“โรคดื้อต่อต้าน” ที่ทำเอาพ่อแม่ช็อตฟีล

“เด็กดื้อต้องโดนอะไร?” ถ้าเจอใครถามแบบนี้ คงมีช็อตฟีลเหมือนกันนะ เพราะในขณะที่ถือไม้เรียวกำลังจะตีแล้วหนึ่ง ก็มีผลการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Developmental Psychology บอกว่า เด็กดื้อรั้นส่วนใหญ่มักเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของตัวเอง จนกำลังจะหักไม้ทิ้งอยู่แล้วเชียว แต่ก็มีอีกเสียงหนึ่งบอกว่า “ดื้อ” อาจไม่ใช่นิสัย แต่เป็น “โรค” ก็ได้ เอ้า...แล้วสรุปว่าต้องทำยังไง ไหนพูด!



โรคดื้อต่อต้าน...อาการมันเป็นยังไง
โรคดื้อต่อต้าน หรือ ODD ย่อมาจาก Oppositional Defiant Disorder เป็นโรคที่เด็กแสดงพฤติกรรมต่อต้าน ท้าทาย ขัดขืน และไม่ฟัง ต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลอย่างคุณครู มักแสดงออกเมื่อเด็กมีอายุ 6 - 8 ปี ซึ่งจะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ปัจจุบันแม้จะยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ก็เป็นไปได้ว่าโรคดื้อต่อต้านอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างประกอบกัน คืออาจเกิดจากปัจจัยทางร่างกายและระบบประสาท พันธุกรรม หรือสภาพแวดล้อม จนนำมาซึ่งปัญหาภายในครอบครัวและสังคม ส่วนในกลุ่มวัยรุ่นจะพบได้ราว 2 – 16% ทั้งผู้ชายและผู้หญิงในจำนวนเท่าๆ กัน อาจเกิดขึ้นเพียงแค่สถานที่ใดที่หนึ่ง หรือเกิดขึ้นแบบไม่เลือกสถนที่ ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง โดยมีอาการ ดังนี้
 
1. อารมณ์รุนแรงและเปลี่ยนแปลงง่าย
2. มีพฤติกรรมต่อต้าน
3. เจตนาร้าย
4. มีการสบถหรือพูดคำหยาบคายเมื่อรู้สึกไม่พอใจ หากรู้สึกโกรธใครมาก ๆ มักจะหาทางแก้แค้น ตอบโต้ หรือกลั่นแกล้งอีกฝ่าย และเกิดขึ้นบ่อยครั้ง



“ดื้อ” ต้องรักษา...อย่างไร?
การรักษาโรคนี้จะเน้นไปที่ตัวเด็กและครอบครัว ด้วยวิธีการบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรม รวมถึงการแสดงออกของคนในครอบครัวต่อตัวผู้ป่วยด้วย โดยวิธีบำบัดและรักษาโรคดื้อต่อต้านมีทั้ง...
 
1. พฤติกรรมบำบัด เพื่อลดและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมทางลบ 
2. กลุ่มบำบัด เป็นการนำเด็กที่อยู่ในวัยเดียวกันหรือวัยใกล้เคียงกันมาพูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อพัฒนาทักษะในการสื่อสาร การเข้าสังคม และการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเมื่ออยู่กับผู้อื่น
3. ครอบครัวบำบัด โดยให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอาการของโรค เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
4. Parent-Child Interaction Therapy (PCIT) เป็นวิธีการบำบัดโดยเปลี่ยนวิธีการแสดงออกของพ่อหรือแม่ เพื่อให้เด็กลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดปัญหา โดยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาจะสังเกตการณ์อยู่อีกห้องหนึ่งและคอยให้คำแนะนำ เพื่อกระตุ้นให้เด็กมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น 
5. การเข้ารับการอบรม เพื่อปรับเปลี่ยนและพัฒนาวิธีเลี้ยงดูเด็กที่เป็นโรคดื้อต่อต้าน
6. การใช้ยา จะเป็นวิธีที่ช่วยรักษาในกรณีที่มีความผิดปกติทางจิตอื่นๆ ร่วมด้วย 

สรุปแล้ว เด็ก (เป็นโรค) ดื้อ ไม่ต้องโดนอะไร แค่ต้องได้รับการดูแลใส่ใจจากพ่อแม่ผู้ปกครองเพิ่มขึ้นเท่านั้นแหล่ะ 
-->