People Pleaser คืออะไร? ใจดีจนใจพัง แก้ได้ยังไงบ้าง
People Pleasing คืออะไร? People Pleasing คือการยอมคนเกินไป Say ‘YES’ กับทุกคำขอ แม้ตัวเองจะไม่สะดวกก็ตาม หรือพยายามทำให้คนอื่นพอใจเสมอ แต่ไม่เคยแคร์ความรู้สึกตัวเอง เพียงเพราะไม่อยากให้คนอื่นไม่ชอบ หรือพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

"ทำไมเราถึงยอมคนอื่น จนใจพัง?"
คนที่ปฏิเสธใครไม่เป็น “ยอม” เพราะกลัวการปฏิเสธ
การเริ่มต้นเป็น people pleaser อาจสะสมมาตั้งแต่เด็ก ที่ถูกเลี้ยงดูมาว่าต้อง ‘ทำดี’ เพื่อให้ได้รับความรัก หรือถ้าเด็กมีความต้องการเป็นของตัวเอง มักถูกมองข้ามและถูกเพิกเฉย
งานวิจัยจาก Sharma, S. (2019) ใน Indian Journal of Mental Health ระบุว่า คนที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ต้อง “ได้รับการยอมรับ” ถึงจะรู้สึกมีค่า เสี่ยงต่อภาวะเครียด วิตกกังวล และภาวะเหนื่อยล้าทางอารมณ์ (Emotional Burnout) — “ไม่ใช่เพราะอยากช่วย แต่กลัวคนไม่รักถ้าเราปฏิเสธ”
พฤติกรรม People-Pleasing หรือ Sociotropy — คนที่ต้องการการยอมรับทางสังคมสูงมาก
คนที่ใจดีเกินกับคนอื่นมากเกินไป จะรู้สึกไวต่อความเจ็บปวด และเสี่ยงสูงต่ออาการซึมเศร้าหากความสัมพันธ์ล้มเหลว คนกลุ่มนี้จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ เพราะกลัวว่าสังคมจะไม่ยอมรับ
พฤติกรรมนี้ส่งผลโดยตรงต่อการมองเห็น ‘คุณค่า’ ในตัวเอง และเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิตอย่างภาวะซึมเศร้าหรือความวิตกกังวล หรือโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น
โรคบุคลิกภาพแบบหลีกหนี (Avoidant Personality Disorder: AvPD)
ผู้เป็น AvPD จะรู้สึกเหมือนถูกกักขังด้วยความกลัว รู้สึกเก็บกด กลัวการตัดสิน พยายามหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตมาก เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของการเขินอาย อาการสำคัญคือ รู้สึกวิตกกังวลในสังคม กลัวการถูกวิพากษ์วิจารณ์และการปฏิเสธอย่างรุนแรง ขาดความมั่นใจ พยายามหลีกเลี่ยงการพบปะคนในสังคม รวมไปถึงความรู้สึกด้อยค่า
ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (Borderline Personality Disorder: BPD)
คนกลุ่มนี้มีอยู่ถึง 5.9% ในประชากรทั่วไป ซึ่งก็จะมีอาการเหล่านี้ เช่น กลัวการถูกทอดทิ้ง ยอมทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้แยกจาก มีพฤติกรรมเสี่ยงหรือหุนหันพลันแล่น อย่างการทำลายความสัมพันธ์ดีๆ ทำลายอนาคตตัวเอง ข่มขู่หรือมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองซ้ำๆ อารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่สมเหตุสมผล รู้สึกอ้างว้างตลอดเวลา
โรคบุคลิกภาพแบบพึ่งพาผู้อื่น (Dependent Personality Disorder: DPD)
คนกลุ่มนี้มักมีพฤติกรรมแบบ อะไรก็ได้ ตัดสินใจไม่ได้ ทำอะไรตามคนอื่นหมด โดยที่ไม่ตรงตามความต้องการของตัวเอง พฤติกรรมหลักๆ เช่น ยอมให้คนอื่นตัดสินเรื่องสำคัญในชีวิต เพราะกังวลเวลาต้องตัดสินใจในเรื่องอะไรยากๆ รวมไปถึงการพยายามหลีกเลี่ยงความเป็นผู้นำ เพราะตัวเองไม่อยากรับผิดชอบผลที่ตามมา ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นต่างจากคนอื่น ไม่มั่นใจในความคิดของตัวเอง เพราะกลัวคนไม่ยอมรับ
อาการพวกนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรมจากสมาชิกในครอบครัวหรือสารเคมีในสมอง การเลี้ยงดูของพ่อแม่ สภาพแวดล้อมที่กล่อมเกลา ความผิดหวังหรือประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก
การรักษาด้วยจิตบำบัด (Psychotherapy)
แนวทางการรักษาและดูแลตัวเอง มีหลากหลายวิธีในการปรับพฤติกรรมของผู้ที่เป็น People Pleaser อย่างเช่น
- Cognitive Behavioral Therapy: รูปแบบหนึ่งของการบำบัดด้วยการพูดคุยที่มุ่งเน้นการช่วยเปลี่ยนความคิดและความเชื่อแบบอัตโนมัติ
- Schema Therapy: ช่วยให้ผู้เข้ารับการบำบัดเข้าใจรูปแบบความคิดและพฤติกรรมที่เกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็ก เพื่อเปลี่ยนรูปแบบความคิดที่ไม่เหมาะสม
- Acceptance and Commitment Therapy: ฝึกยอมรับความรู้สึก ความคิดที่เกิดขึ้น โดยไม่พยายามกดมันไว้ พร้อมลงมือทำในสิ่งที่สำคัญกับคุณค่าของตัวเอง
เรายังสามารถหาแนวทางดูแลตัวเองร่วม (Self-Healing Techniques) อย่างการฝึก self-awareness ว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร หรือแค่กลัวว่าคนอื่นจะมองเราไม่ดี แล้วก็ฝึกการพูดอย่างตรงไปตรงมา ปฏิเสธคนอย่างไร โดยไม่มีคำว่า ‘ไม่’ เช่น “ขอบคุณที่ชวน แต่วันนี้ขอผ่านก่อนนะ” รวมไปถึงการเห็นใจตัวเอง ไม่โทษตัวเองที่เราปฏิเสธไป จัดการหาเวลาให้ตัวเองเป็นเรื่องจำเป็น อย่าง ‘เวลาที่เราอยากอยู่เงียบๆ’ ‘เวลาที่เราไม่ต้องพยายามเป็นคนดีของใคร’
บางที… เราอาจเคยคิดว่าการเป็น “คนที่ทุกคนพอใจ” คือสิ่งที่ทำให้เรามีคุณค่า แต่ความจริงคือ คุณไม่จำเป็นต้องยกใจให้ทุกคน คุณมีสิทธิ์พัก มีสิทธิ์ปฏิเสธ และคุณมีสิทธิ์เลือก "ตัวเอง" ได้โดยไม่ต้องขอโทษใคร ค่อยๆ เรียนรู้ที่จะเป็น “คนที่แคร์ตัวเอง” เหมือนที่เคยพยายามเป็นคนที่คนอื่นรักมาตลอด
ที่มา:
Indian Journal of Mental Health
Psychology Today