พักการออกกำลังกายด่วน! หากมีอาการเหล่านี้



คุณเป็นคนหนึ่งที่เสพติดการออกกำลังกายจนหยุดไม่ได้หรือเปล่า แม้บางครั้งจะรู้สึกเหนื่อยล้าหรือบาดเจ็บ ก็ยังเข้าข้างตัวเองว่าเป็นอาการธรรมดาๆ ของคนที่ออกกำลังกาย แล้วดันทุรังเล่นต่อแบบไม่หยุด ในความเป็นจริงสัญญาณเตือนหรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นมันกำลังแสดงว่าร่างกายต้องการ “พัก” แล้ว...

มาดูกันกว่าว่าอาการแบบไหนบ้างที่ไม่ควรมองข้าม แล้วเราควรทำอย่างไร? กับอาการเหล่านั้น
อาการต่างๆ ก็เช่น   เจ็บ ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นหลัง ไหล่ หัวเข่า เท้า ข้อเท้า  ความต้องการทางเพศลดลง ความรู้สึกทางเพศต่ำลง บางคนก็นอนไม่ค่อยหลับ รู้สึกจิตใจอ่อนล้า หดหู่ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีเรื่องกระทบจิตใจ หรือน้ำหนักลดลงแบบฮวบฮาบผิดปกติ
 
ส่วนในผู้หญิงอาการที่เห็นได้ชัดคือ การที่ประจำเดือนไม่มาหรือมาช้ากว่าปกติ เพราะการออกกำลังกายหนักเกินไปจะเป็นตัวเร่งการผลิตฮอร์โมนความเครียดที่ชื่อว่า “คอร์ติซอล” ซึ่งทำให้การผลิตฮอร์โมน "เอสโตรเจน" ลดลง
 
เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดอาการเหล่านี้ เรามักแนะนำให้พักหรือหยุดการออกกำลังกายหนักๆ แบบที่เคย สัก 1 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่อยากหยุดไปเลย ก็อาจใช้วิธีลดความหนัก ลดเวลา หรือความถี่ลง เช่น จากที่เคยออกกำลังกาย 1 ชั่วโมง ก็ลดเหลือ 30 นาที จากที่เคยวิ่งเร็วๆ ก็เหลือแค่จ๊อกกิ้งเบาๆ
 
หันมาฟื้นฟูร่างกายด้วยการ เลือกกินอาหารที่ย่อยง่าย และให้ครบ 5 หมู่ เข้านอนเร็วขึ้น แบ่งเวลามาทำสมาธิเงียบๆ ฟังเพลงเบาๆ โดยจัดให้เป็นสัปดาห์แห่งการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจไปเลย ไม่ต้องห่วงว่าความฟิตจะลดลง เพราะการได้พักแบบนี้กลับจะทำให้ความฟิตเพิ่มขึ้นหรืออย่างน้อยก็กลับมาฟิตเหมือนเดิมในเวลาเพียงไม่กี่วัน
 
ทบทวนตัวเองใหม่ ให้การออกกำลังกายเป็นเรื่อง Happy
การทบทวนสภาพร่างกายหรือเป้าหมายการออกกำลังกาย ไม่ใช่การหาข้ออ้างที่จะไม่ลุกจากเตียงหรือล้มเลิกแผนการออกกำลังกายไปทั้งหมด เพียงแต่เราควรเข้าใจว่า เราใช้ร่างกายได้เหมาะสมหรือยัง หรือมันเสี่ยงร่างพังเกินไปหรือเปล่า โดยกำหนดแนวทางเป็น 5 อย่างนี้
 
1.ความหนัก    ถ้าอยากแกร่งขึ้นแต่ยังไม่อยากเจ็บก็ต้องค่อยๆ เพิ่มความหนัก อย่างการเล่นเวทเทรนนิ่งที่ใช้น้ำหนักมากขึ้น หรือการวิ่งลู่ก็ค่อยๆ เพิ่มความชันเพื่อให้ร่างกายทำงานหนักขึ้น การมุ่งเป้าเพื่อเผาผลาญแคลอรีต้องดูความพร้อมในการปรับตัวของร่างกายในแต่ละวัน ถ้าจะให้ดีควรจัดให้มีวันหนักสลับวันเบา ผลที่ได้ในระยะยาวจะคุ้มค่ากว่า

2.ความต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปั่นจักรยาน วิ่ง ตีแบดฯ หรืออะไรก็ตาม จำนวนนาทีหรือชั่วโมงที่เล่นนั้นมีความสำคัญ เพราะร่างกายต้องการพลังงานและการพัก หากโหมเล่นนานแบบไม่พัก อาจทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บ หรืออัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นมากจนหนักเกินไป แม้แต่การยกเวทก็ต้องมีเวลาพักของกล้ามเนื้อแต่ละมัดเป็นเซตๆ 

3.ความถี่ การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายหลายวันติดต่อกันโดยไม่มีวันพัก หรือบางคนซ้อมเช้าซ้อมเย็น แบบนี้ร่างกายก็ไม่ไหวนะ ควรกำหนดวันพักอย่างจริงจังอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 วัน หรือแบ่งมาเป็นวันเบาๆ ที่เบาจริงๆ
 
4.ประเภทการออกกำลังกายและกีฬา    ถ้าเป็นไปได้ ควรเลือกรูปแบบการออกกำลังกายให้หลากหลาย และเล่นสลับกัน ถ้าต้องการสร้างกล้ามเนื้อก็เล่นเวทเทรนนิ่ง แต่อย่าลืมการบริหารหัวใจและปอดด้วยกีฬาแบบแอโรบิกอย่างการวิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ และต้องไม่ลืมเรื่องความยืนหยุดของกล้ามเนื้อ อย่างการเล่นโยคะซึ่งจะได้ความแข็งแรงเสริมด้วย และไม่ว่าวันไหนจะเล่นอะไร การวอร์มอัพ การคูลดาวน์ และการยืดเหยียดยังสำคัญเสมอ
 
5.เวลาพัก ช่วงเวลาพักไม่ว่าจะเป็นพักระหว่างเล่น หรือพักระหว่างวัน ระหว่างสัปดาห์ ต้องพักให้เพียงพอ ลองสังเกตตัวเองว่า รู้สึกอ่อนล้า เหนื่อยง่าย หรือนอนหลับไม่สนิทหรือเปล่า ถ้ามีปัญหาเหล่านี้ควรแบ่งเวลาพักอย่างจริงจัง อาจจะต้องพักอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 วัน หรือพักแบบ 2 วันติิดกัน เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวอย่างเต็มที่ใน 48 ชั่วโมง

จริงๆ แล้ว... เรารู้ว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และสนับสนุนให้ทุกคนทำมัน แต่ถ้าหนักหรือมากเกินร่างกายจะรับไหว นั่นอาจเป็นการทำร้ายร่างกายซะมากกว่า!!

 
-->