เชื่อมั้ย? ถ้ามีคนบอกว่าอายุเฉลี่ยของคนเรามีแนวโน้มจะพุ่งขึ้นไปถึง 115 ปี

 
เมื่อเร็วๆ นี้เราได้ไปอ่านเจอบทความในเว็บไซด์ Allure ที่พูดถึงเรื่องของแนวโน้มที่ว่าคนเรามีแนวโน้มจะมีอายุเฉลี่ยพุ่งขึ้นสูงไปถึง 115 ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย แล้วคุณคิดว่าเมื่อก่อนอายุเฉลี่ยของคนเราน่าจะอยู่ที่เท่าไหร่? และอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เรามีอายุเฉลี่ยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ? 


 
จาก 30 พุ่งทยานสู่ 100+
เราต่างก็รู้ดีว่าคนเราเกิดมาก็ต้องมีวันที่ต้องตายจากโลกไปไม่ว่าวันใดก็วันหนึ่ง ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในสมัยนู้นนน เอาตั้งแต่สมัยอารยธรรมโรมันโบราณ เขาว่ากันว่าในตอนนั้นมนุษย์เรามีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30-35 ปี เท่านั้นเอง และเมื่อเริ่มเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 อายุเฉลี่ยของคนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบัน อย่างในสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นเป็น 65 ปี ในผู้ชาย และ 71 ปีในผู้หญิง จนมาถึงวันนี้ที่ตัวเลขอายุเฉลี่ยของประชากรสหรัฐฯ พุ่งขึ้นจนถึง 78 ปี 
 
อายุเฉลี่ยของคนไทย...ก็เพิ่มขึ้นตามเทรนด์โลก
ทางองค์กรสหประชาชาติหรือ UN ได้ทำการศึกษาและเก็บสถิติอายุเฉลี่ยของคนแต่ละประเทศไว้ ซึ่งสำหรับประเทศไทย ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม ปี 2020 นี้ เขาบอกว่าอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 77.19 ปี ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูเมื่อซัก 10 ปีที่แล้ว อายุเฉลี่ยยังอยู่ที่ 73.96 ปี หรือถ้าย้อนกลับไปอีกซัก 30 ปี ในปี 1990 อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 69.92 ปี และเชื่อมั้ยว่าในปี 1950 ตอนนั้นอายุเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 49.32 ปีเท่านั้นเอง ซึ่งจะเห็นว่าอายุเฉลี่ยของคนไทยนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็น่าจะมาจากนวัตกรรมต่างๆ ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีต่างๆ วิวัฒนาการทางการแพทย์ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพที่มากขึ้น  
 
ปัจจัยอะไร...ที่ทำให้คนอยู่ได้นานขึ้น
เมื่อปี 2019 Christie Aschwanden เธอเป็นเจ้าของหนังสือ “Good to Go: What the Athlete in All of Us Can Learn from the Strange Science of Recovery” ที่ได้รับการการันตีว่าเป็น New York Time bestseller ได้รวบรวมคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่จะช่วยให้เรามีอายุยืน โดยเขาบอกว่ามีปัจจัยอยู่ด้วยกัน 6 ข้อ คือ การออกกำลังกาย การนอนหลับ การทานอาหารที่มีประโยชน์ การดื่มแอลกอฮอล์ การจัดการกับความเครียด และการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น และทำให้ชีวิตมีคุณค่าและเป้าหมายมากขึ้น 
 
ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่ พญ.กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้เคยให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อให้มีชีวิตที่ยืนยาว โดยคุณหมอได้พูดถึง 7 วิธีดูแลสุขภาพให้มีชีวิตที่ยืนยาว ซึ่งเราจะมาสรุปให้ฟังสั้นๆ ง่ายๆ ตามนี้เลย
 
#นอนให้เป็น: ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่ว่าการนอนทุกครั้งร่างกายจะได้รับการซ่อมแซม เพราะโกรทฮอร์โมนที่มีส่วนสำคัญในการซ่อมแซมร่างกายจะหลั่งช่วงเที่ยงคืนถึงตีหนึ่งครึ่ง และตอนที่เราหลับลึกเท่านั้น เพราะฉะนั้นต่อให้นอนเยอะ แต่นอนผิดเวลาก็อาจไม่ได้ส่งผลดีต่อร่างกาย
 
#กินให้ถูก: แม้คนส่วนใหญ่จะคิดว่าตัวเองกินอาหารครบ 5 หมู่แล้ว แต่เชื่อมั้ยว่าความจริงแล้วมีคนทั่วโลกกว่า 2 พันล้านคนที่พบปัญหาการขาดวิตามินและแร่ธาตุจากการทานอาหารที่ไม่ตรงกับสารอาหารที่ร่างกายต้องการ ซึ่งเดี๋ยวนี้เขาก็มีการตรวจวิเคราะห์เจาะลึกเพื่อเติมเต็มในสิ่งที่ขาด
 
#ระวังเรื่องการแพ้อาหาร: มีคนไม่น้อยที่มีอาการแพ้อาหารแฝงโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเมื่อทานเข้าไปมากๆ เป็นเวลานานๆ ก็อาจทำให้เกิดการสะสมและนำไปสู่การอักเสบได้ ซึ่งการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงจะช่วยทำให้เรารู้ตัว และสามารถป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายได้
 
#ออกกำลังกายให้มีประสิทธิภาพ: บางคนลดน้ำหนักเท่าไหร่ก็ไม่ลง ออกกำลังกายก็แล้ว ควบคุมอาหารก็แล้ว ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากสาเหตุภาวะไทรอยต่ำ ทำให้ระบบเผาผลาญไม่ดี การตรวจเชคระดับฮอร์โมนและปริมาณไขมันจะช่วยให้เราสามารถวางแผนการออกกำลังกายให้เหมาะสมได้
 
#กำจัดความเครียด: เมื่อเราเครียด ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา ซึ่งฮอร์โมนนี้จะไปเร่งกระบวนการแก่ชรา ยับยั้งภูมิคุ้มกัน ซึ่งถ้าปล่อยให้ร่างกายเครียดนานๆ ก็อาจทำให้เกิดภาวะต่อมหมวกไตล้าตามมาได้ และแน่นอนว่าเมื่อภูมิคุ้มกันต่ำ ก็จะยิ่งป่วยง่าย รวมถึงระบบขับถ่ายก็จะผิดปกติตามไปด้วย
 
#หลีกเลี่ยงสารพิษ: เชื่อมั้ยว่าการใช้ชีวิตประจำวันของเราในทุกๆ วันมีความเสี่ยงต่อการรับสารโลหะหนักและสารพิษอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อมีสารโลหะเข้ามาในร่างกายมากๆ ก็จะส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย ทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่อันตราย เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค NCDs หรือโรคเรื้อรังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน อัลไซเมอร์ รวมถึงมะเร็งต่างๆ 
 
รู้แบบนี้แล้ว ใครที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงก็ควรจะรีบปรับ ไม่ใช่แค่เพื่อให้คุณมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น แต่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคุณเองด้วย 
-->