กินแบบไหน... ห่างไกลอัลไซเมอร์

หลายคนมีอาการหลงๆ ลืมๆ ทั้งที่ไม่ได้เข้าใกล้วัยชรา ก็ต้องกลัวว่าจะเป็นอัลไซเมอร์กันบ้างล่ะ 

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โรคนี้เกิดจากความเสื่อมของสมองอย่างช้าๆ นอกจากส่งผลต่อความจำแล้ว ยังกระทบพฤติกรรม การคิด และการใช้ภาษาอีกด้วย เมื่อเป็นมากขึ้นก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันอย่างการอาบน้ำ แปรงฟัน หรือแม้กระทั่งจำไม่ได้ว่ากินข้าวไปแล้วหรือยัง

โดยโรคนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า “Diabetes of the brain” หรือภาวะเบาหวานของสมอง เพราะมีหลักฐานยืนยันว่าผู้ป่วยเบาหวานจะมีความเสี่ยงสมองเสื่อมมากกว่า ดังนั้น การกินให้ดี ก็เป็นการดูแลสมองและป้องกันอัลไซเมอร์ได้ทางหนึ่ง... มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง


• งดหวาน
หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณสูง รวมถึงเมนูจากแป้งขัดสี ตั้งแต่ข้าวขาว ขนมปังขาว พาสต้า เพราะถ้ากินมากเกินความต้องการของร่างกายจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และกระทบการทำงานของสมองได้ และสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี

• เลี่ยงของทอด
สิ่งที่มากับของทอดคืออันตรายจากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน ซึ่งเป็นที่มาของไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของอนุมูลอิสระและการอักเสบ วิธีง่ายๆ คือเลี่ยงฟาสต์ฟู้ดและอาหารสำเร็จรูป ความเสี่ยงก็จะลดลงด้วย

• เพิ่มโอเมก้า 3
DHA ที่ได้ชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นอัจฉริยะภาพ เพราะช่วยบำรุงสมองนั้น เป็นกรดไขมันในตระกูลโอเมก้า 3 ที่สามารถป้องกันอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมได้

• ชาเขียวช่วยได้
การดื่มชาเขียวเป็นประจำช่วยให้เกิดความตื่นตัวและทำให้ความจำดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสมองยังแข็งแรงดีอยู่ โดยดื่มวันละ 2-3 แก้ว

• อาจต้องพึ่งอาหารเสริม
ต้องเข้าใจก่อนว่าแหล่งของสารอาหารที่ดีที่สุดคืออาหาร แต่หากคิดว่าได้รับไม่เพียงพอก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเช็คร่างกายว่าเราขาดสารอาหารตัวไหน เพราะการซื้อกินเองอาจเกิดอันตรายได้... ตัวที่จำเป็นคือวิตามินบี 12 และกรดโฟลิค ซึ่งช่วยคงความแข็งแรงของเซลล์ประสาทและเซลล์เม็ดเลือด

ทั้งนี้ เรื่องอาหารเป็นเพียงปัจจัยที่เราควบคุมได้ ส่วนปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้คือเรื่องของพันธุกรรม หากพ่อแม่เป็นโรคเราก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 50% ซึ่งผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายในอัตราส่วน 3:2 และยิ่งแก่ตัวลง ก็ยิ่งเสี่ยงโดยเฉพาะวัยเกษียณ

หากพบว่าคุณพ่อคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ่มีอาการหลงๆ ลืมๆ ผิดปกติ ก็ควรรีบไปหาหมอเพื่อตรวจให้แน่ใจว่าเป็นอัลไซเมอร์จริงหรือเปล่า หรือเป็นโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกันอย่าง โรคของต่อมไทรอยด์ โรคหลอดเลือดสมองเรื้อรัง เนื้องอกในสมอง ภาวะซึมเศร้า หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด



 
-->