รับมือยังไง เมื่อเจอ...ใครบูลลี่เพศ

แล้วแกจะบูลลี่เพื่อ? ความในใจที่อยากถามออกไปเหลือเกินเวลาที่มีใครมาบูลลี่ แต่ที่ทำได้จริงๆ ก็แค่เก็บไว้ในใจต่อไปเพราะไม่อยากมีเรื่อง ซึ่งก็ชักจะไม่แน่ใจว่าที่ทำแบบนี้มันถูกหรือเปล่า เพราะมีผลการศึกษาชิ้นใหม่โดยสถาบันสถิติศาสตร์ (UIS) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ที่บอกว่าเยาวชนเกือบ 1 ใน 3 ทั่วโลกเคยมีประสบการณ์ถูกล้อ รังแก แกล้ง หรือถูกบูลลี่มาก่อน ซึ่งอาจเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลลบต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก ปัญหาใหญ่ขนาดนี้ เราคงต้องเรียนรู้วิธีรับมืออย่างจริงจังแล้วล่ะ!



แบบนี้เรียก ‘บูลลี่’ มั้ย?
บูลลี่ (Bully) เป็นการกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูด หรือ พฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น มักเกิดขึ้นในสังคมที่มีช่องว่างระหว่างผู้ที่มีพละกำลังหรืออำนาจมากกว่าแสดงออกแก่ผู้ที่อ่อนแอกว่า โดยสามารถเกิดขึ้นได้ซ้ำๆ ซึ่งการบูลลี่ด้วยคำพูดนั้นจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการกระทำ ทั้งโดยที่ตั้งใจ และไม่ตั้งใจ โดยมากมักจะมีการบูลลี่กันในโรงเรียน ตามมาด้วยที่ทำงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหาสภาพทางจิตใจที่ร้ายแรงได้ในอนาคต โดยการบูลลี่นั้นจะแบ่งออกเป็น
 
  • การกลั่นแกล้งทางวาจา (Verbal Bullying) คือ การสื่อสาร พูด เขียน เพื่อสื่อความหมายกลั่นแกล้ง เช่น แสดงความคิดเห็นทางเพศที่ไม่เหมาะสม เหน็บแนม พูดจาล้อเลียน และขู่ว่าจะทำร้าย
  • การกลั่นแกล้งทางสังคม (Social Bullying) โดยสังคมในที่นี้หมายถึงทั้งสังคมภายนอก และสังคมในโลกโซเชียล ซึ่งการกลั่นแกล้งทางสังคมนี้ สามารถทำได้ทั้งการทำให้เสียหน้า หรือแกล้งให้สูญเสียความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างตั้งใจ เช่น ไล่ออกจากกลุ่มโดยไม่มีความผิด ปล่อยข่าวลือให้เสียหาย และทำให้เกิดความอับอายในที่สาธารณะได้เช่นกัน
  • การกลั่นแกล้งทางกายภาพ (Physical Bullying) คือ การกลั่นแกล้งที่เกี่ยวข้องกับร่างกายและสวัสดิภาพของผู้ถูกกลั่นแกล้ง เช่น การทำร้ายร่างกาย หรือ แย่งสิ่งของ



ถ้าโดนบูลลี่...ให้รับมือแบบนี้นะ!
จะให้ทำไงถ้ายังต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนิยมบูลลี่ ที่ถ้าจะอยากจะอยู่ให้ได้ ก็ต้องมีท่าไม้ตาย เซฟ (ใจ) ตัวเอง ด้วยวิธีตามนี้ 
 
  • นิ่งเฉย ไม่ตอบโต้ เพื่อให้อีกฝ่ายหมดสนุก จะได้เลิกแกล้งไปเอง ดีไม่ดีบางทีการตอบโต้หรือเถียงกลับไปอาจยิ่งทำให้เรื่องบานปลายไม่จบสิ้น หรือถ้าจะให้ยิ่งดีก็เลี่ยงได้เลี่ยงเลย พร้อมกับทำใจปล่อยวางให้ได้ แม้จะเจ็บปวดแค่ไหน แต่ถ้ามัวแต่เก็บเอามาคิดวนเวียน ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมตัวเองเปล่าๆ
  • ไม่ใช้ความรุนแรง ถึงจะอยากหยุมหัวแค่ไหน ก็ต้องอดทนไว้ เพราะไม่อย่างนั้นแทนที่จะเป็นฝ่ายถูกกระทำ อาจกลายเป็นคนผิดซะเอง เกมเปลี่ยนเลยล่ะทีนี้
  • หาคนไว้ใจให้คำปรึกษา แม้อาจจะช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยการได้ระบายออกไป ก็อาจทำให้สบายใจมากขึ้น และสร้างความอุ่นใจที่อย่างน้อยก็ยังมีคนอยู่ข้างๆ หรือบางทีเขาอาจมีทางออกหรือคำแนะนำดีๆ แต่ถ้ายังรู้สึกแย่ไม่หาย อาจต้องถึงมือจิตแพทย์
  • เก็บหลักฐาน ให้กฎหมายจัดการ เพราะไม่รู้ว่าการกลั่นแกล้งจะหยุดเมื่อไหร่ หรือรุนแรงไปถึงแค่ไหนก็ยากที่จะเดา แต่อย่างน้อยหากมี หลักฐานไว้ก็คงพอช่วยให้อุ่นใจ หรือถ้าเป็นเคสรุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกาย คุกคามทางเพศ ทำให้เสียชื่อเสียง หรือสร้างความเสียหาย ก็จะได้มีน้ำหนักจัดการให้เด็ดขาดไปเลย 

เพราะมุตตาไม่ใช่เหยื่อของแกอีกต่อไป...จำไว้!!!!!
-->