เบาหวานขึ้นตา…ไม่ต้องชราก็เป็นได้

“ความหวาน” ถ้าไม่ใช่เรื่องรักอาจต้องพักกันหน่อย เพราะจากสถิติการสำรวจของกรมอนามัยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (ส.ส.ส.) พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา หรือเกินกว่าปริมาณแนะนำถึงกว่าสามเท่า ซึ่งการกินหวานก็อย่างที่หลายคน (อาจจะ) รู้ดีอยู่แก่ใจว่าสามารถนำมาซึ่งผลเสียต่อสุขภาพ ที่แน่ๆ เลยก็คือโรคเบาหวาน ยิ่งถ้าควบคุมไม่ดีล่ะก็ มีสิทธิ์ขึ้นตาได้เลย ซึ่งจากประสบการณ์ของ พญ.พรทิพา เจริญจิตรวัฒนา แพทย์ประจำสาขาจักษุทั่วไป โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ นั้นพบว่ามีผู้ป่วยด้วยอาการของโรคเบาหวานขึ้นตามาเข้ารับการรักษาด้วยอายุเพียง 20 ต้นๆ เท่านั้น นี่ก็เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องขอคำปรึกษาคุณหมอ เพื่อทำความรู้จักและเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองจาก “โรคเบาหวานขึ้นตา” นี้กันหน่อยแล้ว



น้ำตาล...ตัวการต้นเหตุ
เบาหวานคือภาวะที่ตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากงดอาหาร เกินกว่า 126 มก./ดล. ซึ่งหากว่าไม่ได้รับการรักษา ดูแล หรือควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ก็อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้ รวมถึงโรคเบาหวานขึ้นตา ซึ่งคุณหมอพรทิพา บอกว่าเกิดจากน้ำตาล ที่เป็นสาเหตุหลักของโรค “โรคเบาหวานนี่ทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งตัวน้ำตาลนี่ล่ะที่จะไปทำให้เส้นเลือดขนาดเล็กในร่างกายเราเปราะบาง แตกง่าย โดยสามารถเป็นได้กับทุกระบบ ทุกเส้นเลือดทั่วร่างกาย แต่ว่าที่ตาก็จะตรวจเจอง่าย เจอเร็ว ดังนั้นคนไข้ส่วนใหญ่ก็มักจะมาด้วยเรื่องเส้นเลือดที่จอประสาทตาซึ่งอาจจะมีการแตก มีเลือดออกในตา มีน้ำโปรตีนรั่ว น้ำเหลืองรั่วออกมา รวมถึงอาจจะมาด้วยเรื่องของจอรับภาพบวม จอรับภาพขาดเลือด เหล่านี้ซึ่งก็จะมีอาการเด่น คือการเกิดตามัวขึ้นอย่างรวดเร็ว”

เบาหวานขึ้นตา...อาการเป็นแบบนี้
นอกเหนือจากอาการตามัวแล้ว โดยส่วนใหญ่ของโรคเบาหวานขึ้นตา คุณหมอบอกว่าเมื่อเป็นในระยะเริ่มแรกคนไข้มักไม่รู้ตัว กว่าจะแสดงอาการให้คนไข้รู้ตัว ก็อาจเป็นในระยะที่หนักขึ้นแล้ว “อาการของโรคเบาหวานขึ้นตานี้ก็จะขึ้นอยู่กับระยะที่เป็น หากคนไข้เบาหวานมีอาการจนถึงขั้นเริ่มขึ้นตาแล้ว ก็จะมีปัญหาที่จอประสาทตา ซึ่งถ้าคนไข้เป็นในระยะแรกบางทีก็จะไม่มีอาการอะไรเลย แต่แพทย์สามารถตรวจพบว่ามีความผิดปกติที่จอประสาทตา ยกเว้นว่าถ้ามีการแสดงอาการแบบเริ่มๆ เช่น จอรับภาพบวมก็จะเริ่มมีอาการมัว ซึ่งอาการมัวนี้จะเป็นตัวนำ แต่ในรายที่เป็นในระยะต่อไปก็คือ ระยะ 2 ที่อาการเริ่มมากขึ้น ก็จะมีการผิดปกติมากขึ้น เช่น อาจจะมีอาการจอประสาทตาขาดเลือด เกิดเส้นเลือดงอกใหม่ มีเลือดออกในตา จอตามีพังผืด จอตาบวมเยอะ จอประสาทตาลอก ก็คือเป็นสเต็ปแย่ลงๆ มากขึ้นๆ โดยที่พบมากสุดก็คือ จอประสาทตาขาดเลือดจากเบาหวาน ถ้าเป็นมากขึ้นก็จะทำให้เกิดเลือดออกในวุ้นตา จอประสาทตาหลุด จอรับภาพขาดเลือด เหล่านี้คือเป็นโรคโดยตรง กับอีกแบบคือโรคตาที่จะเกิดจากเบาหวาน ซึ่งที่จะเจอมากขึ้นในคนไข้เบาหวานก็คือต้อกระจก คือจะทำให้เป็นเร็วกว่าคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน เพราะมีการสะสม มีการเพิ่มขึ้นของน้ำตาล ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีของระบบน้ำตาลกับตัวเนื้อเลนส์  ก็จะเป็นต้อกระจกได้ง่ายขึ้น ส่วนในระยะท้ายๆ ถ้าเบาหวานขึ้นตามากๆ ก็อาจจะเกิดเป็นต้อหินตามมาอีกโรคหนึ่งได้ ซึ่งจะทำให้มีอาการมัวเยอะ ปวดรุนแรง ก็ต้องมาทำการรักษาโรคต้อหินเพิ่ม ซึ่งการรักษาค่อนข้างยาก”



การรักษา...ที่อาจไม่ได้กลับมาเหมือนเดิม
ด้วยระดับอาการก็ขึ้นอยู่ระยะที่คนไข้เป็น ดังนั้นในการรักษาคุณหมอพรทิพาจึงได้อธิบายว่ามีขั้นตอนการรักษาที่แตกต่างกันไป คือ “การรักษาก็ขึ้นอยู่กับระยะที่คนไข้แต่ละคนเป็น ถ้าเป็นระยะแรกๆ ส่วนใหญ่ไม่ต้องทำอะไร ใช้การเฝ้าติดตาม นัดมาดูเป็นระยะๆ ไปตามที่คุณหมอนัด แต่ถ้าเป็นในระยะที่ 2 แล้ว คือมีการงอกของเส้นเลือดที่มันผิดปกติ หรือ Proliferative Diabetic มีเลือดออกแบบนี้ สเต็ปการรักษาก็จะเป็นขั้นๆ โดยส่วนใหญ่ก็เริ่มด้วยเลเซอร์ คือต้องยิงเลเซอร์เข้าตา พอมาขั้นที่ 2 ถ้ายิงเลเซอร์แล้วไม่ได้ผล หรือว่าในรายที่ยิงเลเซอร์ไม่ได้ก็จะมีการฉีดยาเข้าไปในวุ้นตา หรือถ้าเป็นเยอะมากๆ ถึงขั้นมีพังผืด จอประสาทตาหลุดลอก ก็ต้องถึงขั้นผ่าตัด ต้องไปผ่าตัดวุ้นตา ไปฉีดแก๊สซิลิโคนเพื่อที่จะแก้ไขเรื่องจอหลุดลอก ซึ่งหลังการรักษาโดยส่วนใหญ่แล้วการมองเห็นจะไม่ได้กลับมา 100% คือถ้าถึงขั้นระยะที่ 2 ที่ต้องเลเซอร์แล้ว แต่ถ้าเป็นน้อยๆ ก็อาจจะยังพอกลับมาได้ คือถ้าบวมนิดหน่อย พอเลเซอร์ไปแล้วยุบบวม สายตาก็อาจจะดีขึ้นได้บ้าง แต่ในกรณีที่เป็นเยอะมาก ถึงขั้นว่ามีเลือดออกเยอะ มีพังผืด หรือจอประสาทตาดึงคืออาการของจอประสาทตาลอกมักเกิดจากน้ำวุ้นลูกตาด้านหลังเสื่อมตามอายุมีการหดตัวและลอกออกจากจอตา ส่วนใหญ่แล้วจะรักษาเพื่อให้อาการคงที่ไว้ ไม่ให้แย่ลงไปกว่านี้ หรือว่าแย่ลงไปกว่านี้ช้าลงและน้อยลง” 

แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ไม่ต้องไปถึงขั้นตอนการรักษาดังกล่าว ก็คือการดูแลตัวเอง โดนคุณหมอพรทิพาได้แนะนำทิ้งท้ายไว้เพื่อให้คนไข้เบาหวาน ไม่ต้องมีอาการเบาหวานขึ้นตา “อย่างแรกเลยก็คือต้องคุมเบาหวานให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ เฝ้าติดตามอาการกับคุณหมออายุรกรรมอย่างใกล้ชิด พยายามไม่ไปซื้อยาทานเอง หรือรักษาตัวเอง ขาดการเจาะเลือดติดตาม เช็คระดับน้ำตาล คือต้องพยายามคุมเบาหวานให้เข้มงวด ส่วนข้อ 2 ถ้ามีโรคประจำตัวอย่างอื่น เช่นความดันสูง ไขมันสูง ก็ต้องคุมด้วยไม่ใช่คุมแต่เบาหวานอย่างเดียว เพราะทั้งหมดนี้จะเป็นตัวเสริมทำให้ระบบเส้นเลือดผิดปกติ ดังนั้นก็ต้องคุมโรคอื่นด้วย แล้วก็ให้งดบุหรี่ ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือบุหรี่ก็ทำให้เส้นเลือดตีบตันง่าย แล้วก็มาตรวจตาสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด ซึ่งคุณหมอก็จะนัดเป็นระยะๆ อยู่แล้ว”


เอาล่ะ! สายหวานคนไหนที่ชอบเติมน้ำตาลไม่มีแผ่ว งานนี้ต้องปรับพฤติกรรมกันหน่อยแล้วล่ะ
เอาเป็นว่าไม่อยากเสี่ยง ‘เบาหวานขึ้นตา’ ต้องรู้จัก ‘เบาได้เบา’ บ้าง 
-->