อายุเพิ่มขึ้น แต่ฮอร์โมน(เพศ)ดันลดลง

รู้ไหม? ฮอร์โมนเพศชายที่ลดลง ไม่ได้ส่งผลแค่เรื่องทางเพศ แต่ส่งผลทางสุขภาพตามมาเช่นเดียวกัน มาเช็กกันว่าคุณเริ่มเข้าช่วงที่ฮอร์โมนเพศชายกำลังลดลงอยู่รึเปล่า 



ฮอร์โมนเพศชายไม่ได้ลดลง เพียงเพราะอายุที่เพิ่มขึ้น
เมื่ออายุเริ่มเข้าเลข 3 ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะเริ่มลดลงโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 1% หรือภาวะวัยทองของผู้ชายนั่นเอง นอกจากอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง เช่น 
  • ความเครียดและภาวะซึมเศร้า: ความเครียดเรื้อรังจะเพิ่ม คอร์ติซอล ที่ไปกดการสร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนได้ และสภาพจิตใจมีผลโดยตรงต่อฮอร์โมน
  • ภาวะอ้วน น้ำหนักตัวมากเกิน: ไขมันส่วนเกินโดยเฉพาะรอบเอว ทำให้เอนไซม์เปลี่ยนฮอร์โมนโมนเทสโทสเตอโรนเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนแทน
  • การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ: คุณภาพการนอนต่ำหรือการนอนไม่พอ จะลดการหลั่งฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่หลั่งฮอร์โมนมากที่สุด
  • การดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด: แอลกอฮอล์ปริมาณมากหรือการใช้สารเสพติดอย่างกัญชา สเตียรอยด์ หรือยาบางชนิด สามาถกดการผลิตฮอร์โมนได้
  • การไม่ออกกำลังกาย: ไลฟสไตล์การนั่งเฉยๆ นานๆ หรือไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย จะส่งผลต่อการลดระดับฮอร์โมน
  • โรคประจำตัว: เบาหวานชนิดที่ 2, ความดันโลหิตสูง, โรคตับหรือไต รวมไปถึงภาวะอัณฑะไม่ผลิตฮอร์โมนเพียงพอ (Hypogonadism) 
  • การใช้ยาบางชนิด: ยาลดความดัน, ยาเบาหวาน, ยารักษาซึมเศร้า, ยากันชัก เป็นต้น ซึ่งบางชนิดมีผลข้างเคียงในการลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน

แล้วอะไรถึงวัดว่าฮอร์โมนเพศชายต่ำ (Low testosterone) 
ระดับฮอร์โมนในเกณฑ์ปกติ จะอยู่ระหว่าง 450 ถึง 600 ng/dL ถ้าหากต่ำกว่า 300 ng/dL จะถือว่าเป็นภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ สามารถตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพศชายได้ด้วยการตรวจเลือดที่เรียกว่า serum testosterone test นอกจากนี้ อาจมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของภาวะฮอร์โมนต่ำ ได้แก่:
  • การตรวจระดับฮอร์โมน testosterone ในเลือด (serum testosterone)
  • การตรวจระดับฮอร์โมน luteinizing hormone
  • การตรวจระดับโปรแลคตินในเลือด (blood prolactin level)

เช็กลิสต์อาการที่เริ่มบอกว่าฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนกำลังลดลง…
สัญญาณทางร่างกาย:
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย แม้ไม่ได้ใช้แรงมาก
  • รู้สึกว่ามวลกล้ามเนื้อลดลง แม้ออกกำลังกายเหมือนเดิม 
  • ไขมันสะสมมากขึ้น โดยเฉพาะรอบเอว พุงเริ่มมา
  • สมรรถภาพทางเพศลดลง อารมณ์ทางเพศลด หรือแม้กระทั่งการแข็งตัวไม่เหมือนเดิม
  • ขนตามร่างกายลดลง ผมเริ่มบาง โดยเฉพาะกลางศรีษะ
  • กระดูกเริ่มบาง เสี่ยงกระดูกพรุน
สัญญาณด้านอารมณ์และจิตใจ:
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย 
  • ซึมเศร้า เบื่อโลก
  • ขาดความมั่นใจในตัวเอง โดยเฉพาะภาพลักษณ์และความสามารถ
  • สมาธิสั้น ความจำไม่ดี
  • การนอนหลับ 
  • อาการหลับไม่สนิท หรือรู้สึกไม่ค่อยสดชื่นแม้นอนเพียงพอแล้ว
  • นอนกรน หรือมีอาการภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ซึ่งอาจไปลดฮอร์โมนเพศชายได้ 

วิธีดูแลหรือบำบัดฮอร์โมนเพศชายต่ำ ทำยังไงได้บ้าง?
นอกเหนือจากอาการต่างๆ ที่เราได้มีเช็กลิสต์กันไป สำหรับหนุ่มๆ บางคนอาจไม่ได้มีอาการเหล่านี้เลยก็ได้ แต่อาการสำคัญหลักๆ ที่พบบ่อยคือ อ่อนเพลีย และสมรรถภาพทางเพศลดลง ก็ยังไม่ถือว่าต้องถึงขั้นบำบัดเนื่องจากยังมีข้อกังวลในความปลอดภัยระยะยาว 

ถ้าหากแพทย์ระบุว่าปัญหาฮอร์โมนลดต่ำลงเกิดจากอาการทางสุขภาพอื่นๆ เราอาจต้องเริ่มจากการจัดการดูแลสุขภาพก่อน ก่อนที่จะเลือกการดูแลหรือบำบัดอื่นๆ เพราะการบำบัดโดยการใช้ฮอร์โมนอาจไม่ใช่คำตอบแรกเสมอไป 

แต่ถ้าแพทย์แนะนำว่าต้องบำบัดด้วยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเหมาะกับคุณ ก็มีหลากหลายวิธีที่อยู่ในบทความพิเศษของ Harvard health publishing เรื่อง Men’s health
  • แผ่นแปะผิวหนัง (Skin patch) แปะที่ผิวหนังวันละครั้งตอนเย็น ปล่อยฮอร์โมนในปริมาณเล็กน้อยเข้าสู่ผิวหนัง
  • เจลทาผิว (Gels) ทาทุกวันบริเวณต้นแขน หัวไหล่ หรือขา หลังทาเสร็จควรล้างมือและปิดบริเวณที่ทาด้วยเสื้อผ้า เพื่อป้องกันการแพร่ฮอร์โมนสู่ผู้อื่น
  • แบบรับประทาน (Oral therapy) มีทั้งแบบแคปซูลที่กลืน หรือแบบเม็ดที่ติดที่เหงือก/กระพุ้งแก้มวันละ 2 ครั้ง ฮอร์โมนจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด
  • แบบฝังใต้ผิวหนัง (Pellets) ฝังบริเวณสะโพกหรือต้นขา ปล่อยฮอร์โมนอย่างช้าๆ และเปลี่ยนใหม่ทุก 3–6 เดือน
  • แบบฉีด (Injections) ฉีดทุก 7–14 วัน ระดับฮอร์โมนจะพุ่งสูงหลังฉีดไม่กี่วัน จากนั้นค่อยๆ ลดลง อาจทำให้รู้สึกอารมณ์และพลังงานขึ้นๆ ลงๆ

ระยะเวลาในการเห็นผล ผู้ชายส่วนใหญ่จะเริ่มรู้สึกดีขึ้นในอาการต่างๆ ภายใน 4–6 สัปดาห์หลังเริ่มบำบัด แต่อย่างเช่นกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น อาจต้องใช้เวลานาน 3–6 เดือนจึงจะเห็นผลชัดเจน ถ้ารู้สึกว่าอาการเหล่านี้เริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น สามารถเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางในการดูแลตัวเองในช่วงอายุที่เพิ่มขึ้นได้ 

ที่มา
Harvard Health Publishing 
https://www.health.harvard.edu/mens-health/treating-low-testosterone-levels
Healthline
https://www.healthline.com/health/low-testosterone/warning-signs#takeaway
-->