หนุ่มๆ ต้องระวัง “หย่อนสมรรถภาพทางเพศ” พบมากขึ้นในวัย 20-40 ปี

ช่วงนี้ไม่ค่อยมีอารมณ์ ก็น้องชายก็ไม่สู้ดูเหงาหงอย บางครั้งสู้แค่แป๊ปเดียว พอใส่เข้าไปก็ดันเหี่ยวลง เมื่อคุณผู้ชายเจออาการแบบนี้ก็เริ่มจะมีความหงุดหงิดกับตัวเอง เพราะมันทำให้เสียความมั่นใจ หรือว่านี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการ “หย่อนสมรรถภาพทางเพศ” ซึ่งจะพบได้ในผู้ชาย 1 คน จาก 5 คน และจากงานวิจัยในสหรัฐอเมริกายังพบอีกว่าผู้ชายที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้องชายหย่อนสรรถภาพมีมากกว่า 18 ล้านคน โดยในอดีตมักจะพบปัญหานี้ได้มากในผู้ชายวัย 40+ แต่ปัจจุบันกลับพบได้ในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยลง



สาเหตุของการเกิดปัญหา “หย่อนสมรรถภาพทางเพศ”

ปัจจัยทางด้านสุขภาพและร่างกาย

1. มีโรคปรจำตัวเกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้การไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะเพศชายลดลง จนส่งผลให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

2. มีความผิดปกติบริเวณระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน, การบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจไปรบกวนสัญญาณประสาทที่กระตุ้นให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศ

3. ฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโทสเตอโรนที่ลดลงตามช่วงวัย รวมถึงฮอร์โมนที่ไม่สมดุล เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ ก็ทำให้เกิดปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศขึ้นได้

4. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เพราะเมื่อมีน้ำตาลในหลอดเลือดสูงอาจส่งผลไปทำลายหลอดเลือดและเส้นประสาท ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะเพศ

5. น้ำหนักเกินหรือมีโรคอ้วน มีความเสี่ยงต่อภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศเนื่องจากฮอร์โมนที่ไม่สมดุล ส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงที่อวัยวะเพศไป


ปัจจัยทางด้านสุขภาพจิต

1. ความเครียดก็ส่งผลต่อสุขภาพเพศของคุณได้ ไม่ว่าจะเครียดจากการทำงาน ปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน หรือแม้แต่ปัญหาความสัมพันธ์ สิ่งเหล่านี้อาจทำให้คุณเข้าสู่ภาวะของความวิตกกังวล จนเกิดเป็นอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้

2. ไม่มั่นใจในตัวเอง มองตัวเองในแง่ลบ อาจเพราะไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องบนเตียงมาก่อน หรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้มั่นใจในเรื่องเหล่านี้ จึงประเมินตนเองติดลบ จนทำให้กลายเป็นความไม่มั่นใจและส่งผลต่อการแข็งตัวของน้องชาย

3. ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า อาจส่งผลให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ 50-90% หากพบปัญหาแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและรับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง



เปลี่ยนพฤติกรรม ลดเสี่ยงหย่อนสมรรถภาพ น้องชายฟิตปั๋ง

1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยทำให้สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดดีขึ้น ซึ่งสามารถส่งผลเชิงบวกในการแข็งตัวของอวัยวะเพศ

2. เลือกทานอาหารที่ช่วยเรื่องสุขภาพ เช่น ผลไม้, เมล็ดธัญพืชต่างๆ, โปรตีนที่ไร้ไขมัน รวมถึงหลีกเลี่ยงของทอดและของมัน ช่วยลดภาวะความเสี่ยงการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ 

3. ลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เพราะหากคุณดื่มหรือสูบมากเกินไป อาจไปทำให้การไหลเวียนของเลือดลดลง และส่งผลกระทบไปสู่สมรรถภาพทางเพศที่ถดถอยได้


4. จัดการความเครียดให้ดี หากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำ ฟังเพลง, อ่านหนังสือ, นั่งสมาธิ หรือแม้แต่การเล่นโยคะก็สามารถช่วยลดระดับความเครียด และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศให้คุณได้

คุณผู้ชายที่กำลังเป็นกังวลอยู่หรือหลังจากอ่านแล้วเริ่มไม่มั่นใจกับสุขภาพเพศของตัวเอง เราแนะนำให้พบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษา เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือน่ากลัวแต่อย่างใด เพราะใครๆ ก็สามารถเป็นได้เนื่องจากการใช้ชีวิตประจำวันที่อาจก่อให้เกิดปัจจัยของความเสี่ยง แต่หากรู้ตัวได้ไวหรือพร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็สามารถกลับมามีสุขภาพเพศที่ดีขึ้นได้
-->