดหยุ่นให้ตัวเอง จากงานวิจัยในเดือนมกราคม 2021 พบว่า แฟนๆ หนังสยองขวัญมีความยืดหยุ่นทางจิตใจและแสดงอาการเศร้าหรือทุกข์ใจน้อยกว่าในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19
  • บูสท์ระบบสมองและการคิด หนังสยองขวัญช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองหลายส่วน โดยเฉพาะสมองส่วน Amygdala ที่ตอบสนองต่อความกลัว และสมองส่วนหน้า (Frontal Lobes) ที่ทำหน้าที่คิด หาเหตุผล และวางแผน
  • กล้าเผชิญหน้ากับความกลัวมากขึ้น เพราะการกรี๊ดระหว่างดูหนัง คือส่วนหนึ่งของการบำบัดที่เรียกว่า Scream therapy ซึ่งทางการแพทย์อธิบายว่า การดูหนังสยองขวัญจะทำให้คนดูเผชิญหน้ากับความกลัวโดยตรง (จากในที่ที่ปลอดภัย) เพราะในสมองเรารู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่เราเห็นไม่ใช่เรื่องจริง เราจึงสามารถฝึกเผชิญหน้ากับความกลัวได้โดยไม่กระทบต่อโลกความจริง

ทั้งนี้ แม้การดูหนังสยองขวัญจะเป็นความชื่นชอบของใครหลายคน และยังช่วยกระตุ้นให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า เป็นสื่อบันเทิงชั้นดียามว่าง แต่หากดูมากเกินไปก็คงจะส่งผลร้ายกับร่างกายมากกว่า แม้จะไม่สามารถบอกได้ว่าดูแค่ไหนถึงจะพอดี แต่ก็ขอแนะนำให้ดูวันละเรื่องก็นับว่าค่อนข้างโอเคแล้ว และแบ่งเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้างก็จะช่วยให้คุณภาพชีวิตโดยรวมมีชีวิตชีวามากขึ้นได้นะ

อ้างอิง
https://bit.ly/40tMwAF
https://bit.ly/3SobChY
https://bit.ly/3tJoDIK
https://bit.ly/3QbczHX
-->