สังเกตพฤติกรรม! ในวันที่ลูกกำลังเริ่ม ‘เลือกเพศของตัวเอง’

การสำรวจอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) เป็นกระบวนการทางจิตใจที่เด็กจะเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘เราเป็นใคร’ ในแง่ของเพศ ซึ่งบางครั้งคำตอบที่ได้อาจไม่ได้ตรงกับเพศกำเนิด (Biological Sex) เสมอไป แล้วเราจะสังเกตได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ที่ลูกเริ่มส่งสัญญาณ โดยเราจะแบ่งออกเป็นช่วงอายุ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ เพราะเมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของเด็กในแต่ละช่วงวัย เราก็จะรู้วิธีรับมืออย่างเหมาะสม



ช่วงวัยทารก - 2 ปี ในช่วงวัยนี้เด็กอาจจะยังไม่ได้แสดงอัตลักษณ์ทางเพศออกมาอย่างชัดเจน เนื่องจากเขายังอยู่ในช่วงที่กำลังมีการพัฒนาทางด้านร่างกายและสติปัญญา เด็กจะยังไม่มีความเข้าใจเรื่อง ‘เพศ’ หรือ ‘ตัวตน’ การแสดงออกของเขายังคงเป็นไปตามพัฒนาการทางร่างกายและการเลียนแบบ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเลี้ยงแบบเปิดกว้าง ไม่ไปจำกัดเพศของของเล่นว่า ของเล่นชิ้นนี้เป็นของเล่นผู้ชาย หรือของเล่นชิ้นนี้เป็นของเล่นผู้หญิง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นและเรียนรู้โดยไม่จำกัดว่าอะไรเหมาะกับเพศไหน 

ช่วงอายุ 2 - 5 ปี ช่วงนี้เป็นวัยที่เด็กๆ จะเริ่มสร้างตัวตนและเริ่มที่จะสำรวจเพศผ่านการเล่นและการพูด เด็กจะเริ่มเรียนรู้ความแตกต่างของเพศผ่านของเล่น บทบาทสมมุติ รวมถึงภาษาที่ใช้เรียกตัวเอง และเริ่มมีพฤติกรรมที่สะท้อนความรู้สึกเกี่ยวกับ ‘ตัวตน’ ของพวกเขา เช่น เด็กอาจจะเลือกของเล่นหรือกิจกรรมที่ต่างจากเพศกำเนิด ชอบเล่นบทบาทของเพศตรงข้าม ไปจนถึงไม่พอใจเมื่อถูกเรียกโดยใช้สรรพนามที่ตรงกับเพศกำเนิด เป็นต้น



ช่วงอายุ 6 - 9 ปี ในวัยนี้เด็กจะเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อน และเริ่มมีความเข้าใจเรื่อง ‘เพศ’ ความแตกต่างระหว่าง ‘ชาย’ ‘หญิง’ จากสิ่งที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า บทบาท หรือพฤติกรรม เริ่มมีการรับอิทธิพลจากโรงเรียน เพื่อน และสื่อ เด็กบางคนไม่ชอบใส่เสื้อผ้าหรือทำกิจกรรมที่ตรงตามเพศกำเนิด เช่น เด็กผู้หญิงอาจไม่ชอบการใส่กระโปรง หรือชอบเล่นต่อสู้เหมือนอย่างผู้ชาย คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรกดดันเรื่องเพศ เพราะอาจสร้างปมให้เด็กได้  

ช่วงอายุ 10 - 13 ปี เรียกว่าเป็นช่วงก่อนวัยรุ่น (pre-teen) เด็กจะเริ่มมีความรู้สึกที่ชัดเจนเกี่ยวกับตัวตนของตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อร่างกายเริ่มเปลี่ยนไปตามวัย เด็กอาจเริ่มรู้สึกว่าตัวเอง ‘แตกต่าง’ จากเพื่อน เด็กบางคนอาจรู้สึกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตัวเอง เช่น ประจำเดือน เสียงแตก หรือมีหน้าอก เพราะรู้สึกไม่สบายใจในเพศของตัวเอง เริ่มแยกตัวจากกลุ่มเพื่อนเพศเดียวกันเพราะรู้สึกแตกต่าง หรือกลัวถูกล้อเลียน

ช่วงอายุ 14 ปีขึ้นไป ช่วงนี้เป็นช่วงวัยรุ่นตอนต้นถึงตอนปลาย เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ที่เด็กจะแสดงและเข้าใจถึงอัตลักษณ์ทางเพศได้อย่างชัดเจนและลึกซึ้งที่สุด เด็กบางคนอาจตัดสินใจ ‘come out’ กับครอบครัว เพื่อน และสังคม ในบางคนอาจเริ่มพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเพื่อให้สอดคล้องกับเพศที่รู้สึกว่าตัวเองเป็น บางคนเริ่มบอกว่าตัวเองเป็น Non-Binary หรือ Transgender บางคนเริ่มขอเปลี่ยนชื่อในเอกสารทางการ หรือเริ่มสนใจการรับฮอร์โมนหรือการผ่าตัดเปลี่ยนเพศ และในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงวัยที่หลายคนเริ่มรู้สึกมีคุณค่าในตนเองมากขึ้นเมื่อได้รับการยอมรับ 

มีงานวิจัยจากโครงการ Family Acceptance Project ของมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก ที่พบว่าเยาวชน LGBTQ+ ที่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวมีโนวโน้มในการลดความเสี่ยงของการซึมเศร้า พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และการพยายามฆ่าตัวตายลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

 
“ความรักและการยอมรับของครอบครัวคือเกราะป้องกันสุขภาพจิตที่ดีที่สุด
สำหรับเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ”
APA, Trevor Project, HRC



 
-->