Terrible Two อยากรู้มั้ยต้องทำยังไง

พ่อแม่คนไหนที่บอกว่าเด็กเบบี๋เลี้ยงยาก เพราะพูดสื่อสารกันไม่เข้าใจ จะเอาอะไรก็ร้องท่าเดียว แบบนี้ แสดงว่ายังไม่เคยเจอฤทธิ์ของ “วัยทองสองขวบ” ล่ะสิ ถ้าอย่างนั้นเราจะให้ตอบอีกทีตอนที่ถึงวัยแล้ว จะได้รู้ว่าแบบไหนยากกว่ากัน แถมจะตีก็ไม่รู้ว่าทำได้มั้ย เพราะ “ลิซ่า เบอร์ลิน” นักวิจัยจากศูนย์จัดตั้งนโยบายเพื่อเด็กและครอบครัว ในมหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐอเมริกาบอกไว้ว่า การที่พ่อแม่ตีลูกไม่ว่าจะตีเบา ตีแรง หรือมาก น้อยแค่ไหน ก็อาจจะทำให้เเกิดผลเสียตามมามากกว่าผลดี แล้วแบบนี้ถ้าต้องเจอภาวะนี้ขึ้นมาจริงๆ ต้องทำยังไงดี?



วัยทองไม่ (จำเป็น) ต้อง...แก่
ถ้าอยู่ดีๆ ลูกน้อยช่วงวัย 2 ปีกลายร่างเป็นเด็กดื้อขึ้นมา ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่า วัยทอง (สองขวบ) หรือ Terrible Two มาเยือน เพราะช่วงวัยดังกล่าวจะเป็นช่วงที่เด็กมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และเริ่มมีความคิดความต้องการเป็นของตัวเอง อยากที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ทำให้เวลาที่อยากจะได้อะไรขึ้นมาก็จะแย่งเอาเดี๋ยวนั้นให้ได้ และในทางกลับกันถ้าใครมาเอาของตัวเองไปก็จะไม่ยอม จนเป็นเหตุให้กลายร่างจากเด็กที่ร่าเริงเป็นอารมณ์ร้อน อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ หรืออาจถึงขั้นอาละวาดขึ้นมาแบบเต็มคาราเบล จนคนเป็นพ่อแม่แทบอยากเป็นลม ซึ่งก่อนจะไปถึงจุดนั้นให้ลองสังเกตดูว่าลูกน้อยมีพฤติกรรมเหล่านี้บ้างมั้ย
  • เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อยากทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง
  • ไม่พอใจเวลาที่ถูกบังคับ เพราะต้องการอิสระ 
  • หวงของมาก รวมถึงชอบแย่งของคนอื่น เพราะไม่รู้จักการแบ่งปัน
  • ไม่พร้อมรับการปฏิเสธ
  • รู้จักการต่อรอง 
  • แสดงอาการต่อต้านหรือมีพฤติกรรมขัดขืน เมื่อได้รับคำสั่ง
  • กรีดร้องเมื่อถูกขัดใจ ซึ่งในบางรายอาจเป็นหนักมากถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรือคนรอบตัว
  • ขว้างปา หรือทำลายข้าวของ



ลูกน้อยวัยทองต้องรับมือแบบนี้ 
โดยทั่วไปปัจจัยที่มีผลต่อนิสัยของเด็กนั้นมีอยู่ 2 ส่วนหลักๆ คือ พื้นฐานทางอารมณ์ และสิ่งแวดล้อมรวมถึงการเลี้ยงดูจากคนในครอบครัว นั่นหมายความว่าเด็กที่มีภาวะวัยทองสองขวบ ที่มีพฤติกรรมใจร้อน เอาแต่ใจ แต่ได้รับการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอนจากคนในครอบครัว เพื่อปรับเปลี่ยนนิสัยที่ก้าวร้าว เมื่อโตขึ้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ รวมถึงอาการวัยทองสองขวบก็จะค่อยๆ หายไปด้วยโดยพ่อแม่จะต้องรับมือด้วยการ...
  • พยายามทำความเข้าใจว่าเป็นธรรมชาติของช่วงวัย และต้องใช้เหตุผลเสมอ เพื่อปลูกฝังลักษณะนิสัยการมีเหตุมีผล
  • อดทนและใจเย็น โดยไม่ควรใช้กำลัง หรือวิธีการลงโทษที่รุนแรง
  • เบี่ยงเบนความสนใจ จากสิ่งที่ทำให้ลูกหงุดหงิด ด้วยการนำเสนอสิ่งอื่นให้แทน
  • ยื่นข้อเสนอให้เลือก เพื่อที่เด็กจะได้ไม่รู้สึกว่ากำลังถูกบังคับ
  • ใช้เสียงหัวเราะเปลี่ยนสถานการณ์ที่ตึงเครียด 
  • เปลี่ยนการออกคำสั่งเป็นคำชักชวน
  • กำหนดตารางเวลาแบบกว้างๆ เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตัวเอง
  • ไม่ปล่อยให้เด็กจัดการกับอารมณ์เพียงลำพัง แต่ควรอยู่ด้วยเพื่อช่วยปลอบให้อารมณ์เย็นลง
  • หากิจกรรมสนุกๆ ให้ทำ เพื่อให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย และทำให้เด็กได้เรียนรู้การแสดงออกทางด้านอารมณ์ที่เหมาะสม
 
เพราะฉะนั้นถ้าวัยทอง (ของลูก) มาเมื่อไหร่ พ่อแม่จะได้เตรียม (ใจ) ไว้และพร้อมรับมือ  
-->