'Breath Holding Spell' ภาวะร้องกลั้นที่ทำพ่อแม่ใจสั่น จนแพนิค

คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่กำลังกลุ้มใจไม่รู้ว่าจะรับมือยังไงเมื่อเจอลูกร้องกลั้น เวลาเกิดเหตุการณ์ทีไร มือไม้สั่นไปหมด จนบางครั้งกลายเป็นหลอนเสียงร้องลูกเลยก็มี วันนี้เราเลยมีข้อมูลอยากมาแชร์ พร้อมเทคนิควิธีรับมือแบบมือโปร



Breath-Holding Spells ภาวะนี้คืออะไร?
Breath-Holding Spells หรือภาวะกลั้นหายใจในเด็ก เป็นภาวะที่เด็กหยุดหายใจชั่วคราว ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากที่เด็กมีอารมณ์รุนแรง เช่น โกรธ กลัว หรือเจ็บปวด เด็กจะร้องไห้หรือหายใจเข้าแรงๆ แล้ว ‘หยุดหายใจ’ จนทำให้เกิดอาการณ์หน้าซีดหรือเขียว และบางครั้งอาจถึงขั้นหมดสติชั่วคราว ซึ่งภาวะนี้เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติในเด็กเล็ก และมักไม่ค่อยเกิดอันตรายร้ายแรงและจะหายได้เองเมื่อโตขึ้น

พบได้ในช่วงอายุไหน?
จริงๆ แล้ว ภาวะนี้เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กอายุ 6 เดือน - 6 ปี โดยช่วงอายุที่พบได้บ่อยที่สุดคือช่วง 1-2 ปี ซึ่งเด็กบางคนอาจมีอาการเดือนละหลายครั้ง 

อาการเป็นอย่างไร?
ภาวะร้องกลั้นนี้แบ่งอาการได้เป็น 2 แบบ คือ แบบเขียวและแบบซีด 
แบบเขียว (Cyanotic) เด็กจะร้องไห้เสียงดัง และหยุดหายใจ ริมฝีปากเขียว ตัวเริ่มซีด หรือบางครั้งอาจถึงชั้นหมดสติ แต่มักไม่เกิน 1 นาที แล้วก็ฟื้นตัวขึ้นมาเอง
แบบซีด (Pallid) อาการแบบนี้จะเกิดขึ้นทันทีหลังจากที่เด็กตกใจหรือเจ็บปวด เด็กจะซีด หน้ามืดและหมดสติ ซึ่งหากเป็นในลักษณะนี้มักจะเกี่ยวข้องกับระบบประสาทอัติโรมัติและหัวใจหยุดเต้นชั่วคราว 

ส่งผลอันตรายต่อสมองหรือไม่?
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนเป็นกังวลก็คือว่าเมื่อเกิดภาวะนี้แล้วจะส่งผลเสียหรือเป็นอันตรายต่อสมองหรือไม่ ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ทำการศึกษาและยืนยันว่า ภาวะ Breath-Holding Spells (BHS) ในเด็กไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายถาวรต่อสมอง เมื่อทำการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยี Magnetic Resonance Spectrosopy (MRS) ซึ่งเป็นการตรวจวัดสารเมตาโบไลต์ในสมอง และยังมีการติดตามผลกระทบในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นได้ในเด็กที่เคยมีภาวะ BHS ก็ปรากฎว่าเด็กกลุ่มนี้ยังคงมีพัฒนาการทางระบบประสาทที่ปกติและไม่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดโรคลมชักหรือสมองเสียหายถาวรในอนาคต

รับมืออย่างไร? เมื่อเจอสถานการณ์นี้
เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้แล้วว่าภาวะนี้ไม่ได้อันตราย ที่นี้เราก็มาดูวิธีการรับมือกัน ตามคำแนะนำของ American Academy of Pediatrics (AAP) และการศึกษาใน International Journal of Pediatrics แนะนำว่าในขณะที่เด็กเกิดอาการ นี่คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ …
ตั้งสติ ไม่ควรตะโกนหรือเขย่าเด็ก ควรวางเด็กลงในท่าที่ปลอดภัย เช่น การนอนตะแคง เพื่อหลีกเลี่ยงการอุดตันทางเดินหายใจ
อย่าเพิ่งป้อนอะไร ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ยา หรืออาหาร เพราะอาจทำให้สำลักได้
จับเวลาหมดสติ โดยปกติแล้วเด็กจะฟื้นตัวได้เองภายใน 1 นาที สำหรับภาวะ BHS แต่ถ้าหากหมดสตินานเกิน 2 นาทีหรือมีอาการชักชัดเจน ควรรีบไปพบแพทย์

ทั้งนี้เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถลดความกังวลได้ในระยะยาวคือ ต้องลดปัจจัยกระตุ้น หลีกเลี่ยงการทำโทษรุนแรงหรือสถานการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์ต่างๆ และพยายามพูดคุยโดยไม่ใช่อารมณ์และทำความเข้าใจอารมณ์ของลูกให้มากขึ้น และแม้ว่าภาวะนี้อาจจะไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย แต่ก็มีการศึกษาของ Pediatrics International ที่พบว่า การให้ธาตุเหล็กเสริม สามารถลดจำนวนครั้งของ BHS ได้
-->