จิตแพทย์แนะนำ 4 วิธีรับมือกับความสูญเสีย




การสูญเสียเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนต้องพบเจอ ไม่ว่าจะสูญเสียของรักหรือคนที่เรารัก แต่เมื่อเราไม่ทันได้เตรียมตัวเตรียมใจกับการสูญเสีย ก็อาจต้องใช้เวลากันหน่อย



แพทย์หญิงณัฏฐพัชร์ ลำเลียงพล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH - Bangkok Mental Health Hospital อธิบายว่า การสูญเสียคนรักเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ยากลำบากที่สุดในชีวิต ความรู้สึกเศร้า เสียใจ โหยหา และสิ้นหวังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้หลายคนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหลังช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องก็จะส่งผลต่อสุขภาพจิตในทางลบ โดยสภาพจิตใจของคนที่ได้รับความกระทบกระเทือนหลังการสูญเสียมีหลายรูปแบบ

อาการทางความรู้สึก 
  • เศร้า มึนชา ช็อค โกรธโกรธตัวเอง จนบางคนคิดอยากฆ่าตัวตายตามผู้ตายไป
  • สิ้นหวัง รู้สึกว่าอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีผู้ตาย
  • ความวิตกกังวล กลัวว่าจะอยู่โดยไม่มีผู้ตายไม่ได้
  • รู้สึกโดดเดี่ยว
  • รู้สึกโหยหา
  • หมดอาลัยตายอยาก
  • บางคนอาจมีความรู้สึกโล่งอก เช่น กรณีผู้ตายเจ็บป่วยทุกข์ทรมานมานาน เมื่อเขาจากไป คนข้างหลังอาจเกิดความรู้สึกโล่งใจที่เห็นเขาหมดทุกข์

อาการทางกาย
  • แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยล้าอ่อนแรง หมดพลัง

อาการทางความคิด
  • ไม่อยากจะเชื่อว่าเขาเสียไปแล้ว
  • คิดหมกมุ่นวนเวียนถึงผู้ตาย
  • มีอาการสับสน
  • บางคนอาจมีหูแว่วเสียงผู้ตาย เห็นภาพหลอนเป็นภาพผู้ตาย

อาการทางพฤติกรรม
  • นอนไม่หลับ
  • กินไม่ได้
  • เหม่อลอย ใจลอย
  • แยกตัวจากสังคม
  • ฝันถึงผู้ตาย
  • เรียกหาผู้ตาย โดยอาจเรียกในใจหรือเรียกออกเสียง
  • ไปยังสถานที่ที่ทำให้นึกถึงผู้ตาย นำสิ่งของของผู้ตายติดตัว ใส่เสื้อผ้าหรือใช้สิ่งของของผู้ตาย

ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในช่วงแรกของการสูญเสีย แต่ถ้าเวลาผ่านไปแล้วอาการเหล่านี้ยังไม่ลดลงหรือเป็นมากขึ้นจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคซึมเศร้า ฉะนั้น การเรียนรู้เพื่อรับมือที่จะก้าวข้ามผ่านความสูญเสียและยอมรับความจริงจะช่วยให้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และช่วยให้ใช้ชีวิตได้เป็นปกติ

4 วิธีรับมือกับความสูญเสีย

ขั้นที่ 1 ยอมรับความจริงว่ามีการสูญเสียเกิดขึ้น
ก่อนอื่นเราต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่า “เขาตายไปแล้วไม่สามารถมาเจอกันได้อีก” แต่ถ้ายังไม่ยอมรับการสูญเสียสามารถสังเกตอาการได้ตามนี้ เก็บข้าวของผู้ตายไว้ ทำเหมือนการสูญเสียเป็นเรื่องไม่สำคัญ หรือ พยายามติดต่อกับวิญญาณผู้ตาย 

ขั้นที่ 2 รับรู้ความเจ็บปวดจากการสูญเสีย
ความเจ็บปวดจากการสูญเสียถือเป็นเรื่องปกติ การที่พยายามเลี่ยงหรือเก็บความรู้สึกจะยิ่งทำให้กระบวนการก้าวข้ามความสูญเสียนั้นช้าลง ฉะนั้นเมื่อยอมรับความรู้สึกสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้ว อย่าลืมระบายความรู้สึกออกมาด้วยการพูด การเขียน หรือร้องไห้ออกมา

ขั้นที่ 3 ปรับตัวอยู่กับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ไม่มีเขาแล้ว
เรียนรู้ที่จะอยู่ต่อให้ได้และดำเนินชีวิตต่อไป

ขั้นที่ 4 ความรู้สึกสูญเสียเบาลงและเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่
กรณีที่สูญเสียคนรัก หลายคนจะไม่กล้าเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ เพราะคิดว่าเป็นการไม่ซื่อสัตย์หรือเปล่า กลัวสูญเสียคนใหม่อีก กลัวมีปัญหากับลูก หรือคิดว่าไม่สามารถรักใครได้อีกแล้ว ต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า “การรักคนใหม่ไม่ได้ทำให้ความรักที่มีต่อคนเก่าลดลงเลย”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรสังเกตอาการตัวเองหลังสูญเสียคนรัก ว่ายังคงมีความรู้สึกเสียใจนานเกิน 3 – 6 เดือน หรือมีความเสียใจเรื้อรังจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือเปล่า เช่น เก็บตัวไม่ออกไปเจอใครเป็นเดือนๆ อยากตายตามคนที่เรารักไป นอนไม่หลับอย่างต่อเนื่อง ละเลยสุขอนามัยจนร่างกายอ่อนแอ แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อรับการรักษาและคำแนะนำอย่างเหมาะสม จะดีที่สุด  



 
 
 
-->