ชอบคิดว่าตัวเองไม่สวย อาจเพราะ Body Dysmorphic Disorder

อยากสวยทำไมไม่ค่อยสวย...คำตอบบอาจไม่ใช่เพราะกระจกที่ส่องแล้วไม่สวย แต่เพราะเป็นโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเองหรือเปล่า ถึงแม้จะมีผลวิจัยโดยโรงเรียนธุรกิจเดนเวอร์แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโดบอกไว้ว่าความสวยอาจไม่ได้มีผลในหน้าที่การงาน แต่ถึงอย่างนั้นก็อย่าปล่อยให้ตัวเอง (คิด) ว่าตัวเองไม่สวย เพราะจากข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กว่าร้อยละ 90 ลงท้ายด้วยการมีภาวะซึมเศร้า เก็บตัว หลีกหนีสังคม โดยร้อยละ 70 มีภาวะเครียดรุนแรง และพบร้อยละ 20 มีการทำร้ายตัวเองในที่สุด



BDD โรคนี้ทำให้ไม่ชอบ (หน้าตา) ตัวเอง
BDD หรือ Body Dysmorphic Disorder เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีความคิดหมกมุ่นหรือไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาของตัวเอง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วอาจไม่มีอะไรผิดปกติเลยก็ตาม แต่ผู้ป่วยจะเป็นกังวล และยังคงปักใจเชื่อว่าตัวเองมีความผิดปกติ และจมอยู่กับความคิดตลอดเวลา จนเกิดเป็นพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น ส่องกระจกบ่อย ใช้เวลาแต่งหน้าทำผม และพยายามหาคำตอบเกี่ยวกับร่างหน้าตาตัวเอง ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การทำงาน และความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือคนอื่นๆ ในสังคมได้  ซึ่งทางออกสำหรับคนที่ชอบคิดว่าตัวเองไม่สวยนี้มักจะลงเอยด้วยการทำศัลยกรรม แต่นั่นอาจไม่ใช่ทางแก้ที่ตรงจุดนัก เพราะถ้าตราบใดที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแหลงความว่าตัวเองไม่สวยได้ ก็จะต้องทำศัลยกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนมีโรคซึมเศร้าแทรกซ้อนอาจถึงกับฆ่าตัวตายได้ ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้ผู้ป่วยด้วยโรคนี้มักพบร่วมกับอาการทางจิตเวชอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล จิตเภท หรือโรคกลัวสังคม (Social Phobia) ย้ำคิดย้ำทำ หวาดระแวงร่วม ถ้าเห็นมากอาจถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ 



เพราะอะไรถึงไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง
ในปัจจุบันจากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่าตัวเลขโดยเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคนี้ทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 1.7 แบ่งเป็นผู้หญิงร้อยละ 1.9 และผู้ชายร้อยละ 1.4 ซึ่งแม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้จะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ความคิดที่ว่าตัวเองไม่สวยนี้อาจเกิดได้จากปัจจัยต่างๆ ดังนี้ 
  1. กรรมพันธุ์หรือมีประวัติครอบครัวเป็นโรคอารมณ์แปรปรวน (Mood Disorder) ซึ่งเป็นโรคทางอารมณ์ที่สามารถแปรปรวนได้สุดขั้วทั้งคึกรุนแรง (Mania) และเศร้าสุด ๆ (Depress)
  2. มีความผิดปกติของระบบ Serotonin ซึ่งเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งภายในร่างกายที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการทำงานของสมองและระบบประสาท ส่งผลต่อกระบวนการคิด พฤติกรรม และอารมณ์
  3. มีประวัติเป็นโรคย้ำคิด-ย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder) ทำให้มีความคิดซ้ำๆ จนกลายเป็นความกังวลใจ
  4. ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมและสังคมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความสวยงาม
  5. ถูกล้อเลียนจนเกิดบาดแผลในจิตใจ
  6. มีปัญหาหรือความไม่สมบูรณ์แบบในชีวิตบางเรื่อง เช่น หย่าร้าง หรือตกงาน เป็นต้น
  7. เป็นผู้ที่ใช้งานสมองซีกซ้ามมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากการตรวจด้วยเครื่องตรวจสนามแม่เหล็ก (MRI) พบว่าคนที่ใช้งานสมองซีกซ้ายส่วนใหญ่มักจะเป็นคนจริงจัง เครียดง่าย เถรตรง ขาดความยืดหยุ่น
 
สำหรับแนวทางการรักษามีทั้งการใช้ยาร่วมกับการทำพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavior Therapy) ก็ช่วยให้อาการดีขึ้นได้ สุดท้ายอย่าลืมว่าผู้หญิงแต่ละคนต่างก็มีความสวยในแบบของตัวเอง เพราะฉะนั้นอย่า (ยอม) ให้ใครมาบอกว่าเราไม่สวย...โดยเฉพาะตัวเอง 
-->