ตื่นก่อนนาฬิกาปลุก เหมือนจะดี แต่ร่างกายส่อปัญหา

‘ตื่นก่อนนาฬิกาปลุก’ ฟังๆ ดูแล้วก็เหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะอย่างน้อยเราก็จะได้ไปทำงาน/เรียนเร็วขึ้น แต่ความจริงเบื้องลึกกลับไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะมันอาจเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาณ ‘โรคนอนไม่หลับ’ ได้

อ้างอิงจากรายงานของ NIH (National Institues of Health) ของสหรัฐฯ ระบุว่ากว่า 10 - 30% ของประชากรโลกกำลังเผชิญกับสภาวะนอนไม่หลับ ซึ่งมักมีรายงานปัญหาที่สอดคล้องกับการนอนหลับยากในช่วงเริ่มต้น และไม่สามารถกลับมานอนหลับได้หลังจากตื่นไปแล้วกลางดึก

ซึ่งอาการนอนไม่หลับมักมาพร้อมกับภาวะสะดุ้งตื่นในเวลากลางคืน (Nocturnal awakening) รวมกับสภาวะตื่นตอนเช้าเร็วเกินไป (Early morning awakenings) เข้าไว้ด้วยกัน 



สะดุ้งตื่นตอนกลางคืน + ตื่นตอนเช้าเร็วเกินไป = นอนไม่หลับ

โดยภาวะหลับๆ ตื่นๆ นี้จะเกิดขึ้นถี่ๆ ตลอดทั้งคืนโดยเฉพาะช่วงครึ่งคืนหลัง หลังจากที่ผ่าน Sleep cycle ไปแล้วระยะหนึ่ง เป็นสาเหตุให้ยิ่งใกล้ช่วงเช้าเท่าไหร่ก็จะยิ่งหลับยากขึ้นเท่านั้น ทำให้กว่าจะนอนหลับได้ก็กินเวลาไปมากหรืออาจจะนอนไม่หลับไปเลยก็ได้ พอสะดุ้งตื่นบ่อยๆ ซ้ำๆ ก็จะยิ่งรู้สึกหงุดหงิด รำคาญ เครียด ไม่ยอมนอน แล้วก็นอนไม่หลับวนซ้ำไปมาจนกระทั่งเช้า

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การนอนของเราแย่จนต้องตื่นก่อนเวลา ก็มาจากปริมาณแสงในห้องเราที่ไม่สัมพันธ์กับการนอน หากอ้างอิงกระบวนการใช้ชีวิตของมนุษย์กับนาฬิกาชีวภาพ (Circadian rhythm) เราจะเริ่มง่วงเมื่อแสงวันเริ่มหาย และจะตื่นเมื่อดวงอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้ามาแล้ว แต่ถ้าปริมาณแสงในห้องนอนผิดเพี้ยนไป เช่น เปิดไฟทิ้งไว้ตอนนอน หรือเปิดทิวีทิ้งไว้แล้วเผลอหลับ สมองก็จะคิดว่า “อ่าว.. ก็ยังกลางวันอยู่นี่ จะรีบนอนไปทำไม? ตื่นขึ้นมาเร็ว!”

และสาเหตุสุดท้ายก็มาจาก ฮอร์โมนง่วงของเรามีไม่พอ ในระหว่างวันตอนที่เราตื่น สมองจะค่อยๆ หลั่งฮอร์โมนง่วง (Adenosine) ออกมาสะสมไปเรื่อยๆ พอกลางคืนฮอร์โมนนี้ก็จะมีมากพอที่จะบอกสมองว่า “นอนเถอะนะคนดี ง่วงหนักขนาดนี้ อย่าฝืนเลย” แล้วก็หอบสังขารเราไปนอน และในระหว่างที่หลับสมองจะชะล้างสารตัวนี้ออกไปเรื่อยๆ พอเช้ามาเราก็ไม่ง่วงแล้ว

กลับกันในคนที่เป็นโรคนอนไม่หลับ สารตัวนี้จะหายไปเร็วมากในช่วงกลางดึก เราจึงสะดุ้งตื่นได้ง่าย และหลับยากนั่นเอง



แก้ปัญหาตื่นก่อนนาฬิกาปลุกยังไงดี

1. นอนไม่หลับก็ลุกจากเตียงมาเลย
พอนอนไม่หลับทางแก้ของเราคือก็ข่มตามันให้หลับซะตรงนั้นเลย แต่ยิ่งข่มก็ยิ่งเครียด พอเครียดมากๆ เข้าสมองจะเชื่อมโยงเตียงนอนกับความเครียด ทำให้ทุกครั้งที่กลับมานอนเราก็จะไม่ง่วงอีก ดังนั้น การลุกออกจากเตียงจะเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจให้ออกมาจากเตียง ง่วงเมื่อไหร่ก็ค่อยกลับไปนอน

2. ออกไปเจอแสงตอนกลางวันเยอะๆ
พาตัวเองออกไปเจอแสงแดดหรือแสงไฟสว่างๆ กระตุ้นให้สมองตื่นตัวตอนกลางวัน กลางคืนก็หลับสบายขึ้น

3. ถ้าสะดุ้งตื่น อย่ามองนาฬิกาเป็นอันขาด!
การนับเวลาที่ผ่านไปจะยิ่งทำให้เครียด คิดมาก และกลับมาหลับยากขึ้นไปอีก

4. อย่างีบกลางวันเกิน 30 นาที
Power nap ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอยู่ที่ 10 - 20 นาที/ครั้ง ซึ่งเพียงพอให้สมองตื่นตัวแล้ว และอย่างีบตอนเย็นก่อนนอนโดยเฉพาะห้ามเผลอหลับคาทีวีเป็นอันขาด!

5. กินก่อนนอนแบบพอดีๆ
ทานอาหารเย็นให้เสร็จก่อนนอน 2 - 3 ชั่วโมง เลี่ยงการกินหนักแล้วนอนทันที เพราะร่างกายยังต้องใช้พลังงานในการย่อยอยู่

แม้ว่าภาวะตื่นตอนเช้าเร็วเกินไปจะเป็นเรื่องที่แก้ไม่ยากมาก แต่ถ้าเกิดขึ้นสะสมกันมากๆ อาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพขนาดใหญ่ได้ ถ้ารู้สึกว่าการนอนไม่หลับเริ่มส่อแววเป็นปัญหากับสุขภาพโดยรวมแล้ว แนะนำให้ปรึกษาหมอเพื่อรักษาเลยนะ
-->