11 เดือนกับ “โรคซึมเศร้า” แค่ไม่ยอมแพ้...ก็เอาชนะได้

น้อยคนที่จะรู้ตัวและยอมรับว่าตัวเองกำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า แต่สำหรับทิพย์สุดา มะสิทธิ์ หรือดาด้า อายุ 31 ปี ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นเลขาฯ ผู้ก่อตั้งศูนย์บริบาลช้าง (Elephant Nature Park) จ.เชียงใหม่ เธอยอมรับว่าตัวเองไม่เหมือนเดิม และพร้อมที่จะเดินเข้าไปรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เธอได้ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางในชีวิต โดยใช้เวลาเพียงแค่ 11 เดือน และในที่สุดเธอก็สามารถเอาชนะภาวะซึมเศร้าทางอารมณ์และกลับมามีร้อยยิ้มได้อีกครั้ง 


เยือนหมู่บ้านมาไซ (Maasai Village) ใกล้กับอุทยานแห่งชาติ Amboseli ในเคนยา
จุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้สึก “ไม่เหมือนเดิม”
“เมื่อก่อนทำงานสายโปรดักชั่นก็สนุกดี แต่พอช่วงที่เปลี่ยนมาดูเพจ Facebook ทุกคนก็เริ่มทำงานหนักขึ้น ทำให้ปะทะกันง่ายขึ้น เหมือนมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถคุยกันตรงๆ ได้ ” และปัญหาต่างๆ ก็เริ่มสะสมมาเรื่อยๆ “ในช่วง 6 เดือนก่อนตัดสินใจลาออกจากงาน เราเริ่มรู้สึกกดดัน ทำงานไม่ได้ตามความคาดหวังของเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ความคาดหวังของตัวเอง จนเริ่มมีเรื่องขัดแย้งกับคนรอบข้าง กลับบ้านมาร้องไห้คนเดียวเกือบทุกวัน เรียกว่าช่วงนั้นไม่มีความสุขกับชีวิตเลย” จนสุดท้ายเธอตัดสินใจลาออกจากงานที่กรุงเทพและกลับไปอยู่ที่เชียงใหม่ ที่ที่มีทั้งญาติ เพื่อน และเป็นเมืองที่เธอคุ้นเคยเป็นอย่างดี

เริ่มสังเกต จนรู้ว่ามัน “มากกว่า” แค่อารมณ์เศร้า 
เธอเล่าว่าปกติก็จะไม่ค่อยได้สังเกตตัวเอง แค่รู้สึกว่าไม่มีความสุขกับชีวิตการทำงาน ก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นเรื่องของอาการป่วย จนอยู่มาวันหนึ่งน้องที่ทำงานบอกให้เธอลองสังเกตตัวเองดู “น้องบอกให้เราส่องกระจกแล้วมองตัวเอง รอยยิ้มที่สดใสของเราหายไป ดวงตาเศร้าตลอดเวลา จนเขาบอกว่านี่ไม่ใช่ดาด้าที่เขารู้จักเลย พี่ที่ทำงานเลยจัดการนัดคุณหมอให้” และเมื่อได้พบคุณหมอ เธอก็เล่าถึงสิ่งต่างๆ ความรู้สึก รวมถึงสิ่งที่กดดัน จนสุดท้ายคุณหมอลงความเห็นว่าเธอป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า”  

พอรู้ตัว...ก็รีบหาทางแก้ให้เร็วที่สุด
“พบแพทย์ครั้งแรกเดือนกรกฏาคม 2559 พอเล่าความรู้สึกให้หมอฟัง หมอก็พูดตรงกับสิ่งที่เราเป็น คือเรารู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง ซึ่งเรารู้สึกแบบนั้นจริงๆ มันรู้สึก lost เป็นความรู้สึกว่าไม่ได้รับความสำคัญ ซึ่งเราอาจจะคิดไปเองส่วนนึง มันปนกันหลายเรื่อง” คุณหมอวินิจฉัยในกรณีของเธอว่าเป็นภาวะความเศร้าทางอารมณ์ ซึ่งยังอยู่ในระดับที่น้อย กินยาแค่ตัวเดียว แต่ต้องกินทุกวัน “หมอบอกว่ายาจะช่วยทำให้เรามีความสุขขึ้น ไม่คิดฟุ้งซ่าน แต่เราก็ยังโชคดีที่กินยาตัวเดียวแล้วเจอยาที่ถูกกันเลย เพราะบางคนต้องลองไปเรื่อยๆ ยิ่งกินยิ่งแย่ก็มี” พอย้ายมาอยู่เชียงใหม่ คุณหมอก็นัดเดือนละครั้ง จนล่าสุดคุณหมอให้หยุดยา ซึ่งรวมแล้วเป็นระยะเวลาในการรักษานานประมาณ 11 เดือน กินยาทั้งหมด 6 เดือน


ระหว่างไปทำงานกับศูนย์บริบาลช้างที่เคนยา
การไปพบแพทย์...ไม่ใช่เรื่อง “น่ากลัว”
สำหรับใครที่ยังไม่กล้าที่จะไปปรึกษาหมอ ฟังเธอเล่าแล้วอาจต้องคิดใหม่ “การไปหาหมอทำให้เราเห็นว่ามีคนไปปรึกษาแพทย์เยอะมาก บางคนหน้าป่วยมาก แต่บางคนก็สีหน้าปกติ บางคนไปคุยเรื่องความเครียดหรือภาวะบางอย่างที่จัดการไม่ได้ ต้องการหาทางออก” เธอเสริมว่า “หมอเป็นเหมือนเพื่อนเราอีกคน ให้ทั้งคำปรึกษาให้ทั้งยารักษา เขาจะรู้ว่ายาอะไรสามารถช่วยจัดการความคิดบางอย่างได้ อย่างเราใช้ยาที่ช่วยให้มีความตื่นตัว ซึ่งจะเข้าไปทำปฎิกิริยากับสมองเพื่อให้เราคิดในทางที่ดี ไม่กลับไปคิดเรื่องแย่ๆ แต่ก็มีผลข้างเคียงของยา คือทำให้อ้วน อยากอาหาร”

เปลี่ยนสภาพแวดล้อม...ก็ช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้
เมื่อเธอตัดสินใจเปลี่ยนงาน ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ เธอก็มีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น ผ่อนคลายขึ้น มีความสุขขึ้นกว่าเดิมมาก “งานที่ทำอยู่ปัจจุบัน ก็ช่วยเยียวยาเรา ด้วยความที่ทำงานกับสัตว์ ทั้งช้าง หมา แมว ธรรมชาติ และความซื่อของสัตว์ ก็ทำให้เรามีความสุข ยิ้มได้ และเราก็มีโอกาสได้เดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศบ่อยๆ โลกเรากว้างขึ้น เห็นความสุข ความทุกข์ของคน ทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น”

“ครอบครัว” คืออีกหนึ่งกำลังใจสำคัญ
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอก้าวข้ามผ่านอุปสรรคมาได้อย่างแข็งแรง นั่นก็คือครอบครัว “แม้เขาจะไม่ค่อยเข้าใจภาวะของโรคนี้ แต่ก็รับฟังและให้กำลังใจ เราเลยไม่คิดมาก ทุกคนเข้าใจว่าเราไม่มีความสุขกับจุดที่ยืนอยู่ ก็ให้เดินออกมา เขาไม่อยากให้เราจมอยู่กับความทุกข์ ซึ่งตอนนั้นเราร้องไห้บ่อย อารมณ์แปรปรวน ไม่มีสมาธิกับการทำงาน รู้สึกไม่สนุก เบื่อ นอนหลับยากขึ้น”


ระหว่างเดินทางไปทำงานที่ซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา
“การกลับไปเป็นตัวเองอีกครั้ง” แม้จะยาก...แต่ต้องทำให้ได้
ก่อนหน้านี้การจะไปอธิบายให้คนเข้าใจโรคนี้มันอาจจะยาก และการที่จะกลับมาเป็นตัวเองให้ได้มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย “มันยากมากที่จะกลับมาเป็นตัวเองในแบบที่เราเคยเป็น คนที่รู้จักกันจะรู้ว่าตอนเรายิ้ม เรายิ้มทั้งหน้า แต่ตอนที่ป่วย ต่อให้หน้ายิ้ม ยังไงตาก็ดูเศร้า” ซึ่งเทคนิคที่เธอใช้ก็คือ การต้องปล่อยสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจออกมา ซึ่งมันอาจจะยาก แต่เธอบอกว่าต้องพยายามทำให้ได้ “บอกตัวเองเสมอว่าเราต้องมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อตัวเราเอง ต้องเอารอยยิ้มกลับคืนมาให้ได้” และหลังจากที่เธอกลับมาเป็นปกติ เธอก็ได้แง่คิดดีๆ อีกหนึ่งอย่างที่อยากจะแชร์ นั่นก็คือ “เราเปลี่ยนความคิด ความเข้าใจคนอื่นไมได้ เราแค่เปลี่ยนตัวเอง หรือมองทุกอย่างอย่างที่มันเป็น ก็แค่นั้นเอง”

สำหรับใครที่กำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่ มันอาจจะยากที่จะทำให้คนอื่นมองเข้ามาด้วยความเข้าใจ ซึ่งในจุดนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถให้คำปรึกษาให้เราคิดได้อย่างถูกต้อง และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องรักตัวเอง ให้กำลังใจตัวเองเยอะๆ เชื่อมั่นว่าจะสามารถก้าวผ่านอุปสรรคนี้และเอาชีวิตตัวเองกลับคืนมาให้ได้



 
-->