ชีวิตคู่ (ชอบ) มีปัญหา หรือจะต้องหันมาคบเพศเดียวกัน

คู่รักคู่ไหนที่อยู่ใกล้กันมันก็ต้องมีหยุมกัน ไม่รู้ว่ามันเพราะอะไรกัน เพราะเรามีเรื่องให้ได้ตีกันทุกที หรือว่าแท้ที่จริงแล้ว เราควรห่างกันบ้าง เผื่ออะไรๆ มันจะดีขึ้นบ้าง อย่างที่งานวิจัยของ ดร. Terri Orbuch นักจิตวิทยา ศาสตราจารย์ด้านการวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคมแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน และผู้แต่ง Finding Love Again 6 Simple บอกไว้ว่า การมีพื้นที่ว่าง หรือความเป็นส่วนตัวเพียงพอในความสัมพันธ์ มีความสำคัญต่อความสุขของคู่รักมากกว่าการมีเพศสัมพันธ์ที่ดี พูดง่ายๆ ว่าการให้พื้นที่ส่วนตัว ช่วยยืดความสัมพันธ์ได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ผลหรือนั่นจะเป็นเพราะ (เพศ) ที่ทำให้เราต่างกันเกินไปหรือเปล่าน่ะ?



ข้อดีถ้ามีแฟน...เพศเดียวกัน
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป อะไรๆ ก็เปิดกว้างมากขึ้น รวมถึงเรื่องความรักที่ไม่ได้ยึดติดกับเรื่องเพศอีกต่อไป ดีไม่ดีการมีแฟนเพศเดียวกันอาจทำให้มีปัญหาน้อยกว่า เพราะเหตุผลนี้ก็ได้นะ
  • เพื่อนที่รู้ใจ...จริงๆ แม้ว่าหน้าตาจะเป็นสิ่งที่เห็นเป็นอย่างแรก แต่การจะคบใครสักคนให้ยืดยาว สิ่งที่สำคัญกว่า คือลักษณะนิสัยและไลฟ์สไตล์ต้องไปด้วยกันได้  ซึ่งคู่รักชายหญิงอาจมีมุมมอง ความคิดที่ไม่เหมือนกัน ตรงข้ามกับคนรักที่เป็นเพศเดียวกันจะมีข้อได้เปรียบกว่าตรงเรื่องคิดอ่านที่ตรงกันมากกว่า ทำให้รู้ใจ เอาใจเก่งนัมเบอร์วัน แถมยังเข้าใจความรู้สึกอีกฝ่ายเป็นอย่างดี แบบนี้ใครจะไม่รักกันเล่า!
  • เป็นทุกอย่างให้เธอ (ได้) แล้ว ไม่ว่าจะสถานะไหน เพื่อน แฟน ที่ปรึกษา พี่น้อง ผู้ปกครอง และคนรัก ซึ่งเป็นผลมากจากความเข้าใจ และรู้ใจกันมากกว่า ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนสถานะตัวเองให้เป็นตามที่อีกฝ่ายต้องการได้ทุกเวลา 
  • แชร์ของใช้กัน อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่พูดก็พูดเถอะ มันก็เป็นความโรแมนติกอย่างหนึ่ง แถมยังช่วยเซฟเงินได้ด้วย (ดีย์) ไปอีก  
  • เรื่องท้อง ไม่ใช่ปัญหา ชายหญิงที่มีคู่เวลาจะจู๋จี๋กันทีก็ต้องอาจต้องระวังนิดถ้ายังไม่คิดจะมีตัวน้อย แต่เรื่องนี้จะไม่ใช่ปัญหาสำหรับคู่รักเพศเดียวกันที่ยังรักอิสระและอยากจะใช้เวลากันแค่ 2 คนก่อน



รักเพศเดียวกันไม่ใช่เรื่อง (ผิด) ปกติ

ถ้าเป็นเมื่อก่อนการข้ามเพศ หรือกลุ่มคนที่อยู่ในเพศทางเลือก รวมถึงผู้ที่มีความรักกับเพศเดียวกันอาจถูกมองว่ามีความผิดปกติทางด้านจิตใจ แต่ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ หรือ ICD ฉบับล่าสุด โดยย้ายหัวข้อ ‘การมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด' ออกจากหมวดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม และย้ายไปอยู่ในหมวด 'กรณีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทางเพศ' เพราะการมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดนั้นไม่ถือว่าเป็นอาการป่วยทางจิต ดังนั้นในทางการแพทย์คนที่มีความหลากหลายทางเพศจึงไม่ถือเป็นโรค หรือมีความผิดปกติทางจิตใจ เพียงแต่ด้วยส่วนผสมทั้งภายในและภายนอกที่หลากหลาย เช่น ฮอร์โมน สารเคมีในสมอง การเลี้ยงดู วัฒนธรรม และพื้นฐานทางสังคมต่างหากที่หล่อหลอมให้ตัวบุคคลเป็นในแบบของตัวเอง

การเคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเป็นเรื่องปกติของประเทศที่พัฒนาแล้ว เราทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม  โดยไม่ได้โฟกัสแค่เพียงว่าเราเป็น “เพศ” อะไร
-->