เสีย (การ) ทรง (ตัว) ของคนสูงวัย...ไม่ใช่เรื่องเล็ก

เรื่องเสียงทรง ใครๆ ก็คงต้องเคยมีกันบ้าง ไม่แปลกอะไร แต่ถ้าเป็นเรื่องเสียการทรงตัวโดยเฉพาะกับคนสูงวัย นี่ว่าไม่น่าใช่เรื่องเรื่องดีเท่าไหร่ เพราะไม่ใช่แค่อุบัติเหตุที่จะถามหา แต่หลังจากที่มีผลวิจัยซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสารเวชศาสตร์การกีฬาอังกฤษ (British Journal of Sports Medicine)โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ และบราซิล พบว่าผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนและวัยชรา จะมีความเสี่ยงเสียชีวิตภายใน 10 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า หากไม่สามารถยืนขาเดียวนานถึง 10 วินาทีได้ แย่แล้วสิแบบนี้ต้องหัดยืนขาเดียวแล้วล่ะ 



เสีย (การ) ทรง (ตัว) บ่งบอกถึงอันตราย...อย่างไร
เวียนหัว บ้านหมุน รู้สึกโคลงเคลง เดินไม่ตรง ทรงตัวลำบาก ยืนหรือเคลื่อนไหวได้ไม่มั่นคง สับสนทิศทาง และหน้ามืดตามัว (ที่ไม่ได้หมายถึงหลงผิด) อาการเหล่านี้ที่อาจเป็นผลจากปัญหาการทรงตัว โดยเฉพาะกับผู้สูงวัย โดยความรุนแรงและลักษณะของอาการก็จะต่างกันไป ซึ่งแน่นอนว่าหากเกิดอาการเสีย (การ) ทรง (ตัว) แบบเฉียบพลันก็อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงการบาดเจ็บร้ายแรงและการเสียชีวิตได้ ยิ่งในวัยของผู้สูงอายุนั้นเป็นช่วงวัยที่ร่างกายอ่อนแอและฟื้นฟูได้ช้า ทั้งยังไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาเหมือนเดิมได้เมื่อเทียบกับคนวัยหนุ่มสาว ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหลังการรักษา คือทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่เหมือนเดิม จนอาจนำไปสู่ความเครียดและปัญหาด้านจิตใจตามมาได้

ตัวการทำเสีย (การ) ทรง (ตัว) ที่ต้องเฝ้าระวัง
ปัญหาการสูญเสียการทรงตัวอาจมีที่มาจากปัญหาสุขภาพและปัจจัยต่างๆ ซึ่งหากรู้ที่มา ก็อาจช่วยป้องกันความเสี่ยง และอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ โดยสาเหตุที่ทำให้สูญเสียการทรงตัวนั้นอาจมาจาก...
  • ปวดหัวไมเกรน
  • ความดันตกในท่ายืน (Postural/Orthostatic Hypotension) ทำให้หน้ามืดเฉียบพลันขณะลุกยืน
  • ปัญหาเกี่ยวกับหู เช่น ภาวะติดเชื้อในหู โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน และความผิดปกติเกี่ยวกับหูที่กระทบต่อการทำงานของระบบการทรงตัว (Vestibular System) 
  • ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • โรคหายใจเกิน (Hyperventilation Syndrome) คืออาการหายใจหอบเร็วและลึกเป็นเวลานาน จนเกิดความผิดปกติของค่าสารเคมีในเลือด ทำให้มีอาการต่างๆ ทางร่างกายตามมา

 
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
  • กลุ่มการไหลเวียนเลือด เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดแดงหัวใจโคโรนารี (Coronary Artery Disease) เป็นต้น
  • โรคเกี่ยวกับข้อและกล้ามเนื้อ เส้นประสาทบริเวณขาเสียหายที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว อย่างโรคเก๊าท์ โรคข้ออักเสบ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ
  • ภาวะเปราะบาง (Frailty) ในผู้สูงอายุหรือภาวะเสื่อมถอยด้านร่างกายและจิตใจที่มาพร้อมกับอายุ
  • ความผิดปกติทางจิตและอารมณ์ อย่างปัญหาด้านการนอนหลับ โรคซึมเศร้า ปัญหาติดสุราและการใช้สารเสพติด รวมถึงโรคทางจิตเวชอื่นๆ
 
เพราะการเสีย (การ) ทรง...ตัวอาจเป็นเหตุให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา ดังนั้นหากว่ามีอาการที่น่าสงสัยเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะรุ่นใหญ่ที่อะไหล่หายากแบบนี้ ยิ่งต้องให้ความสำคัญ
-->