โดนฝนยังไงให้ไม่เป็นหวัด เข้าใจวิธีรับมือแบบนี้ก็รอดได้ตลอดฤดูฝน

 
ถึงจะไม่ได้เป็นพระเอก นางเอกมิวสิกวิดีโอ ก็มีโอกาสที่จะเดินลุยฝนตัวเปียกปอนได้เหมือนกัน ยิ่งเมื่อมีงานวิจัยโดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่นที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์เกี่ยวกับเวชศาสตร์การกีฬา ชี้ว่าการวิ่งกลางฝนปรอยๆ ที่มีอากาศเย็นลงร่างกายจะเพิ่มอัตราการเผาผลาญ เพื่อสร้างความอบอุ่น ซึ่งการวิจัยนี้ได้ทำการทดลองกับนักวิ่ง 7 คนในห้องพิเศษ โดยให้ออกกำลังกายในอุณหภูมิใกล้เคียงกับสภาพอากาศที่มีฝนตกเปรียบเทียบกับสภาวะที่ไม่มีฝนเป็นเวลาสามสิบนาที แล้ววัดจากการหายใจ อุณหภูมิผิวหนัง การใช้ออกซิเจนของกล้ามเนื้อ และระดับความเครียด ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็น่าจะทำให้หลายคนอยากเปลี่ยนชุดใส่รองเท้าแล้วออกไปวิ่งตั้งแต่ฝนเริ่มตั้งเค้า แต่เดี๋ยวก่อน! ก่อนจะออกสตาร์ทลองดูก่อนดีมั้ยว่าโดนฝนแค่ไหน ถึงทำให้เป็นหวัด

 
ไข้หวัด...อาการนี้มีที่มา
ไข้หวัดเป็นอาการป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม และเจ็บคอ โดยเชื้อที่ก่อให้เกิดไข้หวัดมักจะเป็นเชื้อไวรัสชนิดที่ไม่รุนแรง อาการของไข้หวัดช่วงแรกๆ คือประมาณ 2 - 3 วัน อาจจะทำให้รู้สึกไม่ค่อยดีนัก แต่หลังจากนั้นอาการจะเบาลง ซึ่งโรคไข้หวัดจะแสดงอาการอยู่ประมาณ 1 - 2 สัปดาห์


 
ฝนทำให้เป็นหวัดได้ยังไง
ตากฝนกลับมาทีไรมักจะได้ยินเสียงคนรอบข้างบอกให้รีบไปอาบน้ำสระผม เพราะเดี๋ยวจะเป็นหวัด นั่นเลยทำให้เข้าใจไปว่าฝนเป็นต้นเหตุของหวัด แต่ที่จริงแล้วเชื้อไวรัสต่างหากที่เป็นตัวการ ซึ่งมีไวรัสเป็นร้อยชนิดที่ทำให้เกิดไข้หวัดได้ โดยไวรัสเหล่านี้จะกระจายฟุ้งอยู่ในอากาศ แล้วก็ตกลงพื้น หรือเกาะอยู่ตามฝุ่น สามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน และโดยปกติแล้วเราก็อาจจะสัมผัสกับไวรัสเหล่านี้อยู่บ้าง แต่ด้วยว่ามีปริมาณไม่มาก อีกทั้งยังมีภูมิต้านทานของร่างกายคอยป้องกัน หรืออาจจะสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส จึงทำให้เรายังสตรองอยู่ได้ แต่ช่วงเวลาก่อนฝนตกมักจะมีกระแสลมแรง และลมดังกล่าวก็จะพัดให้ไวรัสให้ฟุ้งกระจายปริมาณมาก หากเราอยู่ในบริเวณนั้นก่อนฝนตก โอกาสที่จะสัมผัสไวรัสในปริมาณมากก็มีมากขึ้น บวกกับว่าเวลาที่ฝนตกทำให้อุณหภูมิในตัวเราลดลงจากลมฝน หรือตัวเปียกอับชื้นเป็นเวลานาน จึงทำให้เป็นหวัดขึ้นมาได้ อีกทั้งไวรัสบางสายพันธุ์ก็เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ จึงทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ ก็จะทำให้มีโอกาสป่วยได้มากกว่า ดังนั้นแค่ว่าโดนฝนมา จึงไม่อาจทำให้เป็นหวัดได้ทุกครั้ง 

 
ดูแลตัวเองให้ดี ก็ไม่มีเป็นหวัด
อย่าอยู่ในที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะเวลาก่อนฝนตก หรือหากถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากปิดจมูกในช่วงเวลานั้น 
ระวังอย่าให้ศีรษะเปียกฝน เพราะการที่ศีรษะเปียกฝน จะทำให้อุณหภูมิที่พื้นผิวของเยื่อบุจมูกลดต่ำลงประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสที่ตกค้างอยู่ในช่องจมูก ประกอบกับการสัมผัสเชื้อไวรัสปริมาณมากช่วงก่อนฝนตก จึงทำให้มีไวรัสจำนวนมากบริเวณเยื่อบุจมูก จนระบบภูมิต้านทานของร่างกายไม่อาจต้านทานเชื้อเหล่านี้ได้อีกต่อไป ทำให้เกิดอาการอักเสบของเยื่อบุจมูก คัดจมูก มีน้ำมูก และหากเชื้อไวรัสลุกลามไปที่ลำคอ ก็จะทำให้เกิดคออักเสบตามมาได้
รักษาระดับอุณหภูมิบริเวณมือและเท้า เพราะอาจมีผลทำให้อุณหภูมิในจมูกลดลง นำไปสู่อาการเป็นหวัดได้เช่นกัน
หากศีรษะ มือ หรือเท้าเปียกชื้น เมื่อกลับถึงบ้านให้รีบทำความสะอาด และทำร่างกายให้อบอุ่น โดยอาจแช่เท้าทั้งสองข้างในน้ำอุ่นเพื่อช่วยเปลี่ยนอุณหภูมิที่พื้นผิวของจมูก เพื่อจะได้ไม่เหมาะต่อการแบ่งตัวของเชื้อโรค

 
เพราะฉะนั้นสรุปแล้วอาการหวัดไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าโดนฝนมากน้อยแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าไปโดน (ไวรัส) ตัวไหนมามากกว่า
-->