ทำ (ความเข้า) ใจยังไง ถ้าคนใกล้ตัวเป็น LGBTQ

“มันก็จะชอตฟีลหน่อยๆ อะนะ” ก็ครั้งแรกที่รู้...ว่าคนใกล้ตัวเป็น LGBTQ+ อาจเพราะพอรู้ข้อมูลงานวิจัยโดยทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่ตีพิมพ์ผลการวิจัยข้างต้นในวารสาร Science ว่ายีนเกย์หรือหน่วยพันธุกรรมซึ่งทำหน้าที่กำหนดให้มนุษย์มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันโดยเฉพาะนั้น เป็นเพียงความเชื่อเดิมๆ ที่ไม่มีอยู่จริง แต่ก็ใช่ว่าร้อยทั้งร้อยจะต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะคนเราใช่ว่าจะเป็นอย่าง (ใจ) ตัวเองต้องการไม่ได้ซะที่ไหน ยิ่งถ้ามีความสุขแล้วไม่เดือดร้อนใคร คนข้างๆ ที่รักกันจริงก็ต้องทำ (ความเข้า) ใจ และเป็นสายซัพพอร์ตได้อยู่แล้ว



LGBTQ+ ผิดปกติมั้ย?
จะว่าไปเรื่องเพศหรือรสนิยมความชอบก็เป็นเรื่องธรรมชาติ ที่ไม่ต่างอะไรกับรสนิยมความชื่นชอบเรื่องอื่นๆ อย่างเมนูโปรด สถานที่เที่ยว สัตว์เลี้ยง นั่นหมายความว่าต่อให้จะเลือกเป็นเพศไหน ก็ไม่ใช่ความผิดปกติของร่างกาย หรือแม้แต่จิตใจ ดังนั้นในทางการแพทย์จึงไม่จัดเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ว่าคนใกล้ตัวเป็น LGBTQ แทนที่จะตกใจแล้วพาไปหาจิตแพทย์ แต่ให้ทำความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น แล้วมองลึกลงไปถึงตัวตนที่แท้จริงของเขาจะดีกว่า หรือถ้ายังทำใจยาก (อยู่) ให้ลองดูวิธีเหล่านี้ 



ปรับที่ความคิด (ตัวเอง) ถ้าคนใกล้ชิดเป็น LGBTQ+
ไม่ใช่ทุกคนที่เข้า (ทำ) ใจได้ แต่ยังไงซะก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล คนใกล้ตัวทั้งนั้น งั้นลองทำตามนี้...
 
  • ศึกษาให้ (เกิดความ) เข้าใจ บางครั้งที่ยังทำใจไม่ได้อาจเป็นเพราะยังไม่เข้าใจดีพอ เลยอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด และติดภาพที่ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น แทนที่จะพาคนใกล้ชิดไปหาจิตแพทย์ แต่อาจเป็นตัวเองมากกว่า เพื่อรับคำปรึกษาหาแนวทางการอยู่ร่วมกัน พร้อมหาข้อมูลและทำความเข้าใจใหม่กับกลุ่มคนเหล่านี้ หรือหากว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มของ LGBTQ+ เป็นเด็กที่ยังไม่รู้เรื่องรู้ราวนัก ก็อาจจะต้องคอยสังเกตพฤติกรรมร่วมด้วย และคอยเป็นที่ปรึกษา คอยรับฟังปัญหาที่เขาอาจต้องเผชิญจากภายนอก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งความเข้าใจของครอบครัวและคนใกล้ชิดมีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก เพราะจะช่วยนำพาให้เขาเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและมั่นใจ 
  • ยอมรับในตัวตน เพราะทุกคนต่างก็ต้องเติบโตและมีชีวิตเป็นของตัวเอง ดังนั้นในฐานะคนใกล้ชิดควรทำให้ตัวเองเป็นพื้นที่ปลอดภัย และไม่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าแปลกแยกหรือถูกกีดกัน โดยไม่ทำให้พวกเขารู้สึกถูกเปรียบเทียบไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศหรือเรื่องใด เพราะไม่ว่าจะแสดงออกว่าเป็นเพศใด สถานะไหน ทุกคนต่างมีสิทธิเท่าเทียมกัน ถ้าจะให้ดีควรส่งเสริมให้เขารู้จักมองเห็นคุณค่าในตัวเอง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจที่จะกล้าเผชิญหน้ากับสังคมภายนอกได้ต่อไป
  • เปิดใจพูดคุย วิธีนี้เป็นการแสดงออกที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกสบายใจว่าอย่างน้อยก็มีคนเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น ทำให้กล้าพูดคุยปรึกษาในยามที่มีปัญหา และไม่รู้สึกเป็นตัวประหลาด หรือแตกต่างจากคนทั่วไปในสังคม โดยการพูดคุยนี้จะต้องแสดงความจริงใจ ใช้เหตุและผลในการพูดคุย เพื่อนำไปสู่ความคิดเห็นที่สามารถยอมรับซึ่งกันและกันได้
  • อยู่เคียงข้างในยามที่ต้องออกไปเผชิญโลก ด้วยว่าเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าในสังคมข้างนอกนั้นจะมีอะไรที่รอคอยพวกเขาอยู่บ้าง ยิ่งในปัจจุบันที่การถูกบูลลี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายดาย ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผู้ใกล้ชิดที่จะทำได้คือการอยู่เคียงข้างเพื่อสนับสนุนและให้กำลังใจ เพื่อให้ได้เรียนรู้ มองเห็นคุณค่า และกล้าที่จะเป็นตัวของตัวเอง 

เพราะการเป็นตัวเองไม่ใช่เรื่องผิด (ปกติ) แล้วจะปกปิดตัวเองไปทำไมล่ะ!
-->