เช็คสิ! อยากได้ PlayStation 5 จริงๆ หรือแค่เป็นโรค FOMO กันแน่

จะเปิดให้พรีออเดอร์กันไปกี่รอบรอบก็ยังคงไม่สาแก่ใจ เพราะยังมีหนุ่มๆ อีกหลายคนที่อยากได้แต่ก็ไปไม่ถึงซักที วันนี้เราเลยจะพามาสำรวจตัวเองว่า ที่บอกว่าอยากได้กันนั้น จริงๆ แล้วคุณอยากได้มันจริงๆ หรือเป็นเพราะแค่กลัวตกเทรนด์กันแน่

 
FOMO คือโรคอะไร
FOMO หรือ Fear of Missing Out คืออาการของคนที่กลัวการตกข่าว ตกกระแส หรือแม้แต่การไม่ได้เป็นที่ยอมรับ หรือเป็นคนสำคัญของใครๆ ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงมีพฤติกรรมที่คอยเช็คข่าวสารในสื่ออยู่ตลอดเวลา ต้องรู้ก่อนใคร ต้องแชร์ แชร์แล้วก็คาดหวังที่จะได้ like เยอะๆ ซึ่งถ้าเกิดว่าเขาพลาดอะไรไป หรือผลไม่ได้ดั่งที่ใจหวังก็จะเกิดความเครียดขึ้นมาทันที
 
 
“จากสถิติอ้างอิงปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้เวลาต่อวันอยู่กับอินเตอร์เน็ตมากที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน และคนไทยยังใช้เวลาเล่น Social Media โดยเฉลี่ย 3 ชั่วโมงต่อวันและใช้เวลาไปกับการดูทีวี ไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งนั่นหมายความว่า อาจจะมีผู้คนบางกลุ่มตกอยู่ในอาการ FOMO ได้โดยไม่รู้ตัว”
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิตกล่าว
 

คนส่วนใหญ่...ไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองเป็น
อ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเพิ่มเติมว่าส่วนใหญ่แล้วคนที่มีอาการ FOMO มักจะไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองมีปัญหา เพราะชีวิตจะวนเวียนอยู่แต่กับโลกออนไลน์ โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลัง ‘เสพติด’ ก็เหมือนอย่างคนที่ใจจดจ่อตามติดกระแส PS5 โดยไม่เป็นอันทำอะไร อยากได้อยากมีเพื่อที่จะได้ชื่อว่า เป็นคนแรกๆ ที่ได้ครอบครองสิ่งที่กำลังอยู่ในกระแส และดูเป็นคนไม่ตกเทรนด์ ซึ่งอาการนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะเจอเยอะหน่อยในกลุ่มของวัยรุ่นเพราะเป็นช่วงที่สมองส่วนอารมณ์ทำงานเหนือสมองส่วนเหตุผล และนอกจากนี้ช่วงวัยรุ่นยังเป็นช่วงที่ค้นหาตัวเอง อยากเป็นที่ยอมรับ และอยากเป็นคนสำคัญนั่นเอง
 
เช็คอาการ...แบบนี้แหละเข้าข่าย FOMO
•  ติดการแชทออนไลน์เกือบตลอดเวลา หรือมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน
•  รู้สึกภูมิใจเมื่อเวลามีเพื่อน หรือมีคนที่ชื่นชอบโพสต์ของเรา
•  ใช้ชีวิตผูกติดกับยอด Like หรือ Share
•  รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นคนอินเทรนด์ ได้รู้เรื่องราวที่เป็นกระแสในโซเชียลก่อนใคร
•  ถ้าลืมมือถือหรือแบตหมด จะใช้ชีวิตอย่างกระวนกระวายตลอดเวลา
 
ถ้าปล่อยให้สุด...แล้วจะหยุดที่ไหน
ถ้าพูดถึงอันตรายของคนเป็น FOMO ก็คือถ้าอาการต่างๆ ไม่ถูกแก้ไขอย่างถูกวิธี ในเวลาที่รวดเร็ว และเผลอปล่อยไว้สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือคนนั้นจะกลายเป็นคนที่หลงตัวเอง เพราะรู้สึกว่าตัวเองเจ๋ง ตัวเองดี เป็นที่สนใจของสังคม ทำให้เวลาทำอะไรก็จะรับฟังคนอื่นน้อยลง หรือเมื่อถูกตำหนิหรือคอมเมนต์จากคนอื่นก็กลายเป็นรับไม่ได้ รู้สึกโกรธแค้น และถ้าหนักเข้าก็อาจจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้เลยเหมือนกัน 
 
เราจะเอาชนะ FOMO ได้ยังไง
จุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่จะแก้ปัญหานี้คือต้องยอมรับกับตัวเองก่อนว่าเราเป็นคนติด Social Media พอยอมรับแล้วก็ต้องมีจุดยืนว่าเราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เริ่มจากวางมือถือลงก่อน และหันไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง เหมือนอย่างที่ Nick Hobson นักจิตวิทยาได้แนะนำวิธีการต่อสู้กับ FOMO เอาไว้ว่าเราสามารถทำได้ง่ายๆ โดยหันมาให้ความสนใจกับสิ่งที่เราได้จากการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง แทนที่จะมานั่งจมอยู่กับความคิดที่ว่าเราได้พลาดในการทำกิจกรรมอื่นๆ ไป พูดง่ายๆ ว่าเราเพียงแค่เปลี่ยนมุมมองความคิด รู้ทันตัวเอง แค่นี้ชีวิตก็แฮปปี้ขึ้นแล้วล่ะ
-->