Silent Treatment ‘การเงียบใส่’ จุดเริ่มต้นของสงครามจิตวิทยาในความสัมพันธ์

“นี่เธองอนหรือเป็นอินโทรเวิร์ต?” ประโยคสุดงงเวลาทักทายใครคนนั้นแล้วเขาไม่ตอบ กลับเงียบใส่และทำตัวเหมือนเลขสายที่ท่านเรียกไม่สามารถติดต่อได้ในขณะนี้ จนเราต้องเก็บมาคิดว่าทำอะไรผิดไปหรือเปล่า? ถ้าคุณเคยเจอสถานการณ์เงียบใส่ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยังดีๆ กันอยู่ แถมทำอย่างกับว่าเราไม่มีตัวตน แบบนี้อาจเข้าข่าย Silent Treatment



Silent Treatment แค่งอนหรือขี้เกียจพูด?
การลงโทษด้วยความเงียบ หรือ Silent Treatment เป็นความสัมพันธ์ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลือกที่จะเงียบเพื่อลงโทษอีกฝ่ายทางอ้อม ให้ยอมขอโทษหรือทำตามที่ตัวเองต้องการโดยที่ฝ่ายนั้นก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวเองทำผิดอะไร และผิดจริงหรือเปล่า? เพราะมัวแต่เงียบใส่กันอยู่ ซึ่งการเงียบใส่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความสัมพันธ์ของคนรักเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงความสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย เช่น พ่อ-แม่-ลูก เพื่อน เพื่อนร่วมงาน เป็นต้น 

เพราะในหลายๆ ครั้งเรามองว่าการเงียบเพื่อตัดปัญหาตรงหน้าคือสิ่งที่ดูเหมือน “คนมีวุฒิภาวะ” และ “เป็นผู้ใหญ่” ทำกัน ถูกใช้เพื่อเป็นเหมือนกำแพงเอาไว้ปกป้องความรู้สึกตัวเอง และลดแรงปะทะจากความหงุดหงิด แต่ขณะเดียวกัน มันก็กลับกลายเป็นเหมือนดาบสองคมที่แม้ด้านหนึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งตรงหน้านี้ได้ แต่ในอีกแง่ ถ้าตัดจบแล้วไม่รีบกลับมาเคลียร์ใจกันในภายหลัง ถ้าเกิดเรื่องครั้งถัดไปมันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

และอย่างที่บอกไปว่า Silence Treatment ยังกระทบกับความสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย ทั้งในครอบครัว พ่อแม่ที่เงียบเมินลูก ตัดขาดคนในครอบครัวออกจากกัน หรือแม้แต่กลุ่มเพื่อนๆ ที่ถูกกีดกันออกจากกลุ่ม พฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้ผู้ที่ถูกเงียบใส่รู้สึกต่ำต้อย ด้อยค่าตัวเอง ที่นำไปสู่ภาวะเครียด วิตกกังวล ภาวะความมั่นใจในตัวเองต่ำ และโรคซึมเศร้าได้ (เพราะมนุษย์คือสัตว์สังคมที่ต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มไงล่ะ) 

เมื่อไหร่ที่การเงียบใส่เริ่มกลายเป็น Silence Treatment
แม้การเงียบใส่ จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ตึงเครียดตรงหน้าได้ แต่กับบางคนก็อาจใช้ความเงียบเพื่อควบคุมคุณอยู่ แล้ว Silence Treatment แบบไหนที่เข้าข่ายควบคุมคุณอยู่บ้าง?
 
  • ถูกเมินเฉยใส่หลายวันหรืออาจเป็นเดือน
  • ปฏิเสธไม่คุย สบตา กดรับสาย หรือตอบข้อความ
  • กลับไปเงียบใส่เหมือนเดิมทุกครั้งที่อะไรหลายๆ อย่างไม่เป็นไปตามหวัง
  • ใช้ Silence Treatment เป็นการลงโทษ เวลาที่คุณหงุดหงิดใส่เขา
  • ต้องการให้คุณขอโทษหรือให้ความสนใจพวกเขา แล้วเดี๋ยวเขาก็จะคุยด้วยเอง
  • ปฏิเสธที่จะยอมรับคุณจนกว่าคุณจะอ้อนวอนมาขอร้องเอง (อันนี้พูดในแง่ของการโดนเมินในกลุ่มเพื่อนๆ)
  • ใช้ความเงียบเป็นเครื่องมือบังคับให้คุณยอมเปลี่ยนพฤติกรรมหรือยอมทำตามที่เรียกร้อง

นิ่งเงียบแบบนี้ แก้ยังไงดี?
 
  • เว้นระยะห่าง เพราะไม่ใช่ทุกความเงียบจะหมายถึงการเมินอย่างเดียว แต่อาจเป็นช่วงเวลาที่อีกฝ่ายขออยู่เงียบๆ ปรับอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน หายดีแล้วเดี๋ยวเขาก็กลับมาคุยเอง
  • กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน ตั้งกำแพงในใจว่าการเงียบใส่แบบไหนที่ไม่โอเค หรือมันนานเกินไปจนทนไม่ไหวแล้ว เมื่อไหร่ที่ถึงลิมิตในจุดนี้ ควรเลือกที่จะคุยกันมากกว่าเงียบกันต่อไป (แต่คุยกันดีๆ นะ)
  • ถ้าเงียบใส่กันนานจนผิดปกติ ลองแย็บๆ คุยดู โดยอาจเริ่มจากคำถามประมาณว่า “ช่วงนี้เราไม่ค่อยได้คุยกันเลย สบายดีไหม?”
  • ยอมรับความรู้สึกของอีกฝ่าย ปรับตัวเองอยู่ในโหมดใจเขาใจเรา ลองสื่อสารออกไปว่าความรู้สึกของเขาก็สำคัญไม่แพ้กัน เพื่อให้เขารู้สึกโอเคขึ้น ให้คุยและฟังไปเรื่อยๆ อย่ารีบร้อนที่จะแก้ปัญหาหรือแก้ตัวทันที ถ้าสังเกตแล้วว่าอีกฝ่ายยังคงก้าวร้าวหรือยังไม่อยากคุยด้วย แนะนำว่าปลีกตัวเองออกมาจากตรงนั้นก่อน รอจนเขาเย็นลงแล้วค่อยคุยอีกที
  • ขอโทษในสิ่งที่ทำผิดไป หมายถึงขอโทษในสิ่งที่ตัวเองทำผิดจริงๆ ไม่ใช่ขอโทษเพียงเพราะอีกฝ่ายเงียบใส่เฉยๆ
  • ชอบเงียบใส่นัก ก็ฝึกดูแลตัวเองซะเลย หาได้แคร์ ถ้าเขาไม่สนก็รักตัวเองไปก่อนละกัน ซึ่งการดูแลตัวเองมีเยอะมาก ทั้งอ่านหนังสือ ไปหาเพื่อน ดูหนัง เที่ยว อะไรก็ว่าไป

แม้ความเงียบจะดูเป็นคมดาบที่คอยเชือดเฉือนกันมากกว่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ความขัดแย้งลดลง แต่อีกหนึ่งข้อดีของมันคือเป็นเหมือนเบาะกันชนที่ลดแรงกระแทกของความขัดแย้งให้นุ่มนวลขึ้น และคงน่าเสียดายหากความเงียบถูกใช้เพื่อคีพความสัมพันธ์แทนที่จะเป็นการเปิดอกคุยกันมากกว่า ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็รังแต่จะทำให้อะไรๆ แย่ลงกว่าเดิม จนอาจสายเกินไปที่จะเอ่ยคำว่า “ขอโทษ” ก็เป็นได้ จำไว้ว่า การเงียบใส่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีเสมอไป การเปิดคุยกันดี ๆ จะเข้าใจกันได้ลึกซึ้งกว่านะ
-->