เมื่อเด็กเรียกร้องความสนใจ ผู้ใหญ่ควรต้องทำ(ใจ)ยังไง

“ความสนใจ” บางทีผู้ใหญ่อย่างเราก็อยากได้รับเหมือนกัน แล้วนับประสาอะไรกับเด็กที่จะเรียกร้องความสนใจบ้างไม่ได้ ยิ่งพอได้รู้ว่ามีผลการศึกษาวิจัยของ Dr.Robert Whitaker ผู้อำนวยการโครงการวิจัย Columbia-Bassett แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์กซิตี้ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีสายสัมพันธ์เหนียวแน่น และรักใคร่กลมเกลียวกันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กเติบโตและประสบความสำเร็จในชีวิตในอนาคต นั่นเพราะความรักความเข้าใจของคนในครอบครัวจะทำให้เด็กมีความเข้มแข็งทางด้านจิตใจพร้อมที่จะเผชิญกับอุปสรรคและปัญหา อีกทั้งลดความเสี่ยงและโอกาสที่จะยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือความก้าวร้าวรุนแรงด้วย ดังนั้นต่อไปนี้ถ้าลูกเรียกร้องจะปล่อยเฉยไม่ได้แล้ว



#เอาใจใส่และให้เวลา 
ถึงจะยุ่งแค่ไหนแต่ในแต่ละวันคุณพ่อคุณแม่ก็ควรแบ่งเวลามาอยู่กับลูกบ้าง โดยเฉพาะช่วงวัยเด็กที่เขายังต้องการเรา ด้วยการเล่น หรือทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงการเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอน เพราะช่วงเวลาที่เขายังต้องการเราอยู่แบบนี้ มีไม่นานนักหรอกนะ ซึ่งการใช้เวลาอยู่ร่วมกับลูกนั้นยังทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ จะช่วยเติมเต็มความอบอุ่นและเสริมความมั่นคงทางจิตใจ เมื่อเด็กรู้สึกว่าได้รับความรักความเอาใจใส่ที่เพียงพอ ก็จะช่วยลดพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจได้ในอนาคต

#ค้นหาสาเหตุที่แท้จริง
หากลูกทำผิดไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ก่อนที่จะดุหรือทำโทษ ควรคิดให้รอบคอบก่อนว่าอะไรเป็นเหตุผลที่แท้จริงที่ลูกทำสิ่งๆ นั้น รวมถึงดูสิ่งแวดล้อมก่อนว่ามีปัจจัยบ้างไหมที่ส่งผลต่อจิตใจของเด็กให้ทำเรื่องดังกล่าว เพราะทุกการกระทำจะต้องมีที่วและสาเหตุเสมอ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ หรือไม่อย่างนั้นเด็กอาจจะรู้สึกว่าความรักและความใส่ใจที่เคยได้รับเริ่มลดน้อยลง จึงเกิดความกลัว และน้อยใจ จนต้องแสดงพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจออกมา



#อย่ามัวแต่เอาใจ ให้ใช้เหตุผลด้วย
พ่อแม่คนไหนที่เห็นลูกมีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจปุ๊บต้องรีบเอาใจปั๊บ ขอให้หยุดไว้ก่อนถ้าไม่อยากให้ลูกเคยตัวเพราะถูกเอาใจจนเสียคน เพราะการตอบรับแบบทันทีจะยิ่งทำให้เด็กเข้าใจว่าถ้าอยากได้ความสนใจ หรืออยากได้อะไรก็ตามจะต้องแสดงออกแบบนี้ ซึ่งแต่ที่จะตอบรับพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจของลูก ควรเข้าไปพูดคุยถามไถ่ถึงเหตุผล พร้อมกับบอกให้เข้าใจว่าการทำพฤติกรรมเรียกร้องนั้นจะยิ่งทำให้เขาไม่ได้รับในสิ่งที่ต้องการ แล้วดูว่าครั้งหน้าจะมีท่าทีที่เปลี่ยนไปไหม 

#ปล่อยให้ลูกเรียนรู้อารมณ์ความรู้สึก
การเรียกร้องความสนใจของเด็กมักเกิดจากอารมณ์ต่างๆ คือเบื่อ เหงา เศร้า หรือรู้สึกขาดความรัก ซึ่งหน้าที่ของพ่อแม่นั้นจะต้องสอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น พร้อมทั้งสอนวิธีการจัดการกับความรู้สึกต่างๆ เช่นอาจจะหากิจจกรรมให้ทำถ้าลูกรู้สึกเบื่อหรือเหงา วิธีนี้นอกจากจะเป็นการสอนให้ลูกเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น และแสดงออกอย่างเหมาะสมแล้ว ยังจะได้ฝึกทักษะจากการทำกิจกรรมด้วย

#ชมบ้างถ้าลูกทำดี (แล้ว) 
เพราะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ใช่เรื่อง่าย โดยเฉพาะกับเด็ก ซึ่งต้องใช้เวลาและความตั้งใจอย่างมาก ขนาดผู้ใหญ่ยังใช่ว่าจะทำได้ทันที เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไหร่ที่พ่อแม่เห็นว่าลูกมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น คืออาจจะยังไม่ถึงกับเปลี่ยนแปลงได้ 100% แต่แค่ลดน้อยลง ก็ควรชมเชยและให้กำลังใจเขา หรืออาจจะให้รางวัลบ้างเป็นบางครั้ง เพื่อให้เขารู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ทำ และรู้ว่าความพยายามและตั้งใจทำมานั้นไม่สูญเปล่า 


แล้วต่อไปนี้ก็เลิกคิดสักทีนะว่า “แค่เด็กเรียกร้องความสนใจจะอะไรนักหนา” 
-->