เบาหวานลงเท้า...จำเป็นแค่ไหนที่ต้องตัดออก?

“ตัดให้ขาดเลย ชับ ชับ ชับ” เพราะในความเป็นจริงไม่ได้ตัดกันง่ายๆ เหมือนในเพลง ถึงได้ต้องมานั่งกลุ้มใจกับภาวะเบาหวานลงเท้าว่าจะตัดดีไหม ตัดแล้วจะหายหรือเปล่า เพราะจากข้อมูลของสมาพันธ์เบาหวานโลกได้บอกไว้ว่า 70% ของคนที่โดนตัดขามีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน ก็เลยต้องให้ นพ.สร ตันสุธัญลักษณ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เฉพาะทางการผ่าตัดเท้า ข้อเท้าและดูแลเท้าเบาหวาน จากโรงพยาบาลเปาโล พระประแดง มาเฉลยว่าถ้าเป็นเบาหวานต้องตัดเท้า...เลยเหรอ?



คุมน้ำตาลไม่ดีมีสิทธิ์ (เบาหวาน) ลงเท้า
โรคเท้าเบาหวาน หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่าเบาหวานลงเท้ามักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมาระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งมีการคุมน้ำตาลที่ไม่ดี จนเป็นเหตุให้อาการเบาหวานที่เป็นอยู่รุนแรงลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ รวมถึงที่เท้า ซึ่งคุณหมอได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า 

“คนไข้เบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ดีเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เส้นเลือดเส้นประสาททั่วร่างกาย โดยเฉพาะเส้นเล็กๆ โดนทำลายหรือมีการอักเสบขึ้นมา  หากเป็นที่เท้าเมื่อเส้นเลือดเส้นประสาทถูกทำลายสิ่งที่จะตามมาก็คืออาการเท้าชา  นี่คืออาการแรกเลย ตามมาด้วยอาการที่ 2 หลังจากเส้นประสาทโดนทำลาย กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นต่างๆ ที่เท้าก็จะสูญเสียการรับคำสั่งจากเส้นประสาท ทำให้เกิดการผิดรูป กล้ามเนื้อฝ่อ เพราะฉะนั้นในระยะที่ 2 ของโรคเท้าเบาหวาน หรือเบาหวานลงเท้าก็คือนิ้วเท้าหรือทรงเท้าเริ่มมีการผิดรูป และเมื่อผิดรูปแล้วเวลาเดิน การลงน้ำหนักของคนที่เป็นเบาหวานกับคนที่มีเท้าปกติก็จะไม่เหมือนกัน เพราะคนที่เป็นเท้าเบาหวานจะมีนิ้วเท้าผิดปกติ การลงน้ำหนักที่เท้าก็ผิดปกติไปด้วย ซึ่งเมื่อตำแหน่งที่ลงน้ำหนักผิดปกติไป มีการลงน้ำหนักบางจุดเยอะเกินไป ก็จะเกิดเป็นตาปลาแข็งๆ บริเวณใต้ฝ่าเท้า ซึ่งถ้าแข็งมากขึ้นก็จะไปจิ้มชั้นผิวหนัง หรือชั้นเนื้อเยื่อด้านบนจนเกิดเป็นแผลขึ้นมาในที่สุด”
แผลเบาหวาน...ใช้เวลานานกว่าจะหาย
ถ้าดูจากบาดแผลไม่ว่าจะเป็นของคนทั่วไปหรือผู้ป่วยเบาหวานก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่สิ่งที่จะบอกได้ถึงลักษณะของแผลเบาหวาน คุณหมอบอกว่าต้องให้เวลาเป็นตัวช่วย 

“ปกตินี่คนทั่วไปถ้าเป็นแผลถลอก แผลโดนเฉือนเล็กน้อย พอผ่านไปสัก 1 – 2 สัปดาห์ก็ควรจะต้องเห็นความก้าวหน้า หรือการฟื้นฟูของตัวแผลจะต้องค่อนข้างสนิทแล้ว แต่คนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานนี่สำคัญเลยคือแผลของเขาจะหายช้าผิดปกติ สาเหตุเพราะคนไข้ที่เป็นเท้าเบาหวานจะมีอาการของเส้นประสาท เส้นเลือดที่ถูกทำลาย ทำให้เลือดไปเลี้ยงที่เท้าน้อยลง โดยเฉพาะที่แผล รวมถึงร่างกายก็จะมีภูมิคุ้มกันที่แย่ลง ส่งผลให้การต่อสู้กับเชื้อโรค การฟื้นฟูของแผลช้ากว่าคนปกติ ยิ่งถ้าดูแลไม่ดี ไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะมีความเสี่ยงอย่างอื่นที่ทำให้เกิดแผลเป็นมากขึ้น อย่างการไม่ได้เปลี่ยนรองเท้า ก็จะทำให้แผลติดเชื้อลามขึ้นไปได้ อาจจะลามถึงชั้นผิวหนัง กระดูก หรือข้อเท้าได้เช่นกัน”
 วิธีการดูแลตัวเองเมื่อมีแผลเบาหวาน คุณหมอแนะนำว่าควรให้บุคคลากรทางการแพทย์หรือผู้ที่เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเป็นผู้ทำแผลให้จะดีที่สุด 
“การทำแผลเองคนไข้อาจจะทำไม่ถูกต้อง ไม่สะอาด รวมถึงถ้าแผลเริ่มแย่ลงก็อาจจะไม่ทันได้ทำการสังเกตและรักษาให้ทันเวลา แต่ถ้าไปทำแผลที่โรงพยาบาล ได้เจอคุณพยาบาล มีคุณหมอคอยดูแผลให้ก็จะได้มีการ follow up ติดตามด้วย”


ตัดขาไม่ใช่ทางออก
“ตัดขา” ฟังดูน่ากลัว และคงไม่มีใครอยากไปถึงจุดนั้น ซึ่งเรื่องนี้คุณหมอก็ได้บอกให้สบายใจ...ขึ้นมาหน่อยว่ายังพอมีทางรักษาก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น 

“เมื่อคนไข้มีอาการเท้าผิดรูป เช่น นิ้วเท้ามีการโค้งงอ ก็จะแบ่งเป็นกลุ่มคนไข้ที่งอพอที่จะดัดกลับมาได้บางส่วน เรียกว่าเป็นกลุ่ม flexible กับกลุ่มที่มันดัดไม่ได้แล้ว แข็งแล้ว จะเรียกว่าเป็น fix ซึ่งกลุ่มคนไข้ที่เท้าผิดรูป การรักษาก็จะมี 2 แนวทาง คือถ้าดูแล้วว่ายังพอที่จะดัดกลับไปได้ เป็นแบบ flexible  หรือว่ายังผิดรูปไม่เยอะมาก การรักษายังเป็นในแนวทางที่ไม่ต้องผ่าตัดคือ อาจจะมีการตัดรองเท้าที่เหมาะสม เพื่อลดแรงกด ลดแรงเสียดสีบริเวณที่นิ้วเท้าผิดรูป อาจจะมีการใช้การเล็มตัดผิวหนังแข็ง เรียกว่า Trim Callus หรือว่ามีการตัดเล็บ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเล็บไปจิก แล้วเกิดเป็นแผลขึ้นมาได้ แต่ถ้าหากว่าผิดรูปเยอะ ใส่รองเท้าก็แล้วตัดรองเท้าเฉพาะแล้ว พยายามเล็มหนังแข็ง ตัดเล็บไปแล้ว สุดท้ายก็จะให้คนไข้ลองดูว่าวิธีการผ่าตัด เพื่อทำให้การผิดรูปคลายลง ซึ่งการผ่าตัดก็คือจะมีหลายเทคนิค ทั้งการตัดเส้นเอ็น การคลายเส้นเอ็น หรือการตัดกระดูกเพื่อจัดนิ้วเท้าขึ้นมาใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดแรงกดทับผิดปกติที่เท้า ซึ่งจะก่อให้เกิดแผลในอนาคตได้ เพราะฉะนั้นการตัดขาจึงไม่จำเป็นต้องใช้กับทุกราย ขึ้นอยู่กับความรุนแรง คือในคนไข้บางรายที่ติดเชื้อเยอะมากจนกระทั่งนิ้วดำ ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามีการตายของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ถ้าเก็บไว้ก็จะมีแนวโน้มลุกลามมากขึ้นได้ ก็ต้องทำการตัดนิ้วที่มีอาการนี้ออก”
ระยะไหน ดูแลตัวเองยังไงบ้าง
การดูแลรักษาคนไข้เท้าเบาหวานจะแตกต่างกันไปตามอาการของคนไข้ ซึ่งคุณหมอได้เป็นออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้ 

“ระยะแรกคือคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวานแต่ยังไม่มีภาวะเท้าเบาหวานเลย คือเป็นคนไข้เบาหวานทั่วไป กลุ่มนี้จะแนะนำให้มีการตรวจคัดกรองทุก 6 เดือนถึง 1 ปีเพื่อดูว่ามีปัญหาเรื่องเท้าเบาหวานหรือยัง รวมถึงตำแหน่งอื่นด้วย ไม่ใช่แค่เท้า พร้อมกับแนะนำให้คนไข้ควบคุมน้ำตาลให้ดี พบแพทย์สม่ำเสมอ กินยาตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้อาการของโรคเบาหวานแย่ลงเร็ว คนไข้กลุ่มที่ 2 คือคนไข้ที่เริ่มมีอาการเท้าเบาหวาน เช่นเท้าชา เท้าผิดรูป แต่ยังไม่มีแผล เป้าหมายในการรักษาคนไข้กลุ่มนี้ก็คือ การรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลในอนาคต ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การคุมน้ำตาล เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเลย เรื่องที่สองคือเล็มหนังแข็ง ตัดเล็บให้ดี ป้องกันไม่ให้มันเกิดแผลกดทับ รวมถึงอาจจะต้องมีการตัดรองเท้าที่เหมาะสม ส่วนกลุ่มที่สามคือ คนไข้เท้าเบาหวานที่เริ่มมีแผลแล้ว คนไข้กลุ่มนี้เป้าหมายในการรักษาก็คือป้องกันไม่ให้แผลลุกลาม หรือว่ามีการติดเชื้อเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นคนไข้กลุ่มนี้นี่ก็จะต้องทำแผลตามที่คุณหมอแนะนำ หรือว่าตามที่บุคลากรสาธารณสุขแนะนำ ไม่ทำแผลเอง แล้วก็ดูแลรักษาเท้าเหมือนกับคนไข้กลุ่มที่สอง”
ถ้าดูแลตัวเองได้ดี...พอ “การตัดขา” ก็ไม่ใช่ปัญหาของ “เท้าเบาหวาน” อีกต่อไป 
-->