3 เทคนิคพิชิตความสัมพันธ์ Toxic กับคนในครอบครัว

ไม่ใช่ทุกสถานที่จะเป็นเซฟโซนให้เราได้เสมอไป และความสวยงามของความสัมพันธ์ในครอบครัวของแต่ละคน และถ้าเราต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายเช่นนี้ เราจะรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างไร?



ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์แบบครอบครัว
ความสัมพันธ์ไม่ว่าในรูปแบบไหนก็ย่อมมีเรื่องราวที่ดีและไม่ดีอยู่บ้าง ซึ่งแน่นอนว่าเราคงไม่อยากเป็นครอบครัวแบบเลือดข้นคนจางหรอก จริงมั้ย? ถ้าใครเคยได้ดูละครแนวความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ทั้งละครและซีรีส์ต่างๆ มักจะเผยมุมมองของครอบครัวแต่ละบ้าน ที่มีนิสัยใจคอที่แตกต่างกันออกไป ยิ่งครอบครัวใหญ่ มีเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยวข้องก็จะยิ่งหนักเลย แต่ถ้าเป็นสเกลครอบครัวที่ไม่ได้ใหญ่มาก ก็มักจะมีปัญหากันในเรื่องอื่นๆ เช่น ความคิดเห็นไม่ตรงกัน อุปนิสัยของแต่ละคนที่ต่างกัน ความบกพร่องในหน้าที่ของตนเอง ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในบ้าน หรืออาจรุนแรงถึงขั้นมีปากเสียง ไปจนถึงใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่เรามักเห็นกันอยู่บ่อยๆ ปัญหาทั้งหมดนี้จึงทำให้หลายๆ คน มองว่าครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน และทำให้หลายๆ คนเลิกศรัทธาครอบครัวตัวเองไปเลย

Toxic มากๆ อาจนำไปสู่ ปัญหาสุขภาพจิต
แม้ว่าปัญหาภายในครอบครัว จะทำให้เราเป็นคนที่ดูไม่ดีในสายตาของคนในบ้าน และจริงอยู่ว่าความกตัญญูเป็นสิ่งดี แต่คงต้องมาพร้อมกับความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเช่นกัน โดยเฉพาะการแสดงออกด้วยคำพูด สีหน้า แววตา และการแสดงความคิดเห็น เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ ที่อาจทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวนั้นต้องเปลี่ยนไป และนี่อาจเป็นพฤติกรรมที่หลายครอบครัวอาจทำไปด้วยความเคยชินจนกลายเป็นความ Toxic ในที่สุด
 
  • คาดหวังมากเกินไป พ่อแม่บางคนมีความคาดหวังในตัวลูกสูงมาก จนบางครั้งอาจส่งผลต่อความรู้สึกและสภาพจิตใจของลูกได้ เช่น ต้องสอบให้ได้ที่ 1 หรือคาดหวังให้ติดมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ถึงแม้ว่าเราจะสามารถสร้างความฝัน หรือกำลังเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก แต่ทุกสิ่งควรต้องอยู่ในความเหมาะสมและไม่สร้างความกดดันมากจนเกินไป
  • กีดกันทุกความฝัน  ข้อนี้เรามักเจอกันอยู่บ่อยๆ มีเด็กๆ หลายคนที่มีความฝันที่อยากจะเรียนและเข้าคณะที่ตัวเองชอบ แต่อาจจะโดนกีดกันโดยพ่อและแม่ ซึ่งอาจจะเป็นการข่มขู่ด้วยวาจา วิพากษ์วิจารณ์จนทำให้ลูกรู้สึกแย่ หรืออาจจะละเลยการดูแล เอาใจใส่ ในฐานะที่เป็นพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูลูก ซึ่งการกระทำทั้งหมดอาจนำไปสู่ภาวะเครียดสะสมและอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าได้เลย
  • ไม่ให้อิสระ มีหลายๆ ครอบครัวที่นอกจากจะไม่ให้อิสระทางความคิดแล้ว ยังไม่ให้อิสระทางการแสดงออกอีกต่างหาก เด็กๆ บางคนได้รับโอกาสในการแสดงออกและเป็นตัวเอง เมื่อได้รับโอกาส แต่หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ก็แทบจะเป็นเหมือนการตัดโอกาสไปโดยปริยาย สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เด็กเกิดความกดดัน รู้สึกว่าทำอะไรก็ไม่ดีเพราะไม่มีคนสนับสนุนเขา สุดท้ายเขาอาจจะเป็นคนเก็บตัวเงียบ และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ลำบากมากขึ้นไปอีก
  • ใช้คำพูดไม่ดี พ่อแม่บางคนเลี้ยงลูกแบบฮาร์ดคอร์ ใช้คำพูดที่รุนแรงและไม่เหมาะสม เยาะเย้ย ดูหมิ่น เหยียดหยาม ซึ่งเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมที่ไม่ดีกับลูกแล้ว ยังส่งผลทำให้เกิดความเครียดและรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า



แชร์ 3 เทคนิค ถ้าไม่อยากเป็นครอบครัวที่ Toxic
หากเราอยากให้ลูกของเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เราในฐานะของผู้ปกครอง ควรจะให้ความสำคัญกับการดูแลและเอาใจใส่ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง

1. รับฟังและเปิดใจกว้าง เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้ปัญหาต่างๆ นั้นคลี่คลายลง คงไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราจะเข้าใจและยอมรับได้ แต่การเปิดโอกาสให้กับเรื่องราวต่างๆ ช่วยทำให้สถานการณ์นั้นดีขึ้นได้ ถ้าเราได้ให้โอกาสเขาได้ลองทำ ได้มีประสบการณ์ ถึงแม้ว่าจะดีหรือไม่ดีก็ตาม แต่เราในฐานะผู้สนับสนุน เราสามารถอยู่เคียงข้างทุกความล้มเหลวและทุกความสำเร็จนั้นได้

2. ไม่ใช้อารมณ์เพื่อเอาชนะกัน สิ่งที่ดีที่สุดของเรื่องนี้คือ ลดการปะทะ ทั้งด้วยคำพูดว่าร้าย หรือการทำร้ายร่างกาย ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับทุกเรื่อง ถ้าเราใจเย็นและคุยกับลูกด้วยเหตุและผล ปัญหาทุกอย่างก็จะได้รับการแก้ไขและทางออกของปัญหาก็จะได้รับการแก้ไขอย่างที่ควรจะเป็น

3. เวลาคือสิ่งที่สำคัญ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การให้โอกาสและเวลาจะทำให้เขาได้มีโอกาสได้พิสูจน์ตัวเอง แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ช่วยเพิ่มความมั่นใจและทำให้ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญกับเรื่องของเวลา ซึ่งถือเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน เช่น หาเวลาว่างในการกินข้าวร่วมกัน หาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ปล่อยใจชิลๆ แบบพร้อมหน้าพร้อมตา ก็ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นได้ไม่น้อยเลย

ลองมองมุมกลับสลับมุมมอง รับรองว่าวิธีการนี้จะช่วยรับมือทุกปัญหาและอุปสรรคของครอบครัวคุณได้อย่างแน่นอน ❤️❤️❤️
-->