คอเลสเตอรอลพุ่งสูงปรี๊ด…..อาจไม่ใช่เรื่องดีของคนสูงวัย

แม้ว่าอายุจะเป็นเพียงตัวเลข และมีแววจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เราก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอกนะ แต่ถ้าสูงวัยคนไหนไขมันในเลือดสูงปรี๊ดจนชนเพดาน เห็นทีแบบนี้จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินโดยด่วนแล้วล่ะ!



ภาวะไขมันในเลือดสูง เกิดขึ้นได้อย่างไร?
โดยปกติร่างกายของเราจะมีไขมันอยู่ 2 ชนิด คือ

1. คอเลสเตอรอล (Cholesterol) อาจสูงขึ้นจากอาหารที่เราเลือกกิน เช่น อาหารหวาน มัน เค็ม เนื้อสัตว์ติดมัน และอาหารทะเล หลายคนอาจจะเคยได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่าควรหลีกเลี่ยงทานของทอดของมัน เช่นเดียวกับไขมันทรานส์ นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยบางรายที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงจากกรรมพันธุ์ โดยคอเลสเตอรอลแบ่งออกเป็น
 
  • ไขมันชนิดดี (HDL) โดยไขมันดีจะทำหน้าที่ขจัดไขมันที่อันตรายออกไปจากกระแสเลือด ต่อต้านการสะสมของไขมันและคอเลสเตอรอล เป็นเหมือนหน่วยพิทักษ์สันติราษฎร์ ที่ทำให้ร่างกายของเราลดความเสี่ยงของการเกิดโรค ฉะนั้นยิ่งร่างกายของเราสะสมไขมันชนิดดีมากเท่าไหร่ ยิ่งเกิดผลดีกับร่างกายของเรา
  • ไขมันชนิดที่ไม่ดี (LDL) ขึ้นชื่อว่าไม่ดี แปลว่าเราไม่ควรจะมีเยอะในร่างกายของเรา ซึ่งถ้าหากเราสะสมไขมันชนิดไม่ดีเยอะเกินไป ก็ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และหลอดเลือดสมองตีบ

2. ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) อาจจะสูงขึ้นจากตัวโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้ยาบางชนิด นอกจากนี้ ไตรกลีเซอไรด์ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากกรรมพันธุ์ได้เช่นกัน

ดังนั้น การควบคุมจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด และเพื่อไม่ให้ไขมันในเลือดสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและหมั่นตรวจเช็กปริมาณไขมันในเลือด ด้วยการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือในสัดส่วนความเหมาะสมที่แพทย์ผู้ทำการรักษากำหนด
 
  • ค่าคอเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol) ที่ได้จากการตรวจเลือดควรมีค่าน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ค่าไขมันดี HDL - cholesterol ควรมีค่ามากกว่า 40-60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ค่าไขมันไม่ดี LDL - cholesterol ควรมีค่าน้อยกว่า 100-130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ทั้งนี้ขึ้นกับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ช่วยได้!
เมื่อเรารู้แล้วว่า อะไรคือความเสี่ยงของการเกิดโรค เราควรหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของเรา เพื่อห่างไกลจากโรคร้ายที่เราอาจจะเป็นได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงจากกรรมพันธุ์ก็มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเช่นกัน เพราะถือเป็นความเสี่ยงในรูปแบบเดียวกัน รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ ควรจะปรับพฤติกรรมการกิน ร่วมกับการรักษาโดยแพทย์ประจำตัว เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของตัวโรค หรือเกิดโรคอื่นๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต ดังนั้น สิ่งที่เราต้องหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด คือ
 
  • หลีกเลี่ยงอาหาร เช่น ไข่แดง ไขมันสัตว์ (ประเภทมันหมูและวัว) เครื่องในสัตว์ (ตับ ไต หัวใจ ปอด) อาหารทะเลบางชนิด (ปลาหมึก หอยนางรม) แนะนำให้กินเป็นปลา เช่น ปลาทู ปลาแซลมอน ปลาทูน่า
  • หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด และอาหารที่มีความมันสูง ให้เปลี่ยนเป็นอาหารประเภท อบ  ต้ม นึ่ง แทนการทอด
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ ที่มักพบอยู่ในขนมกรุบกรอบ คุกกี้ โดนัท เค้ก รวมทั้งเนย และครีมเทียม
  • ควรใช้น้ำมันที่มีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันถั่ว น้ำมันข้าวโพด
  • เลือกกินผักใบเขียวให้ได้ปริมาณที่เพียงพอต่อมื้ออาหาร ยิ่งกินมากเท่าไหร่ยิ่งดี
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่กับการลดน้ำหนัก และการควบคุมอาหาร

เช็กสุขภาพให้ครบ ไม่ละเลยการตรวจสุขภาพ
แม้ว่าการควบคุมพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตให้ได้ดีแล้ว เราควรให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพ เพราะการตรวจสุขภาพทำให้เราได้รู้ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเราได้ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเข้ารับการรักษา หากตรวจพบเจอได้ไว ทำให้เราสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที หากไม่พบความผิดปกติ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี และอาจจะได้รับคำแนะนำการดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

สุขภาพดีสร้างได้ด้วยตัวเราเอง อย่าลืมดูแลคนสูงวัยที่บ้านของเรา เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ ♥️♥️♥️

สนใจ แพ็กเกจตรวจสุขภาพ คลิก!
-->