Gaslighting ในชีวิตจริง....ยิ่งกว่านิยาย

เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยอยู่ในสถานการณ์ Gaslighting หรือจะให้เข้าใจโดยทั่วกัน ทุกคนคงจะรู้จักการ ‘ปั่น’ ด้วยการใช้วาทะเป็นแรงสนับสนุน และโจมตีใส่เรา จนบางครั้งก็ทำให้เราดูแย่ในสายตาคนรอบข้างและสูญเสียความมั่นใจไปเลย และถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เราจะรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างไร?



การกระทำเชิง Gaslighting ที่กระทบกระเทือนถึงจิตใจ
ว่าด้วยเรื่องของการกระทำเชิง Gaslighting หรือการพูดปั่นเพื่อทำให้เรารู้สึกไม่ดี เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งด้วยการกระทำผ่านคำพูด ที่แอบแฝงไปด้วยมลทินที่พยายามโจมตีให้เราเป็นคนผิด ทั้งนี้อาจมีเหตุผลเพื่อทำให้ตัวเองรอดจากสถานการณ์นั้นๆ หรือพยายามปั่นให้ผู้อื่นคล้อยตามความคิดของตัวเอง โดยส่วนใหญ่เรามักเจอสถานการณ์การกระทำเชิง Gaslighting ในที่ทำงาน ซึ่งสถานที่ทำงานถือเป็นสังคมหนึ่งที่มีการแข่งขันสูง จึงไม่แปลกที่เราอาจจะเป็นหนึ่งในบุคคลผู้โชคร้ายที่จะโดนโจมตี ถูกเอารัดเอาเปรียบ มุ่งหวังผลประโยชน์จากเรา และนี่คือการกระทำเชิง Gaslighting ที่เราต้องระมัดระวังเอาไว้!
 
  • ใช้คำพูดแย่ๆ ใส่เราตลอดเวลา อันนี้เป็นสิ่งที่พบเจอบ่อยที่สุด เพราะหนึ่งในการปั่น คือการเลือกใช้คำพูดที่ไม่ดีกับเราเสมอๆ เรียกว่าไม่เคยพูดดีๆ กับเราเลยสักครั้งเดียว แถมยังพยายามโจมตีเรา หากเราทำอะไรผิดพลาด หรือโดนตำหนิ ก็จะตามซ้ำให้เราดูแย่กว่าเดิม
  • นินทาทุกครั้งที่มีโอกาส การ Gaslighting บางครั้งต้องอาศัยคนที่เห็นด้วยมากกว่า 1 คนเสมอ จึงจะประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นคนที่ Gaslighting มักเลือกที่จะแพร่กระจายข่าวสารผ่านการนินทาว่าร้ายให้ได้มากที่สุด ยิ่งมีคนคิดเห็นตรงกับเขาเมื่อไหร่ การปั่นก็จะประสบผลสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น
  • ใส่ร้ายป้ายสี สิ่งนี้คือผลที่จะตามมาจากการใช้คำพูดที่ไม่ดีกับเรา นินทาเรา และมักจบด้วยการโทษว่าเราเป็นคนแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะใช้คำพูดแบบรูปแบบเดิมๆ เช่น วันนั้นเธอก็พลาดแบบนี้ วันนี้เธอทำผิดแบบเดิมอีกแล้ว จากประโยคนี้เราจะเห็นว่า เขาพยายามจะโจมตีให้เราดูแย่ในสายตาคนอื่น ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องพูดก็ได้ หรือถ้าคนคิดในแง่ดีก็อาจจะเลือกให้กำลังใจหรือปลอบใจมากกว่า
  • ใช้คำพูดแอบแฝง อันนี้ลึกซึ้งไปอีกขั้น และคนที่โดนอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ การใช้คำพูดแอบแฝงด้วยเจตนาที่ไม่ดี เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ Gaslighting มักจะใช้กัน เช่น ขอโทษแล้วกันถ้าทำให้รู้สึกไม่ดี แต่ฉันไม่ได้ตั้งใจหรอกนะ หรือ ฉันก็แค่พูดเล่นเอง เธอน่ะคิดมากไป ถ้าเราฟังประโยคนี้อาจจะรู้สึกเฉยๆ แต่ความจริงแล้วมันมีเจตนาแอบแฝงให้เขาดูไม่ใช่คนที่แย่อะไร แต่โบ้ยความผิดให้เราแทนว่าเราคิดมาก หรือคิดเล็กคิดน้อยกับเขาเกินไป ซึ่งนี่แหละคือการปั่นหัวรูปแบบหนึ่งที่คนที่ไม่ทันเกม อาจจะตกเป็นเหยื่อได้

นอกจาก Gaslighting จะเจอในสถานที่ทำงานได้แล้ว ก็ยังสามารถเกิดขึ้นจากบริบทอื่นๆ ในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์แบบคู่รัก ครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อน ซึ่งการ Gaslighting ยังสามารถใช้เพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่คับขันได้ พูดง่ายๆ ก็คือ พยายามแก้ตัวเพื่อเอาตัวรอด ผ่านการใช้คำพูดให้รู้สึกเชื่อใจคนๆ นั้นมากขึ้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากเราโดยปั่นหัวอยู่บ่อยๆ จนกระทบกระเทือนถึงสภาวะทางจิตใจ อาจส่งผลเสียกับเราได้ เช่น ภาวะหมดไฟจากการทำงาน (Burnout syndromes) ภาวะเครียด (Stress) โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder) หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าได้เลย

3 วิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์อันเลวร้ายนี้
การโดนกระทำอยู่ฝ่ายเดียวคงจะไม่ใช่ทางออกสำหรับเรื่องนี้ และนี่คือ 3 วิธีการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ Gaslighting ที่เราสามารถเอาไปใช้ได้!
 
  • รวบรวมสิ่งที่เราโดนโจมตี บางครั้งเราอาจจะไม่รู้ตัวว่าเราโดน Gaslighting ตอนไหนอย่างไร การรวบรวมทุกการกระทำของคนที่พยายามจะโจมตี และกลับมามองทุกอย่างในภาพรวม จะช่วยให้เรามองเห็นปัญหาของเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
  • เผชิญหน้ากับปัญหา แม้ว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีที่ยากมาก แต่การปกป้องตัวเองเป็นสิ่งที่ควรทำที่สุด แม้ว่าการเผชิญหน้าจะมีความเสี่ยงที่จะทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับเขาต้องพังลง แต่ผลลัพธ์สุดท้ายจะทำให้เราหลุดพ้นจากทุกข้อกล่าวหา และอาจทำให้เราจะมีสภาวะทางจิตใจที่ดีขึ้น
  • คับที่อยู่ง่าย คับใจอยู่ยาก หากเรื่องนี้มันยากเกินแก้ เราอาจจะต้องพิจารณาว่า ตัวเรานั้นเหมาะสมกับที่นี้หรือเปล่า หรือที่นี่อาจไม่ใช่ที่ของเรา การเดินหนีออกจากปัญหาก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถทำได้ เพราะสุดท้ายแล้ว การอยู่ในที่ที่มีคนยอมรับในความเป็นเราคงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

จงมั่นใจในตัวเองและคิดอยู่เสมอว่า เรามีคุณค่าในตัวเอง คิดได้แบบนี้คุณจะหลุดพ้นจาก Gaslighting ได้อย่างแน่นอน เราขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้คุณ❤️❤️❤️
-->