ผมอยากอยู่กับคุณ...แล้วคุณล่ะยังอยากมีผมอยู่มั้ย

จากการป่วยของโรคทั่วๆ ไป ที่จะแสดงความเจ็บปวดระดับต่างๆ ผ่านร่างกาย และอาจจะมีบ้างที่กระทบต่อจิตใจถ้าอาการป่วยใช้เวลากว่าจะหาย ในทางกลับกันจะมีโรคหนึ่งที่ถ้าลองได้เป็นแล้วจะไม่แสดงอาการเจ็บปวดใดๆ แต่รับรองว่าระบบจิตใจเตรียมพังได้เลย ยิ่งถ้าไม่สามารถรักษาให้หายได้แล้วล่ะก็ บางรายอาจเกิดภาวะเครียดหรือเสียความมั่นใจไปเลยตลอดชีวิต ซึ่งโรคนั้นก็คือโรคศีรษะล้าน





พูดมาถึงขนาดนี้แล้วเด็กวัยรุ่นคงรู้สึกอุ่นใจ และคิดว่าโรคนี้ยังเป็นโรคที่ไกลตัว เพราะภาพที่เห็นคือโรคนี้มักจะเกิดกับผู้สูงอายุซะมากกว่า แต่หารู้ไม่ว่าความเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพียงหยิบมือ เพราะนพ. สุรเดช พงษ์รัตนากุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมปลูกผม กล่าวว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มีศีรษะล้านเกิดจากกรรมพันธุ์ ประกอบกับข้อมูลวิจัยจาก Columbia University ให้ข้อมูลเชิงลึกเพิ่มอีกว่าโรคนี้มักเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

เกิดเป็นชายใครว่าจะสบายกว่าหญิง
ตามปกตินอกจากอวัยวะสืบพันธุ์ที่ธรรมชาติได้มอบความแตกต่างระหว่างชายหญิงแล้ว ยังมีฮอร์โมนบางตัวที่มีปริมาณไม่เท่ากัน ตัวอย่างที่เด่นชัดมากที่สุดคือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) สำหรับผู้หญิงการผลิตจะมีคร่าวๆ เพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ของฮอร์โมนทั้งหมด โดยผลิตจากรังไข่และหมวกไต แต่สำหรับผู้ชายแล้วฮอร์โมนนี้เป็นฮอร์โมนที่สำคัญที่สุดในร่างกาย โดย 95 เปอร์เซ็นต์จะผลิตจากอัณฑะ และอีก 5 เปอร์เซ็นต์จะผลิตโดยหมวกไต เพื่อทำหน้าที่กระตุ้นเรื่องความต้องการทางเพศ การสร้างอสุจิ กล้ามเนื้อ มวลกระดูก และปริมาณของเส้นขนตามร่างกาย ลองคิดดูสิว่าถ้าฮอร์โมนตัวนี้ค่อยๆ หมดไป จะเกิดปัญหาอะไรกับผู้ชายคนนั้นบ้าง 

จะเกิดผลอะไร เมื่อระบบฮอร์โมนในร่างกายเสียความสมดุล
เป็นไปตามกลไกธรรมชาติที่เมื่ออายุมากขึ้น สมรรถภาพของอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายจะค่อยๆ ถดถอย จึงไม่แปลกที่จากปกติผู้ชายที่มีปริมาณเทสโทสเตอโรนอยู่ที่ระหว่าง 300 – 800 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร (ng/dL) เมื่ออายุแตะเลข 3 ฮอร์โมนตัวนี้จะค่อยๆ ลดลงโดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่ปัญหานี้จะดูธรรมดามากเมื่อเทียบกับการรับมรดกโรคศีรษะล้านจากการส่งต่อพันธุกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มากไปกว่านั้นโรคศีรษะล้านจะมาเยือนเราได้เร็วขึ้นอีกถ้าฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนถูกบุกรุกจากเอนไซม์ 5α-reductase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกิดจากต่อมไขมันและต่อมเหงื่อบนหนังศีรษะ โดยมีข้อมูลจากเวปไซต์ Health Line ยืนยันว่าผู้ที่มีภาวะหนังศีรษะมันเสี่ยงต่อการเป็นโรคศีรษะล้านได้ง่ายกว่าผู้ที่มีหนังศีรษะแบบปกติ โดยเอนไซม์ตัวนี้อาจจะไม่ได้เข้ามามีผลกระทบต่อหนังศีรษะโดยตรง แต่จะเข้ามาเปลี่ยนสภาพฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนให้เป็นฮอร์โมน Dihydrotestosterone หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า DHT โดยผลที่ปรากฏเมื่อร่างกายเรามีระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติคือเส้นผมที่งอกใหม่มีขนาดเล็กหรือบางลง ค่อยๆ หลุดร่วง และเข้าสู่ภาวะต่อมเส้นผมนั้นหยุดการผลิตเส้นผมอย่างถาวร

ยารักษาโรคศีรษะล้านในอดีต เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ
ย้อนไปในอดีตในยุคที่สภาพจิตใจของผู้ป่วยโรคศีรษะล้านอยู่ในภาวะมืดมนเพราะยังไม่มียารักษา แต่ด้วยผลการรักษาจากการใช้ยาฟีแนสเทอไรด์  (Finasteride) เพื่อรักษาผู้ป่วยในโรคต่อมลูกหมากโต ตัวยาดังกล่าวจะออกฤทธิเพื่อลดปริมาณการสร้างเอนไซม์ 5α-reductase ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ได้ส่งผลข้างเคียงให้ผู้ที่รักษาโรคต่อมลูกหมากโตมีปริมาณของเส้นขนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นที่มาของการวิจัยและนำยาชนิดนี้มารักษาผู้ป่วยโรคศีรษะล้านอย่างจริงจัง โดยการรักษาจะเป็นการลดปริมาณยาจาก 5 มิลลิกรัมในการรักษาผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต เหลือเพียง 1 มิลลิกรัมสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคศีรษะล้าน และได้รับความนิยมแพร่หลายต่อมาทั่วโลก

การรักษามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง..ตามโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
หลังจากการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว หรือที่เรียกว่า single therapy ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ช่วงขณะใหญ่ ต่อมาเมื่อวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษามากขึ้น จึงมีการคิดค้นการรักษาโรคนี้ในแบบ combination therapy ซึ่งเป็นการรักษาด้วยยาร่วมกันศาสตร์อีกหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นการฝังเข็มกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด การคิดค้นวิตามินบำรุง ฟื้นฟูหนังศีรษะ การใช้เลเซอร์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นผมขึ้นมาใหม่ การนำเลือดของผู้ป่วยมาปั่น และคัดแยกเอาเฉพาะเกล็ดเลือดแล้วฉีดกลับเข้าไปที่หนังศีรษะ รวมไปถึงการฉีดสเต็มเซลล์เพื่อรักษา ได้พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงบ้างแต่ไม่ใช่กับทุกคน หรือบางรายอาจจะเห็นผลเฉพาะช่วงระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่ที่พบเหมือนกันคือการรักษาแบบดังกล่าวจะเห็นผลเฉพาะบริเวณที่ต่อมผลิตเส้นขนบริเวณนั้นยังพอมีสัญญานชีพอยู่บ้าง หรือแม้ว่าการหายใจของต่อมนั้นจะโรยรินแต่ก็ยังพอมีหวัง ในทางกลับกันถ้าส่วนไหนที่ต่อมผลิตเส้นผมสิ้นชีพแล้วก็ต้องทำใจและยอมรับสภาพว่าไม่สามารถกู้ชีพขึ้นมาได้อีก

เมื่ออุปมาให้เส้นผมเป็นต้นไม้..จะช่วยให้เข้าใจระบบมากขึ้น
การนำยานอวกาศออกไปนอกโลกยากฉันใด การคิดค้นนวัตกรรมการย้ายเส้นผมก็ยากฉันนั้น แต่ใช่ว่าจะไม่สำเร็จ ณ ปี 2020 นี้ วงการการแพทย์ด้านผิวหนังและเส้นผมต้องยอมซูฮกว่ามีวิธีเดียวที่จะทำให้บริเวณที่ต้นไม้ตายแล้ว กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งไม่ใช่การใช้รากเดิม แต่เป็นการย้ายต้นไม้จากส่วนอื่นมาปลูกแทน และต้นไม้ที่แข็งแรงที่สุดคือต้นไม้ที่อยู่บริเวณด้านข้างและท้ายทอย ซึ่งเมื่อลองนึกภาพตามจะเห็นได้ว่าคนที่เป็นโรคศีรษะล้าน ส่วนที่ผมจะร่วงเป็นลำดับสุดท้ายคือบริเวณดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการว่าเรียกเส้นผมบริเวณนั้นว่าเป็นเส้นผมถาวร แต่ก็ต้องแลกมากับการที่ต้องสละเส้นผมและรากผมกลุ่มนั้นไปเลย และพื้นที่ส่วนนั้นจะไม่มีการงอกของเส้นผมขึ้นมาอีก แต่ถึงอย่างไรก็ยังเป็นการรักษาที่คุ้มค่าและดีที่สุดในปัจจุบัน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะกระจายการเลือกเส้นผมไม่ให้พื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งโล่งเตียนไปซะหมด

ความแม่นยำจากการรักษาระบบอัตโนมือ
การย้ายเส้นผมมาปลูกใหม่ หรือที่เรียกว่าเทคนิคการรักษาแบบ Follicular Unit Extraction (FUE) ในช่วงแรกถูกทำด้วยคน และขึ้นชื่อว่าคนย่อมมีความผิดพลาดบ้าง ประกอบกับการถอน ย้าย และปลูกผมต้องใช้บุคลากรเป็นจำนวนมาก จึงทำให้กระบวนการทั้งหมดเกิดมาตรฐานที่อาจจะไม่เท่ากัน ส่งผลให้เส้นผมที่ถอนออกมาทั้งหมดเกิดการเสียหายในบางส่วน โดยส่วนดังกล่าวจะไม่สามารถใช้งานได้เลยเนื่องจากขาดความสมบูรณ์ของรากผม จึงได้มีการคิดค้นหุ่นยนต์เพื่อใช้ในการทำ FUE ขึ้น และเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์เกือบ 100 ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามการใช้หุ่นยนต์เข้าช่วยก็ยังไม่เป็นที่นิยมมากนักเพราะใช้เวลานานกว่าการใช้แรงงานคนเกือบ 3 เท่า บวกกับค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องสมองกลนี้ค่อนข้างสูง คนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเสี่ยงในการสูญเสียเส้นผมแทนการเสียเงินจำนวนมหาศาล

ถอนรากผมให้สมบูรณ์ว่ายากแล้ว...การนำมาปลูกยากยิ่งกว่า
เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ผนึกกำลังกับผู้ช่วยจำนวนมากได้คัดเส้นผมที่ดีที่สุดได้แล้ว ลำดับต่อมาคือการเริ่มปลูกผมบริเวณหนังศีรษะที่ต่อมเส้นผมหยุดการผลิตไปแล้ว ขั้นตอนนี้เองจะเป็นตัวชี้วัดเลยว่าสิ่งที่ได้ลงแรงไปทั้งหมดจะเกิดผลสัมฤทธิมากน้อยแค่ไหน แต่ในส่วนนี้จะไม่ได้เป็นหน้าที่เฉพาะของผู้เชี่ยวชาญในการปลูกผมเท่านั้น แต่ผู้ป่วยเองต้องให้ความร่วมมืออย่างมากในการเตรียมหนังศีรษะให้พร้อมด้วย โดยก่อนที่จะทำการย้ายเส้นผมมาปลูก แพทย์จะให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วยอย่างละเอียด โดยจะเริ่มตั้งแต่การปรับฮอร์โมนในร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในสัดส่วนถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ผนวกกับการดูแลเรื่องโภชนาการ โดยจะให้ผู้ป่วยทานอาหารที่มีวิตามิน B ซึ่งพบในกลุ่มธัญพืช ตับ ไข่ และผักใบเขียวให้มากขึ้น และระหว่างรอการปลูกผม ต้องงดการใช้สารเคมีทุกชนิดกับหนังศีรษะ เพื่อให้เกิดการสัมฤทธิมากที่สุด จากการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดของผู้ป่วย The University of Manchester กล่าวว่ามีโอกาสสำเร็จได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ 

เส้นขนส่วนตามอวัยวะอื่น..นำมาทดแทนกันได้หรือไม่
อย่างที่เห็นว่าร่างกายเรามีเส้นขนอยู่หลายส่วน หลายๆ คนอาจสงสัยว่าสามารถนำเส้นขนจากส่วนอื่นมาลงแปลงบนหนังศีรษะได้หรือไม่ คำตอบคือได้ แต่ต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้นว่า เส้นขนแต่ละส่วนก็ลักษณะที่แตกต่างกันยกตัวอย่างเช่นการนำเส้นขนบริเวณรักแร้ หรืออวัยวะเพศมาปลูกบนหนังศีรษะ เส้นขนที่จะเกิดขึ้นจะมีลักษณะหงิกหงอเป็นธรรมดา และอาจจะมีอัตราการโตค่อนข้างช้ากว่าเส้นผมเจ้าถิ่นเอง 

การปรับฮอร์โมนด้วยการทานยา...ลือกันว่าทำให้ความต้องการทางเพศลดลง
อีกหนึ่งความเข้าใจคลาดเคลื่อนคือมีความเชื่อว่า เมื่อผู้ป่วยรับยาเพื่อปรับฮอร์โมน อาจเกิดผลข้างเคียงและส่งผลให้มีความสุขในเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ลดลง โดยเฉพาะกับคุณผู้ชายที่อาจพบได้ว่ามีอาการนกเขาไม่ขันนั้นเป็นเรื่องที่ยังไม่มีผลวิจัยรองรับ เพราะแพทย์ผู้รักษาจริงเคยให้ผู้ป่วยที่รับยาปรับฮอร์โมนลองเปลี่ยนคู่นอน กลับพบว่ากิจกรรมเรื่องบนเตียงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศหลังจากรับยาเพื่อปรับฮอร์โมนนั้น ก็พอมีข้อมูลบ้างแต่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพียงแค่อัตรา 1 เปอร์เซ็นต์

เตรียมดูแลผืนป่าแต่เนิ่นๆ...ดีกว่าการรื้อใหม่ยกแผง
อ่านบทความมาตั้งนาน ทีนี้เชื่อหรือยังว่าการป้องกันโรคศีรษะล้านทำได้ง่ายกว่าการรักษา เพียงแค่ใส่ใจเรื่องโภชนาการ การพักผ่อน รวมไปถึงลดความเครียดและหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกับหนังศีรษะ ซึ่งสองประเด็นหลังนี้ถึงแม้จะยังไม่มีผลวิจัยยืนยันว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคศีรษะล้าน แต่นาทีนี้อะไรก็ตามที่อาจทำให้เพิ่มโอกาสแม้มีอัตราเพียงแค่ 0.01 เราก็ควรงด ซึ่งงดในทีนี้คือการดจริงจัง ไม่ได้หมายความว่างดแต่ก็ยังทำได้อยู่ เพื่อจะได้ไม่มานั่งเสียใจภายหลังว่า เราเป็นคนทำร้ายตัวเราเอง 

 
-->