เป็นคนคิดบวกมากไป….อาจจะใช่เรื่องดี

แม้ว่าการคิดแบบ Positive Thinking จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็อาจจะไม่ดีกับทุกเรื่อง และอาจส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจ จนนำไปสู่ภาวะคิดบวกเป็นพิษได้ในที่สุด



Positive Thinking ดีจริง หรือแค่มโนไปเอง?
การคิดบวก หรือ Positive Thinking เป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเรา และการคิดบวกยังส่งผลดีกับเราในหลายๆ ด้าน เช่น คิดบวกช่วยลดภาวะความเครียด ช่วยปรับทัศนคติให้ดีขึ้น ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเรา และช่วยให้แก้ไขปัญหานั้นๆ ให้ผ่านพ้นไปได้ แต่มันก็อาจจะไม่ใช่ทุกเรื่องและทุกสถานการณ์ที่เราจะสามารถคิดบวกได้ทั้งหมด เพราะในบางเรื่องอาจสร้างความทุกข์ใจทั้งกับตัวเราเองและผู้อื่น

พญ.เจมมี่ ซัคเคอร์แมน จิตแพทย์ทางคลินิกแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้อธิบายเรื่องนี้เอาไว้ว่า การฝืนคิดบวกในสถานการณ์ลบโดยรู้สึกเจ็บปวดภายในใจ คือการหลอกตัวเองเพื่อเลี่ยงความรู้สึกไม่สบายใจ แต่ยิ่งเลี่ยงก็ยิ่งแย่ การหลีกเลี่ยง หรือระงับความรู้สึกไม่สบายใจ มักทำให้เกิดความวิตกกังวลซึมเศร้า และทำให้สุขภาพจิตโดยนั้นรวมแย่ลง

อาการมันเป็นยังไง? ภาวะคิดบวกเป็นพิษ
มีใครเคยรู้สึกแย่กับอะไรสักเรื่องหรือเปล่า? แล้วคนรอบข้างบอกว่า ‘คิดบวกเข้าไว้ ทุกอย่างจะดีขึ้น’ สิ้นเสียงประโยคนั้นไป หลายคนอาจจะรู้สึกดีกับประโยคที่ได้ฟัง แต่ความจริงแล้ว ปัญหาที่ทุกข์ใจของเรา กลับยังคงแย่อยู่เหมือนเดิม และไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่หลายคนให้กำลังใจเลยด้วยซ้ำ นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราพยายามจะบอกว่าตัวเองไหวเวลาอยู่ต่อหน้าคนอื่น แต่ความจริงคือ เรารู้สึกแย่และไม่ไหวกับความรู้สึกนี้แล้วด้วยซ้ำ ทุกคนคงคุ้นๆ กับคำว่า ‘หลอกตัวเอง’ คำนี้พอจะนิยามความหมายของความรู้สึกนี้ได้เป็นอย่างดี แต่! ถ้ายังคงนึกภาพไม่ออก ลองเริ่มประเมินตัวเองก่อนว่า เรามีพฤติกรรมเหล่านี้อยู่หรือเปล่า?

1. ไม่กล้าเผชิญกับปัญหาและกล้าแสดงความคิดเห็น หลายคนถูกกระทำด้วยคำพูด สีหน้า แววตา และอีกสารพัดวิธี โดยเลือกที่จะเพิกเฉยต่อการกระทำและมองโลกในแง่ดีจนทำให้ไม่กล้าที่จะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากใคร นานๆ เข้าอาจทำลายความรู้สึกที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเราได้

2. กลมกลืนกับสถานการณ์ที่ผิดปกติ ให้ปกติได้ ถ้าให้อธิบายแบบที่ทุกคนเข้าใจ คือ การหลอกตัวเอง เพราะใจลึกๆ ของพฤติกรรมนี้คือ การแสแสร้งว่ามันดีมาก แต่ข้างในลึกๆ คือไม่ดีเอาซะเลย เลยเลือกที่จะกลบเกลื่อนความรู้สึกตัวที่แท้จริงของตัวเองเอาไว้ เช่น โดนแย่งงานไปต่อหน้าต่อตา หรือโดนขโมยเครดิตไป แต่กลับบอกกับทุกคนว่าไม่เป็นไรหรอก ฉันโอเค การทำสิ่งที่ไม่ปกติให้ปกติได้ มันอาจจะกลับมาทำร้ายเราทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพใจ

3. บิดเบือนความเป็นจริง พฤติกรรมนี้เหมือนกับการลบล้างความเป็นจริง เพื่อให้ตัวเองรู้สึกสบายใจกับสถานการณ์นั้นๆ เช่น โดนโจรปล้นชิงเอาทรัพย์สินไป แต่กลับปลอบใจตัวเองว่า เคราะห์ยังดีที่เรายังมีชีวิตอยู่ได้ คำปลอบใจแม้จะทำให้รู้สึกดี แต่สถานการณ์ในความเป็นจริง เราไม่ได้รู้สึกดีกับมันเลยสักนิด

4. ไม่เห็นใจผู้อื่น สถานการณ์นี้จะชัดเจนที่สุดกับผู้ป่วยซึมเศร้า ที่โดนปลอบด้วยคำว่า ‘เรื่องแค่นี้เอง ไม่เห็นจะยากเลย เรายังผ่านมันไปได้เลย เธอก็ต้องผ่านมันไปได้’ บางครั้งการผ่านเรื่องราวที่เลวร้ายสักเรื่องนึง สำหรับบางคนอาจจะเป็นเรื่องที่ยากมากๆ ดังนั้นการมองโลกในแง่ดีจนเกินไป อาจจะกำลังทำร้ายคนอื่นทางอ้อมอยู่ก็เป็นได้

5. เพิกเฉยต่อทุกสิ่ง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่อาจจะส่งผลกระทบกับเราทั้งทางตรงและทางอ้อม บางคนมักจะ Ignor กับทุกสิ่ง เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดี ในขณะที่ปัญหานั้นๆ กำลังจะส่งผลต่อตัวเรา ปัญหานี้มักจะส่งผลเสียตามมาในระยะยาว เพราะเราจะไม่มีภูมิต้านทานและเลือกที่จะปล่อยปละละเลยเรื่องเหล่านี้

สภาวะคิดบวกเป็นพิษ อาจทำให้เราไม่อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง และเลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยการเพิกเฉย ปล่อยจอย ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง สุดท้ายอาจส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจที่อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าในที่สุด
-->