“มือสั่น” อันตรายกว่าที่เราคิด

“มือสั่นเก่งแบบที่ไม่มีอะไรต้าน” อาการนี้ใครเคยเป็นคงต้องมาเช็คกันหน่อย เพราะจะคิดว่าเป็นสั่นสู้ก็ดูไม่น่าใช่ ที่อยู่ดีๆ จะมีอาการสั่นขึ้นมา เอ๊ะ! หรือว่าจะเป็นอาการเริ่มต้นของโรคทางสมองอย่างโรคพาร์กินสัน ซึ่งมีสถิติผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันทั่วโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ในผู้ที่อายุเกิน 65 ปี แต่จะบวกลบคูณหารยังไง อายุก็ยังไม่เฉียดใกล้ เอาเป็นว่าอย่าเพิ่งคิดไปเอง ลองไปถาม นพ.กานต์ ศักดิ์ศรชัย อายุรกรรมประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2 ให้คลายความกังวลดีกว่าว่า “มือสั่น” อันตราย...แค่ไหน



มือสั่นธรรมดา อย่าเพิ่งนอยด์
อาการสั่นนี้ นพ.กานต์ ได้อธิบายว่าเป็นการเคลื่อนไหวในแนวขึ้นๆ ลงๆ หรือแนวราบที่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ และสามารถเกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนใดก็ได้ในร่างกาย โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ “สำหรับคนปกติโดยมากแล้วจะสามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาที่ตื่นเต้น หรือเวลาที่ต้องพูดต่อหน้าคนเยอะๆ ก็ทำให้เกิดอาการมือสั่นได้ทั้ง 2 ข้าง รวมถึงในเวลาที่มีความเครียด มีเรื่องกังวล และหลังจากการออกกำลังกายก็สามารถที่จะมีอาการมือสั่นได้เป็นปกติ หรือบางคนเป็นโรคทางพันธุกรรมบางอย่างก็ทำให้มือสั่นได้ เช่นเดียวกับการกินยาบางตัว เช่น ยาเกี่ยวกับการปรับอารมณ์ ยาทางจิตเวชต่างๆ ยาช่วยลดกังวล ยาที่ออกฤทธิ์ช่วยขยายหลอดลม ซึ่งเป็นยากินที่คุณหมอโรคปอดใช้ในบางตัว ยาเกี่ยวกับยาไทรอยด์ หรือบางคนที่เป็นโรคไทรอยด์เลยก็จะมีอาการสั่นได้ ซึ่งการสั่นจากการยานี้ส่วนใหญ่แล้วจะสั่นไม่รุนแรง มักสั่นเวลาที่ใช้มือทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง คืออยู่เฉยๆ จะไม่ค่อยสั่น แต่ถ้ามีการยก มีการหยิบนู่นนี่ก็จะเห็นการสั่นนิดๆ หน่อยๆ ลักษณะนี้ เป็นต้น”

มือสั่นแบบนี้ที่ (อาจ) ต้องกังวล
นอกเหนือจากการสั่นปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในคนทั่วไป ยังมีสาเหตุการสั่นที่เกิดจากโรค ซึ่งคุณหมอได้บอกว่าอาจจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยรักษา เนื่องจากคนไข้ไม่สามารถบรรเทาอาการสั่นที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง “สำหรับการสั่นที่ไม่ปกติคือการสั่นที่เกิดจากโรค ซึ่งมีทั้งโรคมือสั่นโดยเฉพาะที่เรียกว่า โรค Essential Tremor รวมถึงโรคอื่นๆ เช่น โรคพาร์กินสัน ก็ทำให้เกิดอาการมือสั่นได้ แต่ลักษณะอาการสั่นจะแตกต่างกันคือ ถ้าเป็นโรค Essential Tremor ส่วนใหญ่แล้วก็จะสั่นทั้ง 2 ข้าง แต่หากว่าเป็นโรคพาร์กินสัน โดยมากแล้วจะเป็นเริ่มต้นแค่ข้างเดียวก่อน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะสั่นทั้ง 2 ข้าง แต่ว่ามักจะมีข้างใดข้างหนึ่งที่แย่กว่าอีกข้างหนึ่ง และนอกเหนือไปจากโรคพาร์กินสันแล้ว อาการมือสั่นนี้ยังอาจบ่งบอกได้ถึงโรคทางสมองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคเส้นเลือดในสมอง โรคติดเชื้อ โรคเนื้องอกได้อีกด้วย ซึ่งระดับความรุนแรงของการสั่นนี้ก็จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสมองที่เสียไป”

เมื่อไหร่ที่ต้องไปพบแพทย์
ด้วยว่าการสั่นนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งมีทั้งการสั่นที่เป็นปกติ และการสั่นจากโรค ดังนั้นคุณหมอจึงแนะนำให้ลองสังเกตตัวเองเมื่อไหร่ก็ตามที่มีอาการมือสั่น “หากว่าเรามีมือสั่นขึ้นมาให้ลองสังเกตว่าอาการมือสั่นนั้นเป็นในลักษณะไหน สั่นแบบเป็นๆ หายๆ จนเวลาผ่านไป 1 - 3 เดือนก็ยังมีอาการสั่นเท่าๆ เดิม บางวันไม่เป็น บางวันเป็น ถ้าเกิดว่าเป็นลักษณะนี้ก็อาจจะดูๆ ไปก่อนได้ แต่ถ้าลองสังเกตตัวเองแล้วพบว่ามีอาการว่ามือสั่นแทบจะตลอดเวลา โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับช่วงที่ตื่นเต้น กังวล หรือเครียด คือสั่นตลอดเวลาแถมดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือหากว่าพอสังเกตได้ว่าซ้ายกับขวาไม่เท่ากัน คือขวาอาจจะแย่กว่า หรือซ้ายแย่กว่าอันนี้ก็บ่งบอกว่าน่าจะมีโรค หรือถ้าอยู่เฉยๆ แล้วสั่น โดยที่ไม่ได้ทำอะไร เช่น นั่งดูทีวีแล้วอยู่ดีๆ มือก็สั่นขึ้นมาทั้งที่ยังไม่ได้ใช้มือทำอะไร และถ้าเป็นข้างเดียวด้วย โอกาสจะไปทางพาร์กินสันก็ค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าอยู่เฉยๆ ไม่สั่น จะสั่นเวลาหยิบจับของ โดยเป็นทั้งสองมือพอๆ กันแบบนี้ ก็อาจจะสงสัยได้ว่าเป็นอาการสั่นในคนปกติทั่วไป หรือในกรณีที่ 2 ก็คือเป็นโรค Essential Tremor นั่นเอง ซึ่งสิ่งที่จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการมือสั่น แต่ในทุกๆ สาเหตุอาการมือสั่นมักจะพบว่ามีเรื่องของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง คือในคนที่พักผ่อนน้อย เครียด หรือมีความกังวลเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม มักจะมีอาการสั่นที่แย่ลง”

ใครที่มีอาการอย่างที่คุณหมอได้กล่าวมาให้ลองเช็คตัวเองกันดู หรือถ้ามีอาการแล้วยังไม่หายซักทีเนี่ย ต้องลองไปปรึกษาคุณหมอกันดูนะ เผื่อมีอาการที่อาจรุนแรงมากขึ้นจะได้รีบรักษาทัน
-->