ที่ (ยัง) โสดเพราะ Philophobia โรคกลัวการตกหลุมรัก...หรือเปล่า

“ก็โสดโสด อยู่ทางนี้ ยังโสดโสด อยากเอารักมาโหลดโหลด…” ร้องมาก็หลายปีแล้วยังไม่เห็นจะมีคู่กับเขาสักที หรือจะเป็นเพราะเลือดกรุ๊ปบีหรือเปล่านะ อ่ะ! มาดูตัวเลขผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติกันดีกว่า เขาบอกว่า ‘วัยทำงาน’ ในกลุ่ม Gen Y ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2523 - 2543 หรือคนที่มีอายุระหว่าง 22 - 42 ปี มีค่านิยมในการใช้ชีวิตคู่ที่เปลี่ยนไป คือ มุ่งทำงานให้ประสบความสำเร็จ ครองตัวเป็นโสด ไม่แต่งงาน และไม่มีลูก มีแนวโน้มสูงขึ้นติดต่อกัน 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2564 หรือตัวเลขคนโสดที่สูงขึ้นทุกๆ ปีจะเกี่ยวกับ...โรคกลัวการตกหลุมรัก (มั้ยนะ?)



มีด้วยเหรอ...โรคกลัวตกหลุมรัก?
โรคกลัวการตกหลุมรัก (Philophobia) หรือ โรคกลัวความรัก ถือเป็นความกลัวเมื่อต้องทำความรู้จักใครสักคน โดยถือเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อผู้คนรอบข้าง แต่ถ้ายังปล่อยให้กลัวความรักต่อไปเรื่อยๆ ก็อาจจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้เลย บางครั้งอาจทำให้เรากลายเป็นคนเก็บตัว ไม่กล้าออกไปเจอใคร พยายามที่จะหนีจากสังคม จนเกิดความเครียดและความกดดัน เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย โดยสาเหตุของโรคกลัวการตกหลุมรักอาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น….
  • ความเจ็บปวดจากครอบครัว เช่น ผู้ที่เติบโตมาท่ามกลางครอบครัวที่มีปัญหา ไม่ได้รับความอบอุ่น จนทำให้เกิดความกลัวและไม่เชื่อมั่นในความรักหรือการสร้างครอบครัว 
  • ประสบการณ์จากความรักที่ผิดหวัง ไม่ว่าจะพบเจอกับความรักที่ผิดหวังอย่างรุนแรง หรือการไม่สมหวังในความรักอยู่ซ้ำๆ ก็ทำให้ช้ำจนกลัวความรักไปเลย
  • วัฒนธรรมหรือศาสนา การถูกกีดกันหรือมีข้อห้ามเรื่องความรัก หรือถูกบังคับให้แต่งงานโดยไม่ได้เกิดจากความรัก ถือเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ไม่เชื่อมั่นในเรื่องของความรัก
  • ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ขาดความเชื่อมั่น หรือการเคารพตัวเอง คิดว่าตัวเองนั้นไม่ดีพอที่จะได้รับความรักจากใคร จนไม่กล้าเปิดใจให้กับใคร



เช็คสิ! อาการนี้กลัว (มี) ความรักมั้ย?
“กลัว” ความรัก กับ “ไม่อยากมี” ความรัก บางทีก็แยกไม่ค่อยออกเหมือนกันนะ ดังนั้นลองมาเช็คดูหน่อยมั้ยว่าตกลงที่เป็นอยู่แค่เพราะไม่อยากมีจริงๆ หรือว่ากลัวกันแน่ 
  • เป็นกังวลทุกครั้งที่จะต้องเริ่มต้นความสัมพันธ์แบบคนรัก หรือเวลาที่ตัวเองเริ่มรู้สึกหวั่นไหวกับใครสักคน
  • สร้างกำแพงและไม่เปิดโอกาสให้กับคนอื่นๆ ที่พยายามจะเข้ามาทำความรู้จักเรา
  • มีความสุขกับการอยู่คนเดียว และชอบทำอะไรคนเดียว
  • เกิดอาการมือชา เท้าชา หน้าชา หายใจเร็วแรง อาเจียน หรือ เป็นลม เมื่อถูกคนอื่นเข้ามาจีบ
ถ้าใครมีอาการแบบนี้ คุณอาจจะมีความเสี่ยงเป็นโรคกลัวความรัก เอาเข้าจริงๆ ก็ยังเสี่ยงจะเป็นโรคกลัวการเข้าสังคม หรือ Social anxiety disorde  เพราะในความสัมพันธ์ทุกๆ รูปแบบก็มักจะทำให้เรารู้จักคนอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงแค่ในรูปแบบของคนรักเพียงอย่างเดียวนะ

พร้อมปะทะ...ถ้าอยากมีความรักดีๆ
เอาจริงๆ ถ้าเรายังกลัวการตกหลุมรักอยู่ บางทีก็พลาดได้เจอกับรักดีๆ เหมือนกับคนอื่นๆ ดังนั้นถ้าคิดว่าตัวเองมีอาการแบบนี้อยู่ ลองหันมาปะทะกับสิ่งที่กลัว (Exposure Therapy) ดูมั้ยละ ซึ่งวิธีการรักษาในขั้นแรกที่ได้ผลค่อนข้างดี โดยผู้เชี่ยวชาญจะจัดให้ผู้ป่วยเจอกับสถานการณ์หวานๆ เพื่อฝึกให้มีแรงต้านทานต่อความกลัวของตัวเองเพิ่มมากขึ้น และลดแรงกดดัน ความวิตกกังวลเมื่อเจอสถานการณ์รักในชีวิตจริง นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาที่เรียกว่า ความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioral Therapy) โดยจิตแพทย์จะเข้ามาทำความเข้าใจ ชวนพูดคุยในประเด็นที่คนไข้รู้สึกกลัว เพื่อปรับทัศนคติเรื่องความรักให้ดียิ่งขึ้น หรือถ้ายังไม่ดีขึ้นอาจต้องใช้การรักษาด้วยยา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมอารมณ์และการแสดงออกของตัวเองได้ดีขึ้น เห็นอย่างนี้แล้วก็น่าจะลองดูสักยก เผื่อจะกลายเป็นคนคลังรักเหมือนกับคู่อื่นๆ เขาบ้าง

เรื่องของความรักมันก็มีดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพ (จิต) ใจ อะนะ เวลาเรามีความรักเรามักจะสดใสและดูร่าเริงกว่าปกติ อย่างงานวิจัยหลายแห่งบอกว่าคนมีความรักมีอัตราเสี่ยงต่อโรคมะเร็งน้อยกว่าคนโสด เอ้า!! งานนี้ต้องหาคู่มาให้ชุ่มชื่นหัวใจเหมือนกับคนอื่นเขาบ้างแล้วแหละ
-->