5 สิ่งที่หนุ่มๆ ต้องรู้ เกี่ยวกับ “มะเร็งองคชาต”

มะเร็งชนิดนี้อาจไม่ได้แพร่หลายหรือเป็นกันเยอะเหมือนมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ “มะเร็งองคชาต” ก็เป็นอันตรายไม่แพ้กัน... ถ้าไม่รีบรักษา อาจต้องบอกลาทั้งพวง

โดยความผิดปกติในมะเร็งชนิดนี้ จะเกิดกับเนื้อเยื่อหรือผิวหนังของอวัยวะเพศ ถ้าคุณไม่เคยขลิบหนังหุ้มปลาย เคยเป็นหูด ตรวจพบเชื้อ HPV หรือพบความผิดปกติที่น้องชาย คุณก็ควรอ่านบทความนี้ให้จบ... เอ้า เริ่ม 


1) มักเกิดในประเทศที่ระบบสาธารณสุขไม่ดี :
สำหรับในประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศที่ระบบสวัสดิการสุขภาพดีเลิศอย่างสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ จะมีผู้ป่วยน้อยกว่า 1% แต่ในประเทศที่ระบบสาธารณสุขย่ำแย่ จะพบมะเร็งองคชาตมากถึง 10-20% เลยทีเดียว

2) ไม่เคยขริบและไม่ชอบใช้ถุงยาง ระวังให้ดี :
การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศอาจฟังดูเป็นเรื่องโหดร้าย ทว่าแทบไม่พบว่าผู้ชายที่ขริบแล้วป่วยเป็นโรคนี้ ส่วนคนที่ไม่เคยขริบก็เสี่ยงโรคนี้ถึง 2 เท่าเพราะมีความเสี่ยงเกิดภาวะหนังหุ้มปลายตีบมากกว่า ทั้งยังมีความเสี่ยงติดเชื้อโรคต่างๆ ได้มากกว่าอีกด้วย หนึ่งในนั้นคือเชื้อ HPV ไวรัสซึ่งเป็นต้นเหตุของมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งในช่องปากและลำคอ 

3) มักตรวจพบในชายวัย 60+ :
โดยเฉลี่ยแล้วจะตรวจพบในชายวัย 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเชื่อมโยงกับการไม่ขลิบและการติดเชื้อ HPV จากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน

4) ระวังให้ดี หากสีผิวเปลี่ยนไป :
ผิวหนังตรงส่วนหัวหรือช่วงกลางลำจะเปลี่ยนเป็นสีแดง รู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัส บางครั้งก็เจ็บมากพร้อมกับมีไข้ นอกจากนี้อาจพบความผิดปกติอื่นๆ เช่นมีก้อน มีเลือดหรือหนองไหลออกมา และผื่นขึ้น และเมื่ออาการหนักแล้ว อาจทำให้ทางเดินปัสสาวะอุดตัน หรือมะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงได้

5) ไม่รีบรักษา อาจต้องตัดทิ้ง :
ในประเทศที่ระบบสาธารณสุขพัฒนาไปมาก มักตรวจพบในระยะที่ยังรักษาได้มากถึง 80-90% โดยการตัดเนื้อร้ายออกไปพร้อมทำเคมีบำบัด แต่ถ้ามะเร็งลุกลามไปมากแล้ว อาจต้องตัดทิ้งทั้งพวงเพื่อป้องกันการลุกลาม ซึ่งปัจจุบัน แพทย์สามารถนำกล้ามเนื้อแขนช่วงล่างหรือขา มาผ่าตัดเป็นลึงค์อันใหม่ได้ 

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นมะเร็งองชาต เพราะไม่เคยขริบและมีคู่นอนหลายคนแบบไม่ใช้ถุงยางอนามัย ก็ควรสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับน้องชายและเช็คอัพร่างกายกับแพทย์เป็นประจำ... ถึงแม้ว่าคุณเสี่ยงมากกว่าแต่ก็รักษาให้หายได้ถ้าพบความผิดปกติเร็ว



 
-->